“ฮาร์วีย์ มิลค์” นักการเมืองเกย์อเมริกันคนแรก ถูกชุบชีวิตในภาพยนตร์ “MILK”

“ฮาร์วีย์ มิลค์” นักการเมืองเกย์อเมริกันคนแรก ถูกชุบชีวิตในภาพยนตร์ “MILK”

เมื่อการต่อสู้ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค 70’s จากจุดเริ่มเล็กๆ ที่ซานฟรานซิสโก ส่งผลมาสู่การต่อสู่ในปัจจุบันจากนักการเมืองคนหนึ่งที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เกย์เป็นที่ยอมรับในสังคม

“My name is Harvey Milk and I’m here to include you. I want to include to fight for your democracy, brother and sister you must come out!”

นี่เป็นการจับไมค์ปราศรัยครั้งสุดท้ายของ “ฮาร์วีย์ มิลค์” (Harvey Milk) ที่แสดงโดย ฌอน เพนน์ นักแสดงชื่อดังมากฝีมือแห่งวงการฮอลลีวู้ด

โดยการปราศรัยครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 1978 เกิดขึ้นหลังการเดินพาเหรดเกย์ครั้งใหญ่ ซึ่งก่อนที่ ฮาร์วีย์ มิลค์ จะขึ้นปราศรัยเขาได้รับจดหมายข่มขู่ว่า หากขึ้นจับไมค์ปราศรัยจะต้องถูกลอบสังหารแน่นอน

แต่เขาเองก็ไม่สนใจพร้อมกับให้เหตุผลว่า “ประชาชนรอผมอยู่” ท่อนหนึ่งจากการปราศรัยที่ยกมาข้างต้นนั้นมีใจความว่า “สวัสดี ผมชื่อ ฮาร์วีย์ มิลค์ และผมอยู่ตรงนี้เพื่อให้ขอพวกคุณมาเป็นส่วนเดียวกัน ผมต้องการพลังให้พวกคุณต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพวกคุณเอง พี่น้องทั้งชายและหญิง พวกคุณต้องเปิดเผยตัวตนออกมา!”

ก่อนจะรับเสียงเฮลั่นหน้าสภาเมืองซานฟรานซิสโก และมีธงสีรุ้งขนาดยักษ์ถูกปล่อยลงมา

“ฮาร์วีย์ มิลค์” นักการเมืองเกย์อเมริกันคนแรก ถูกชุบชีวิตในภาพยนตร์ “MILK” ภาพ ฮาร์วีย์ มิลค์ (แสดงโดย ฌอน เพนน์) ที่กำลังเดินพาเหรดก่อนขึ้นปราศรัย

ย้อนกลับมาที่ปัจจุบันอาจจะยังมีบางคนที่ไม่รู้จักชื่อของ “ฮาร์วีย์ มิลค์” หรืออาจจะเคยได้ยินมาผ่านๆ ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าคนคนนี้คือบุคคลยุคแรกๆ หรือถ้านับย้อนไปก็คือในช่วงยุค 70’s คือ นักการเมืองชาวอเมริกันคนแรกที่เปิดเผยว่าเขาเป็นเกย์ตั้งแต่ก่อนจะเข้าสู่วงการการเมือง

นอกจากนั้นเขายังเป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวในการเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิเกย์ ทั้งในเรื่องสิทธิในการประกอบอาชีพ และสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย เรื่องราวเหล่านี้อาจเลือนหายไปตามการเวลา

แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อในปี 2008 มีภาพยนตร์ชีวประวัติของ ฮาร์วีย์ มิลค์ เข้าฉายนั่นก็คือ “MILK ผู้ชายฉาวโลก” แสดงโดย ฌอน เพนน์ และพาให้ภาพยนตร์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 8 สาขา ซึ่งรวมถึงเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย แต่ชนะรางวัลทั้งหมด 2 สาขา ได้แก่ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ในบทบาทนำของเพนน์ และสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม 

ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนการชุบชีวิตของ “ฮาร์วีย์ มิลค์” ขึ้นมาอีกครั้งให้กลับมาโลดแล่นอยู่บนจอภาพยนตร์ หรือเรียกได้ว่าทำให้ ฮาร์วีย์ มิลค์ กลับมามีชีวิตอีกครั้งเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่า

การมีอยู่ของกลุ่ม LGBTQ+ มีการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิ์ต่างๆ มาตั้งแต่ในอดีตและยังเป็นมรดกการต่อสู้ที่หลงเหลือมาสู่กลุ่มคนรุ่นหลังให้มีแรงสู้ต่อไปจนกว่าเราจะได้รับในสิทธิ์ที่เราควรได้

ภาพยนตร์เปิดด้วยภาพของ ฮาร์วีย์ มิลค์ กำลังนั่งบันทึกเสียงตัวเองใส่เทปคาสเซตโดยการเริ่มต้นว่า “สวัสดี ผมฮาร์วีย์ มิลค์ หากคุณได้ยินข้อความเหล่านี้เป็นไปได้ว่าผมอาจเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารไปแล้ว..”

ก่อนที่ภาพจะตัดไปในช่วงนี้ฮาร์วีย์ยังเป็นพนักงานบริษัทและได้พบกับคนรักของเขา “สก๊อต” เป็นครั้งแรก ซึ่งนี่ก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาทั้งคู่ออกเดินทางไปยังซานฟรานซิสโกเริ่มเปิดร้านเพื่อทำธุรกิจขายกล้องเล็กๆ เป็นของตัวเอง

เมื่อคิดภาพตามแล้วก็คงจะเป็นภาพการเริ่มต้นของชีวิตคู่ที่มีความสุข แต่ในตอนนั้นกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เนื่องจากคนที่เป็นเกย์ (ในยุคนั้นยังไม่มีคำว่า LGBTQ+) จำเป็นจะต้องปิดบังตัวตน หรือพบปะสังสรรค์กันได้แค่ในสถานที่ที่เป็นความลับเท่านั้น

เนื่องจากหากตำรวจรู้ว่าคุณเป็นเกย์ ไม่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ คุณอาจจะถูกทำร้ายร่างกายอย่างสาหัส หรือ หายตัวไปอย่างลึกลับโดยที่ไม่มีใครรู้ นั่นเพียงเพราะ คุณเป็นเกย์

ฮาร์วีย์กับสก๊อตใช้ชีวิตปกติเรื่อยมาจนกระทั่งร้านของพวกเขาเริ่มเป็นที่รู้จักของกลุ่มเกย์ในย่านนั้นและทำให้มีการรวมตัวกันเกิดขึ้น ประกอบกับในช่วงนั้นมีข่าวการกวาดล้างเกย์ด้วยความรุนแรง มีนักการเมืองที่พยายามจะพรากสิทธิมนุษยชนไปจากพวกเขา

จึงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้ฮาร์วีย์ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาต้องเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องกลุ่มคนเหล่านี้หรือที่ฮาร์วีย์เรียกว่า “ชาวเรา” และต่อมาเขาได้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้ถึง 3 ครั้ง

แต่ในที่สุดความพยายามก็สัมฤทธิ์ผล จากแรงโหวตของชาวเราและกลุ่มสนับสนุนอื่นๆ ส่งให้เขาได้เข้าไปนั่งในสภาเมืองในฐานะ “ซุปเปอร์ไวเซอร์” หรือที่ปรึกษาสภาเมือง และไม่ใช่เพียงแค่นั่งอยู่ในห้องอย่างเดียว งานด้านการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศเขาก็ยังคงทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเดินขบวน การออกไปไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจด้วยตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดการจลาจล

“ฮาร์วีย์ มิลค์” นักการเมืองเกย์อเมริกันคนแรก ถูกชุบชีวิตในภาพยนตร์ “MILK” ภาพการชุมนุมของผู้สนับสนับฮาร์วีย์ มิลค์ จากภาพยนตร์ MILK

และที่สำคัญเขาสามารถต่อรองทางการเมืองกับบุคคลหลายฝ่ายจนทำให้ “กฎหมายคุ้มครองสิทธิเกย์” ผ่านในที่สุดก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงจากการลอบยิง

  • รู้จักกับ ฮาร์วีย์ เบอร์นาร์ด มิลค์

นักการเมืองชาวอเมริกันคนแรกที่เปิดเผยว่าเป็นเกย์ เกิดและโตที่นิวยอร์กแต่ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ซานฟรานซิสโกเปิดร้านขายกล้องถ่ายรูปในย่านแคสโตร กับแฟนหนุ่มสกอตต์ สมิธ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1970

หลังจากนั้นลงสมัครชิงเก้าอี้สภาที่ปรึกษาของเมืองและตำแหน่งทางการเมืองอื่นอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนในปี 1977 เขาได้รับเลือกให้เข้าไปนั่งในสภาที่ปรึกษาแห่งซานฟรานซิสโก ทำให้เขาสามารถออกกฎหมายที่ปกป้องสิทธิของเกย์ได้ในที่สุด

แต่เมื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาได้ไม่นาน เขากลับมีเรื่องบาดหมางกับแดน ไวท์คู่แข่งทางการเมืองที่เกลียดเกย์เข้าไส้ ทำให้ฮาร์วีย์ถูกแดนยิงในระยะเผาขนจนเสียชีวิตในเวลาใกล้เคียงกับนายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโก วิกเตอร์ การ์เบอร์ หลังจากฮาร์วีย์เสียชีวิตได้มีการจุดเทียนเดินขบวนเพื่อไว้อาลัยก่อนที่จะนำเถ้ากระดูกของเขาทิ้งลงแม่น้ำเพื่อให้เขาไปสู่อิสระ

“ฮาร์วีย์ มิลค์” นักการเมืองเกย์อเมริกันคนแรก ถูกชุบชีวิตในภาพยนตร์ “MILK”

ภาพ ฮาร์วีย์ มิลค์ จาก DAZED

  • มรดกทางความหลากหลายที่ ฮาร์วีย์ มิลค์ ฝากไว้

หลังจากที่เขาเสียชีวิต สกอตต์ สมิธ ก็รับหน้าที่ต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของ “ชาวเรา” มาโดยตลอด และกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมเป็นชาวเราในร้านขายกล้องของฮาร์วีย์ก็เริ่มมีการเติบโตแตกต่างกันไปในหลายสายอาชีพ เช่น ช่างภาพสารคดี นักธุรกิจ นักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้า

แต่ที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นก็คือ การที่ฮาร์วีย์ประกาศให้ชาวอเมริกาและคนทั้งโลกได้รู้ว่า การที่เป็นเกย์นั้นไม่ต่างอะไรกับชายและหญิง พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ

รวมถึงการที่คนเป็นเกย์นั้นไม่ใช่ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดจากศาสนาใดศาสนาหนึ่ง พวกเขาเป็นคนปกติที่มีรสนิยมทางเพศในอีกแนวทางหนึ่งเท่านั้น ทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ต้องได้รับการปฏิบัติและการดูแลจากภาครัฐเหมือนกันในคนทุกเพศ

ในภาพยนตร์จะเห็นอยู่บ่อยครั้งเมื่อเขาขึ้นปราศรัย เขาจะกล่าวถึงคนรุ่นหลังเสมอเพราะการต่อสู้ในยุคนั้นจะส่งผลให้คนรุ่นหลังมีชีวิตที่เท่าเทียมกันมากขึ้น กล้าที่จะเปิดเผยตัวตนมากขึ้น จนในปัจจุบันเราได้เห็น LGBTQ+ หลายคนที่เปิดเผยตัวตนอย่างภาคภูมิใจ บางคนมีอาชีพการงานที่มั่นคงและกลายเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว

เราได้เห็นการเดินพาเหรดเนื่องในโอกาสเดือน “Pride Month” หรือ เดือน มิ.ย. ของทุกปี ของเหล่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างสร้างสรรค์และอลังการในหลากหลายประเทศทั่วโลก

สุดท้ายแล้วความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ กลุ่มคนรุ่นหลังหรือลูกหลานของเราจะได้รับสิทธิเหล่านี้เท่าเทียมกับเพศชายและเพศหญิงหรือไม่ และที่สำคัญสำหรับประเทศไทย การสมรสระหว่างบุคคลและบุคคลจะเกิดขึ้นจริงในเร็ววันนี้หรือไม่ เพราะตั้งแต่ช่วงปี 1970 มาจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 50 ทศวรรษ ยังมีอีกหลายข้อเรียกร้องของ LGBTQ+ ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจ

อ้างอิง : The MATTER, SPRING, THAIPUBLICA, DAZED, HISTORY