จาก "ทุ่นสึนามิ" ชวนรู้จักระบบเตือนภัย "สึนามิ" ในไทยพร้อมวิธีเอาตัวรอด

จาก "ทุ่นสึนามิ" ชวนรู้จักระบบเตือนภัย "สึนามิ" ในไทยพร้อมวิธีเอาตัวรอด

คนไทยระทึก! ภูเก็ตอาจเสี่ยงเจอ "สึนามิ" เมื่อพบว่า "ทุ่นสึนามิ" ของไทยไม่ส่งสัญญาณ แต่ล่าสุด ปภ. ชี้แจงแล้วว่าระบบเตือนภัยอื่นๆ ยังทำงานได้ปกติ ชวนรู้จักระบบเตือนภัยสึนามิของไทย พร้อมส่องวิธีเอาตัวรอดจากคลื่นยักษ์

ทำเอาคนไทยใจระทึกไปตามๆ กัน เมื่อมีรายงานข่าวว่า "ทุ่นสึนามิ" ของไทยจอดับ "ไม่ส่งสัญญาณ" ขณะที่ในระยะเวลา 2 วันมานี้ (5 - 6 ก.ค. 65) พบรายงาน "แผ่นดินไหว" บ่อยถึง 33 ครั้ง ( อัปเดตเมื่อ 06/07/2022 เวลา 15:01) และอาจเกิด "สึนามิ" ได้ โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ชายฝั่งหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 570 กิโลเมตร 

ล่าสุด.. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ออกมาชี้แจงแล้วว่า กรณี "ทุ่นสึนามิ" ของประเทศไทยหลุดออกจากตำแหน่งหรือ “ไม่ส่งสัญญาณ” นั้น มีผลทำให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) และ ปภ. ไม่ได้รับข้อมูลโดยตรงจากทุ่นสึนามิของไทย แต่ยังมีระบบแจ้งเตือนภัยสึนามิอื่นๆ ของไทยที่ทำงานได้ปกติ หากมีสัญญาณอันตรายใดๆ สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ 

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจาก "ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.ภูเก็ต (ภาคประชาชน)" ระบุว่า ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะหมู่บ้านที่ใกล้ริมทะเล ควรฝึกซ้อมการอพยพ เฝ้าระวัง ติดตามข่าวสารและประกาศจากภาครัฐตลอดเวลา หากมีประกาศเกิดเหตุสึนามิให้อพยพทันที ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับคลื่นสึนามิ พื้นที่เสี่ยง ระบบเตือนภัย และวิธีเอาตัวรอดจากคลื่นยักษ์ มาฝากกันดังนี้ 

จาก \"ทุ่นสึนามิ\" ชวนรู้จักระบบเตือนภัย \"สึนามิ\" ในไทยพร้อมวิธีเอาตัวรอด

1. "สึนามิ" เกิดจากอะไร? ล่าสุด! พื้นที่เสี่ยงที่ไหนบ้าง?

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้ข้อมูลว่า สึนามิ (Tsunami) คือ คลื่นยักษ์ในทะเล โดยเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อนในลักษณะแนวดิ่ง, เกิดจากภูเขาไฟระเบิดใต้ทะเล, เกิดจากดินถล่มในทะเล ทั้งนี้ การเกิดสึนามิในประเทศไทยส่วนใหญ่ มักเกิดจากแผ่นดินไหวตามรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดีย

สำหรับพื้นที่เสี่ยงของไทยที่อาจเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ คือ พื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามัน รวม 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ครอบคลุมพื้นที่ 27 อำเภอ 102 ตำบล 509 หมู่บ้าน

 

2. แม้ "ทุ่นสึนามิ" ไม่ส่งสัญญาณ แต่ระบบแจ้งเตือนอื่นๆ ยังใช้ได้

จากกรณี ทุ่นสึนามิ ของประเทศไทยหลุดออกจากตำแหน่งหรือ “ไม่ส่งสัญญาณ” นั้น มีผลทำให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่ได้รับข้อมูลโดยตรงจากทุ่นสึนามิของไทย แต่ระบบการเฝ้าระวังและจุดแจ้งเตือนภัยสึนามิอื่นๆ ของไทยยังคงดำเนินการได้ดีปกติ ได้แก่ 

  • หน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา รับแจ้งเตือนภัยสึนามิทั่วโลก (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA)
  • สถานีวัดระดับน้ำทะเลจากนานาชาติ (The Intergovermental Oceanographic Commission : IOD) เช่น สถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย
  • สถานีวัดระดับน้ำทะเลเกาะเมียง จังหวัดพังงา ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ 
  • สถานีวัดระดับน้ำทะเลเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของ ปภ.

ข้อมูลทั้งหมดนี้ จะนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์กับแบบจำลองการเกิดคลื่นสินามิของประเทศไทยที่ได้ออกแบบไว้ล่วงหน้า เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสึนามิ โดยแสดงข้อมูลเชิงลึกได้ถึงพื้นที่เสี่ยง ช่วงเวลาในการเกิดคลื่นสึนามิ และความเร็วของคลื่นที่จะเข้าสู่ฝั่ง (ข้อมูลจากทุ่นสึนามิเป็นเพียงหนึ่งในข้อมูลที่นำมาประมวลผลเท่านั้น) 

จาก \"ทุ่นสึนามิ\" ชวนรู้จักระบบเตือนภัย \"สึนามิ\" ในไทยพร้อมวิธีเอาตัวรอด

3. "ทุ่นสึนามิ" ทำงานอย่างไร?

ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิที่ประเทศไทยใช้นั้น เป็นระบบที่ออกแบบโดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตามเฝ้าระวังการเกิดคลื่นสึนามิ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

  • ทุ่นลอยบนผิวน้ำ (Surface Buoy) ติดตั้งแบบลอยอยู่บนผิวน้ำกลางมหาสมุทร
  • ชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล (Bottom Pressure Recorder : BPR) ติดตั้งลึกลงไปใต้ท้องมหาสมุทรประมาณ 2,500 - 3,600 เมตร

หลักการทำงานของทั้ง 2 อุปกรณ์คือ ชุดวัดความดันใต้ท้องทะเลจะทำหน้าที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของความดันน้ำ และส่งข้อมูลไปยังทุ่นลอยบนผิวน้ำ พร้อมส่งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำผ่านสัญญาณดาวเทียมไปยัง NOAA และหาก NOAA ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นคลื่นสึนามิก็จะแจ้งเตือนมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทันที 

4. ระบบแจ้งเตือนสึนามิไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย ทำอย่างไร?

เมื่อได้รับข้อมูลการเกิดคลื่นสึนามิที่แน่ชัดแล้ว ระบบเตือนภัยจะทำการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัยและอุปกรณ์เตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 226 แห่ง

รวมถึงส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังหน่วยงานราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เพื่อให้ทำการแจ้งเตือนและส่งข่าวสารไปยังประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือ และอพยพประชาชนตามแผนเผชิญเหตุ

5. วิธีเอาตัวรอดจากคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ประชาชนต้องรู้!

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แนะนำข้อมูลเพิ่มเติมว่า คลื่นยักษ์สึนามิอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า และมักจะไม่เกิดเพียงระลอกเดียว แต่จะเกิดขึ้นได้หลายระลอกคลื่น และคลื่นลูกหลังอาจใหญ่กว่าคลื่นลูกแรก จุดสังเกตคือ น้ำทะเลลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ ให้คาดว่าอาจเกิดสึนามิ

หากมีข่าวสารแจ้งเหตุแผ่นดินไหวที่เสี่ยงต่อการเกิดสึนามิ ควรปฏิบัติดังนี้

  • ทางการควรจัดทำแผนอพยพ และให้ประชาชนซ้อมอพยพหนีภัย
  • ทางการหาพื้นที่หลบภัยสึนามิเตรียมไว้ ควรเลือกพื้นที่ที่สูง
  • ตรวจสอบว่าที่พักของตนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสึนามิหรือไม่
  • เช็กป้ายสัญญาณเตือนภัยสึนามิ และศึกษาเส้นทางอพยพ
  • ช่วงเฝ้าระวังหรือมีประกาศเตือนภัยสึนามิ ห้ามลงทะเล ห้ามอยู่บริเวณชายหาด
  • เตรียมอุปกรณ์ชุดยังชีพเพื่อพร้อมอพยพหนีภัย
  • ควรมีวิทยุแบบใช้แบตเตอรี่เพื่อฟังข่าว
  • หากคาดว่าจะเกิดสึนามิ ให้หนีออกจากบริเวณชายฝั่งโดยทันที ไปให้ไกลจากฝั่งที่สุด หาพื้นที่สูงเอาไว้
  • เรือให้ออกจากฝั่งสู่ทะเลลึก
  • ให้ความช่วยเหลือ เด็ก คนชรา คนพิการ ผู้ที่อ่อนแอกว่า 
  • ควรหนีภัยด้วยการเดินเท้า เพื่อหลีกเลี่ยงกาตจราจรติดขัด 

----------------------------------------

อ้างอิง : กรมป้องกันภัยฯ (ปภ.), ศูนย์เฝ้าระวังฯ แผ่นดินไหวภูเก็ต (ภาคประชาชน), ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติmitrearth.org