35 ปี “Never Gonna Give You Up” เพลงดังที่กลายเป็นมีมดังดักควาย

35 ปี “Never Gonna Give You Up” เพลงดังที่กลายเป็นมีมดังดักควาย

ครบรอบ 35 ปี เพลง “Never Gonna Give You Up” เพลงดังยุค 80 ของ “Rick Astley” ที่ถูกใช้เป็น “มีม” ฮิตระดับโลก ตั้งแต่ “Youtube” เริ่มเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบัน

ถ้าหากคุณกำลังตั้งใจจดจ่อดูคลิปอะไรบางอย่างที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงจุดสำคัญของเรื่อง แต่อยู่ ๆ ภาพก็ตัด เปลี่ยนเป็นผู้ชายวัย 20 กว่า ๆ กำลังเต้นพร้อมกับอินโทรเพลงแดนซ์ โปรดรู้ไว้ว่าคุณกำลัง “Rickrolling” มีมดังในตำนานดักเข้าให้แล้ว

Rickrolling” เป็นชื่อเรียกมีมประเภทหลอกให้ดูแล้วเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น (bait and switch) ซึ่งมักจะเริ่มด้วยวิดีโอที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสื่อบันเทิง ภาพวิวทิวทัศน์ คลิปเหตุการณ์ หรือคลิปอะไรก็ตาม เมื่อผู้ชมตั้งใจชมวิดีโอนั้น และเริ่มคาดหวังกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ภาพในวิดีโอก็เปลี่ยน กลายเป็นมิวสิควิดีโอเพลง “Never Gonna Give You Up” เพลงแจ้งเกิดของ “ริค แอสต์ลีย์” (Rick Astley) ทันที หรือที่เรียกว่า “มีมดักควาย

แม้แต่ตัวแอสต์ลีย์เองก็ยอมรับผ่านกระทู้ใน Reddit เว็บบอร์ดชื่อดังว่าเคยโดน Rickrolling ดักมาแล้วหลายรอบเช่นกัน

Rickrolling มีมดังยุคบุกเบิกอินเทอร์เน็ต

Rickrolling เกิดครั้งแรกใน 4Chan เว็บบอร์ดชื่อดัง ผู้ใช้รายหนึ่งของเว็บไซต์ได้ โพสต์ลิงก์ตัวอย่างแรกของ Grand Theft Auto IV เกมสุตฮิตที่ทุกคนรอคอย แต่ความจริงแล้วภายในนั้นกลับเป็นลิงก์ของมิวสิควิดีโอเพลง “Never Gonna Give You Up” ซึ่งมีคนถูกหลอกเป็นจำนวนมาก 

ต่อมาได้กลายเป็นที่นิยม ด้วยการเปลี่ยนชื่อลิงก์ที่ใช้หลอกไปเรื่อย ๆ แต่ที่จริงแล้วทุกลิงก์คือเพลงของแอสต์ลีย์เหมือนกันหมด โดยเฉพาะในวันเมษาหน้าโง่ (April Fool’s Day) ปี 2550 ที่มีมนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต และถูกเรียกว่า “Rickrolling” ซึ่งแผลงมาจาก “duck rolling” มีมดังรูปแบบเดียวกันในอดีต

35 ปี “Never Gonna Give You Up” เพลงดังที่กลายเป็นมีมดังดักควาย

ในปี 2551 Rickrolling กลายเป็นมีมที่ถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐ จากการสำรวจของ SurveyUSA บริษัทสำรวจความเห็นของสหรัฐได้ทำผลสำรวจในเดือน เม.ย. 2551 พบว่า มีผู้ใหญ่อย่างน้อย 18 ล้านคน ถูกหลอกให้กดมีม Rickrolling

นอกจากนี้ ในวันเมษาหน้าโง่ 2551 YouTube ในสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ได้ร่วมเล่น Rickrolling ด้วยเช่นกัน โดยไม่ว่าจะคลิกวิดีโอใดก็ตาม ทุกลิงก์ก็จะกลายเป็นมิวสิควิดีโอเพลง “Never Gonna Give You Up” ทั้งหมด ยิ่งทำให้ Rickrolling กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น 

หลังจากนั้นใน YouTube ก็เต็มไปด้วยคลิป Rickrolling

“ผมว่ามันเป็นเรื่องแปลก ๆ เรื่องหนึ่งในโลกอินเทอร์เน็ตที่ถูกหยิบยกขึ้นมา แล้วบังเอิญว่าคนส่วนใหญ่ดันชอบมัน นี่คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมของอินเทอร์เน็ต” แอสต์ลีย์ให้สัมภาษณ์กับ Los Angeles Times ในปี 2552

 

 Rickrolling มีมที่อยู่มาทุกยุค

ตามปกติแล้ว มีมที่ปรากฏในโลกอินเทอร์เน็ตมักจะผ่านมาแล้วก็ผ่านไปกลายเป็นกระแสเพียงไม่นาน แต่ ไม่ใช่สำหรับ Rickrolling แม้จะมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุค 4Chan ยังได้รับความนิยม แต่จนถึงปัจจุบันมีมนี้ก็ยังถูกนำมาใช้อยู่เรื่อย ๆ ทั้งใน YouTube และ TikTok

นอกจากนี้ การเรียนออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักเรียนทั่วโลกได้สร้างลิงก์ผ่านเว็บไซต์ InviteRick.com เพื่อแกล้งเพื่อนร่วมชั้นและอาจารย์ โดยหลอกว่าเป็นลิงก์เข้าระบบ Zoom แต่แท้จริงแล้วเป็นเพลง “Never Gonna Give You Up”

ในขณะที่วงการบันเทิง ก็ชอบนำ Rickrolling ไปใช้แกล้งผู้ชมอยู่บ่อย ๆ อย่างเช่น ช่วงโพสต์เครดิต (post-credit) ของภาพยนตร์ Ralph Breaks the Internet (2561) ที่มีบางฉากของ Frozen II มาฉายให้ชม (sneak peek) แต่อยู่ ๆ ภาพก็ตัดไป กลายเป็น ราล์ฟ ตัวละครเอก จาก Ralph Breaks the Internet ยืนร้องเพลง Never Gonna Give You Up และเต้นเหมือนกับแอสต์ลีย์แทน

แฟนเกม Pokemon Go เองก็โดน Rickrolling ตามหลอกหลอนด้วยเช่นกัน โดย Nintendo และ The Pokémon Company ผู้ผลิตเกม Pokemon Go ได้ประกาศกิจกรรม “Bidoff Day” ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 ซึ่งปล่อยคลิปตัวอย่างของกิจกรรมออกมาเรียกน้ำย่อย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นโปเกมอน Bidoff กำลังร้องเพลง Never Gonna Give You Up อยู่

ขณะที่ เกรตา ธุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ได้แกล้งบรรดาฟอลโลเวอร์ของเธอในวันเมษาหน้าโง่ปีที่แล้ว ด้วยการโพสต์ลิงก์ที่ระบุว่าเป็นคลิปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ “a climate-related video” แต่ความจริงแล้วเป็น มิวสิควิดีโอเพลง “Never Gonna Give You Up” 

 

Rickrolling มีมดังชุบชีวิต ริค แอสต์ลีย์

“Never Gonna Give You Up” ปล่อยออกมาครั้งแรกในปี 2530 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถขึ้นอันดับ 1 บน Billboard Hot 100 ชาร์ตเพลงฮิตของสหรัฐ รวมถึงขึ้นอันดับ 1 ในอีก 25 ประเทศทั่วโลก และได้รับรางวัล Brit Awards 1988 ในสาขาเพลงอังกฤษยอดเยี่ยม (Best British Single)

หลังจากนั้น แอสต์ลีย์ได้ออกอัลบั้มตามอีกหลายชุด​ ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ก่อนที่เข้าจะหยุดทำเพลงเพื่อใช้เวลากับครอบครัวให้มากยิ่งขึ้นในปี 2537 และกลับมาออกอัลบั้มให้ในปี 2544 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จดังเดิม จนกระทั่ง Rickrolling ได้เกิดขึ้น

ระหว่างการจัดงาน Macy's Thanksgiving Day Parade ขบวนพาเหรดวันขอบคุณพระเจ้าที่นิวยอร์ก สหรัฐ ในปี 2551 กำลังดำเนินไปด้วยดี แต่จู่ ๆ ทุกอย่างก็หยุดลง และมีเพลง Never Gonna Give You Up ดังแทรกขึ้น พร้อมการแสดงจากตัวละครจากการ์ตูนเรื่อง Foster's Home for Imaginary Friends ยิ่งทำให้ Rickrolling โด่งดังยิ่งขึ้น และเป็นจุดที่ทำให้แอสต์ลีย์ ยอมรับว่า Rickrolling ช่วยให้อาชีพของเขากลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เพราะหลังจากนั้น เขาได้รับเชิญไปออกรายการต่าง ๆ มากมาย

“ลูกสาวผมเคยพูดตอนเธออายุ 15-16 ว่า ‘พ่อรู้ไหม ที่มีมมันดังไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพ่อเลย’ ใช่ มันจริงนะ ผมยอมรับว่ามันดัง แต่ผมไม่ได้หลงระเริงไปกับผลประโยชน์ที่ได้รับ ผมรับเอาแต่ความสุขที่เกิดขึ้น เพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอของผม และผมขอขอบคุณจักรวาลและโลกอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เพลงผมดังขึ้นมา” แอสต์ลีย์ให้สัมภาษณ์กับ Newsweek เกี่ยวกับการกลับมาโด่งดังอีกครั้งของเพลงตัวเอง

ปัจจุบัน มิวสิควิดีโอ Never Gonna Give You Up มียอดเข้าชมใน YouTube มากกว่า 1 พันล้านครั้ง และมียอดสตรีมผ่าน Spotify มากกว่า 600 ล้านครั้ง ซึ่งมีเพลงจากยุค 80 ไม่กี่เพลงเท่านั้นที่ทำได้

ทุกวันนี้ แอสต์ลีย์ยังคงมีทัวร์ร่วมกับ วงบอยแบนด์ New Kids on the Block และยังคงเล่นเพลง Never Gonna Give You Up อยู่ตลอด เช่นเดียวกับมีม Rickrolling ที่ยังคงใช้ได้ผล และสร้างความสนุก (ปนเซ็งเล็กน้อย) ให้กับคนที่โดนดักเสมอ

แล้วคุณเคยโดน มีม Rickrolling ดักบ้างหรือเปล่า ?

 

ที่มา: LA Times, NerdistNewsweek, New York Post, Silicon Era, Tech Crunch