ดูหนังเรื่องไหนดีในเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง”
รีวิวฉบับย่นย่อ ประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกดูหนังเรื่องไหนดีในเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ที่ยังเหลืออีกหนังอีก 20 เรื่องให้เลือกชมกันภายในระยะ 3 สัปดาห์ที่เหลือของเดือนกรกฎาคม
ตลอดเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ กรุงเทพมหานครฯ ได้ร่วมมือกับ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สมาคมหนังกลางแปลง และชมรม Better Bangkok จัดเทศกาล "กรุงเทพกลางแปลง" ขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการมอบความบันเทิงให้กับประชาชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังไทย และอาชีพนักฉายหนังกลางแปลง ผ่านการฉายหนังกลางแปลงรวมทั้งสิ้น 26 เรื่อง กระจายออกไปตามจุดต่างๆ ทั้งในเขตชั้นใน และรอบนอกกรุงเทพมหานครฯ
ภาพยนตร์ทั้ง 26 เรื่องที่อยู่ในโปรแกรมฉายมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของเนื้อหา แนวภาพยนตร์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้เลือกดูหนังตามรสนิยมและความชอบส่วนบุคคล เราจึงได้เห็นทั้งหนังคลาสสิกอย่าง “แม่นาคพระโขนง” ปี 2502 ที่นำแสดงโดย ปรียา รุ่งเรือง หนังที่ได้ชื่อว่าเป็น “ฟิล์มนัวร์” เรื่องแรกของประเทศไทยอย่าง “แพรดำ” (2504) เรื่อยมาจนถึงหนังอินเดียฟอร์มยักษ์ที่เพิ่งออกฉายในปีนี้อย่าง RRR (2565) รวมไปถึงหนังฝรั่งเศส หนังญี่ปุ่น และหนังฝรั่งมาให้เลือกชมกันในเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ครั้งนี้
เท่านั้นไม่พอ ผู้จัดยังเลือกฉายหนังให้สอดคล้องกับสถานที่ที่นำไปจัดฉายด้วย เช่น นำเรื่อง “รักแห่งสยาม” และ “สยามสแควร์” ไปจัดฉายที่ Block I สยามสแควร์ เพราะเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องดังกล่าว หรือนำเรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ไปจัดฉายที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า
สำหรับ หนัง 20 เรื่องที่มีโปรแกรมฉายในอีก 3 สัปดาห์ที่เหลือของเดือนกรกฎาคมมีดังต่อไปนี้
- สัปดาห์ที่ 14-16 กรกฎาคม
RRR (2565)
(ฉายที่ศูนย์เยาวชนคลองเตย : พฤหัสบดี 14 กรกฎาคม)
หนังอินเดียที่เพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง แต่สามารถก้าวขึ้นไปครองตำแหน่งภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับ 3 ของอินเดียได้เรียบร้อยแล้ว แถมยังเป็นหนังที่มีต้นทุนสูงที่สุดของอินเดีย (72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อีกด้วย
RRR (Rise Roar Revolt) เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ เอส. เอส. ราจามูลี (S.S. Rajamouli) มีเนื้อหาย้อนยุคไปในปี ค.ศ. 1920 ที่อินเดียยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ กับเรื่องราวของ “ภีม” นักรบผู้เก่งกาจแห่งชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียที่เดินทางมายังเมืองหลวงเพื่อตามหาเด็กสาวในเผ่าที่ถูกชาวอังกฤษจับตัวมาเป็นทาสรับใช้
“ภีม” ได้พบกับ “ราม” และกลายเป็นเพื่อนรักกันโดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วอีกฝ่ายคือนายตำรวจทำงานรับใช้อังกฤษ และกำลังตามล่าตัวเองอยู่ ส่วนนางเอกของเรื่องคือ “อาเลีย บาตต์” ผู้โด่งดังมาจากภาพยนตร์เรื่อง “คังคุไบ” นั่นเอง
RRR เป็นหนังที่มีความยาวถึง 3 ชั่วโมง 6 นาที แต่ฉากแอคชั่นตระการตา สไตล์ระเบิดภูเขาเผากระท่อม แหกกฎฟิสิกส์ทุกอย่าง ทำให้ผู้ที่ได้รับชมมาแล้วบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณจะมันส์จนลืมเวลาไปเลย
มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)
(ฉายที่ศูนย์เยาวชนคลองเตย : ศุกร์ 15 กรกฎาคม)
เนื้อหาอ้างอิงจากวรรณกรรมขายดีของ วัฒน์ วรรลยางกูร แต่ถูกผู้กำกับ “เป็นเอก รัตนเรือง” จับมายำใหญ่กลายเป็นหนังหลากแนว ทั้งภาพยนตร์ตลก รักโรแมนติก สืบสวน รวมไปถึงภาพยนตร์เพลง มีการหยิบเพลงลูกทุ่งดังๆ สอดแทรกเข้าไปสร้างอารมณ์ และส่งเสริมเนื้อหาของเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น น้ำค้างเดือนหก, เป็นโสดทำไม, นักร้องบ้านนอก, นัดพบหน้าอำเภอ ฯลฯ
โดยเฉพาะเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ อย่างเพลง มอง, ลืมไม่ลง, อาทิตย์อุทัยรำลึก, บ้านนี้ฉันรัก เพราะตัวละคร “แผน” พระเอกของเรื่องที่นำแสดงโดย ต๊อก-ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ เป็นหนุ่มบ้านนอกที่ฝันอยากเป็นนักร้องลูกทุ่งโดยมี สุรพล สมบัติเจริญ เป็นต้นแบบ
หนังมี “วิทยุทรานซิสเตอร์” เป็นสัญลักษณ์สะท้อนปัญหาหลายอย่างในสังคมไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคม การกระจายความเจริญอย่างไม่เท่าเทียมในเมืองกรุงและชนบท การเกณฑ์ทหาร ฯลฯ
บุญชูผู้น่ารัก (2531)
(ฉายที่ศูนย์เยาวชนคลองเตย : เสาร์ 16 กรกฎาคม)
เป็นหนังไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในปีที่ออกฉาย จนทำให้มีการสร้างภาคต่อมาอีกถึง 8 ภาค กับเรื่องราวของ บุญชู บ้านโข้ง หนุ่มสุพรรณแสนซื่อที่เดินทางเข้ากรุงเพื่อเรียนกวดวิชา เตรียมเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ได้พบกับ โมลี สาวน้อยหน้าตาน่ารักที่บุญชูหลงรักตั้งแต่แรกเห็น และเพื่อน ๆ ร่วมโรงเรียนกวดวิชาที่มีความแสบสันต์ปนฮากันคนละแบบ
ความซื่อบริสุทธิ์ของบุญชู ความอบอุ่นและมีน้ำใจของคนต่างจังหวัด ตลอดจนมุกตลกแบบไม่หยาบคาย ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากฝีมือการกำกับของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล และการรับบทเป็นบุญชูได้อย่างสมจริงของ สันติสุข พรหมศิริ โดยเฉพาะการพูดเหน่อสำเนียงสุพรรณอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ขณะที่แก๊งซูโมสำอาง นำโดย ซูโม่ตุ๋ย (อรุณ ภาวิไล) ซูโม่เจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม) ซูโม่กิ๊ก (เกียรติ กิจเจริญ) ซูโม่เอ๋ (เกรียงไกร อมาตยกุล) รวมไปถึงหนุ่ม-กฤษณ์ ศุกระมงคล ซึ่งเล่นเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนกวดวิชา ก็สร้างสีสันให้กับเรื่องได้เป็นอย่างมาก
เด็กรุ่นใหม่อย่าพลาดชมว่าทำไม “บุญชูผู้น่ารัก” ถึงกลายเป็นตำนานบทหนึ่งในวงการภาพยนตร์ไทย ขณะที่คนรุ่นเก่าที่ทันดูในโรงภาพยนตร์ โอกาสมาถึงแล้วที่คุณจะกลับไปร่วมรำลึกถึงหนังเรื่องนี้บนจอใหญ่กันอีกครั้ง
4Kings (2564)
(ฉายที่สวนรถไฟ : พฤหัสบดี 14 กรกฎาคม)
หนังแทนใจเหล่าเด็กช่างที่สร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการหนังไทยในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมาก็มาร่วมฉายในเทศกาลกรุงเทพกลางแปลงเช่นกัน
4Kings เป็นหนังย้อนยุค พูดถึงเรื่องราวของเด็กอาชีวะยุค 90 ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะมีคนหยิบยกมาพูดถึง ประกอบกับเรื่องนี้กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตรงของผู้กำกับ พุฒิ-พุฒิพงษ์ นาคทอง จึงทำให้หนังมีความสมจริงทั้งในเรื่องของเนื้อหาที่เกี่ยวกับการตีกันของเด็กช่างต่างสถาบันว่าทำไมพวกเขาถึงต้องทำเช่นนั้น รวมไปถึงบรรยากาศย้อนยุคที่ทำให้หลายคนต้องถวิลหาความหลังของการใช้เพจเจอร์ ตู้เพลง รวมไปถึงเพลงฮิตในยุคนั้น
อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ 4Kings ได้รับคำชมเป็นอย่างมากคือ การสร้างตัวละครได้มีมิติ และคัดเลือกนักแสดงมาเล่นได้อย่างเหมาะสมทั้ง บิลลี่ อินทร (รับบทโดย จ๋าย วงไทยทศมิตร), ดา อินทร (รับบทโดยเป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ), รูแปง อินทร (รับบทโดย ภูมิ ภูมิ รังษีธนานนท์), มด ชล (รับบทโดย โจ๊ก อัครินทร์ อัครนิธิเมธรัฐ), โอ๋ ชล (รับบทโดย นัท ณัฏฐ์ กิจจริต)
Portrait of a Lady on Fire (2562)
(ฉายที่สวนรถไฟ : ศุกร์ 15 กรกฎาคม)
“ภาพฝันของฉันคือเธอ” หรือ Portrait of a Lady on Fire เป็นหนัง LGBTQ จากประเทศฝรั่งเศส เจ้าของรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัล Queer Palm จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2019
เรื่องราวของ มารียาน จิตรกรสาวที่ถูกจ้างมาวาดรูปของ เอลูอิส ลูกสาวคนเล็กของบ้านผู้ดีมีอันจะกิน เพื่อนำรูปใบนี้ไปให้ฝ่ายชายดูตัว แต่เอลูอิสไม่อยากแต่งงานจึงไม่ยอมให้วาดภาพ มารียานจึงต้องปลอมตัวเป็นผู้ดูแลที่แม่เอลูอิสจ้างมา แล้วแอบจำรายละเอียดบนใบหน้าของเธอไปวาดภาพในตอนกลางคืน
ทว่าบรรยากาศบนเกาะอันห่างไกลทำให้ความสัมพันธ์ของ 2 สาวก่อตัวขึ้นเป็นความรักต้องห้าม
สวรรค์มืด (2501)
(ฉายที่สวนรถไฟ : เสาร์ 16 กรกฎาคม)
หนังคลาสสิกปี พ.ศ. 2501ที่หาดูได้ยาก ผลงานการกำกับของ รัตน์ เปสตันยี จากบทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งโด่งดังมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่นำไปทำเป็นละครออกอากาศสดทางโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม และละครวิทยุ
“สวรรค์มืด” เป็นเรื่องราวของ ชู (สุเทพ วงศ์กำแหง) พนักงานเก็บขยะของเทศบาลที่อยากเป็นผู้ดี เลยให้ใครๆ เรียกตัวเองว่า คุณชูวิทย์ เขาช่วยเหลือ เนียร (สืบเนื่อง กันภัย) สาวจรจัดข้างถนนที่วิ่งราวข้าวหมูแดงห่อหนึ่งด้วยความหิว แล้วพาไปอาศัยอยู่ด้วยกันที่กระท่อมสัปปะรังเคจนเกิดเป็นความรักขึ้นมา
แต่แล้วโชคชะตากลับนำพาให้ชูวิทย์ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ทางด้าน เนียร ซึ่งเฝ้ารอการกลับมาของเขา ได้รับการอุปการะจากคนรวย เปลี่ยนสถานะจากสาวจรจัดกลายเป็นลูกสาวของเศรษฐี มีหนุ่มนักเรียนนอกมาจีบ แต่เนียรยังมั่นคงในความรัก และเฝ้ารอชู ซึ่งกลับมาพร้อมดวงตาที่บอดสนิทจากสงคราม
“สวรรค์มืด” ถือเป็นภาพยนตร์เพลงเรื่องแรกๆ ของไทย มีการดำเนินเรื่องด้วยเพลง ซึ่งมี ชาลี อินทรวิจิตร เป็นผู้แต่งคำร้อง และมี สมาน กาญจนะผลิน เป็นผู้แต่งทำนอง
นำแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องที่กำลังโด่งดังในขณะนั้น และ สืบเนื่อง กันภัย นางงามถิ่นไทยงามปี 2490 ซึ่งมีผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว