สานพลังชุมชนสู่ "สุขภาวะ" สร้างนวัตกรรม รับมือความเปลี่ยนแปลงสังคมโลก
สรุปบทเรียนบนเวที "สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน" รวมพลัง "เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่" เดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 7+1 ของ สสส. รับมือความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
ย้อนไปในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมพัฒนาแนวทางการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในบริบทสังคมไทยกับภาคีเครือข่ายมากกว่า 20,000 ภาคีอย่างต่อเนื่อง และอีกหนึ่งเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญที่เคียงบ่าเคียงไหล่มาโดยตลอด ยังมี "เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่" ที่มีสมาชิกกว่า 3,000 ตำบลทั่วประเทศอีกด้วย
ผลของการจับมือกันร่วมฝ่าฟัน ล้มลุกคลุกคลานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนชุมชนบ้านๆ ในสายตาใครๆ ที่เคยห่างไกลต่อความเจริญและการพัฒนาให้กลับกลายเป็นบ้านที่มีสุขภาวะด้วย "น้ำมือ" ตลอดจน "น้ำพักน้ำแรง" ของคนในชุมชนเอง ทั้งได้ก่อเกิดนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาจากท้องถิ่น กลายเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตคนที่นำไปสู่สุขภาวะที่กำลังยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้
ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน สสส. ยังเดินหน้าสนับสนุน ผลักดัน อย่างเข้มข้นร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อต่อยอดพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนด้วยกลไกที่หลากหลายและสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน
ล่าสุด ได้ประกาศเจตนารมณ์ทศวรรษที่ 3 สร้างเสริมสุขภาวะชุมชน มุ่งบูรณาการสานพลัง สร้างนวัตกรรมชุมชน รับมือความเปลี่ยนแปลงสังคมโลกในยุคที่กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงถาโถม ในเวที "สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน"
ระบบข้อมูลที่มีชีวิต นำสู่สุขภาวะ
"เครื่องมือของเราเป็นเครื่องมือที่ไม่เหมือนใคร เพราะเป็นระบบข้อมูลที่มีชีวิต มีความเคลื่อนไหว มีจิตวิญญาณ เป็นระบบข้อมูลที่ผมขอเรียกว่าเป็นข้อมูลแบบอินไซด์เอาท์ (Inside Out) เป็นข้อมูลที่เราหาจากความต้องการของเราเอง และเพื่อแก้ปัญหาเราเอง เป็นการค้นหาเพื่อที่เราจะรู้ว่าเราเป็นอย่างไร เป็นข้อมูลที่ทำให้รู้ว่าเราเข้าใจคน วิเคราะห์ตัวเราว่าเรามีจุดบกพร่องแบบนี้ และนำมาพัฒนาตัวเอง รวมถึงต้นทุนต่างๆ"
ธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. เผยถึงปัจจัยความสำเร็จ ที่เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญ 3 ประการที่เป็นเคล็ดลับการทำงานขับเคลื่อนสู่การเป็น "ชุมชนสุขภาวะ" ของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ส่วนข้อสองคือ เรามีขบวนการนำมาใช้ข้อมูล โดยศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาแบบองค์รวมที่คำนึงถึงผลกระทบทุกด้าน และสามคือ เรามีระบบการเรียนรู้ระหว่างกัน เมื่อเราพบชุมชนเรามีปัญหา เราเห็นแนวทางแก้ไขจากเพื่อนบ้านเราหรือชุมชนใกล้เคียง เรามีแหล่งเรียนรู้ที่เกิดจากความรู้และประสบการณ์ มีการถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อนำไปถ่ายทอดให้เพื่อนบ้านของเราได้
นอกจากนั้น ยังกล่าวต่อ การเป็นชุมชนสุขภาวะถือเป็นเกราะป้องกันชุมชนเข้มแข็งแม้ในยามวิกฤติ แต่การจะเป็นชุมชนเข้มแข็งยั่งยืนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สสส. มีคำตอบให้หมดทุกเรื่อง เป็นการถ่ายทอดผ่านเครือข่ายศูนย์เรียนรู้แบบยั่งยืน เป็นนวัตกรรมการการสร้างการเรียนรู้
สำหรับเส้นทางในอีก 10 ปี เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า มีความมุ่งหมาย 5 ข้อ คือ
- ขยายพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และพัฒนาเครือข่ายให้มีขีดความสามารถ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อถ่ายทอดศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ
- พัฒนากลไกรองรับชุมชนกับวิถีชีวิตใหม่ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม
- ยกระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีพื้นที่ตัวอย่างการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น ชุมชนในเมือง ในชนบท พื้นที่ชายแดน
- พัฒนาศักยภาพผู้นำที่มีความหลากหลายและสร้างเครือข่ายผู้นำ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลา
- ใช้แผนสุขภาวะชุมชนที่มีพื้นที่เป็นตัวตั้ง รองรับนโยบายระดับชาติจังหวัด และแผนอื่นของ สสส. /ภาคียุทธศาสตร์ทุกหน่วยงาน
หนุนขยายผลแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความหลากหลาย
ประภาศรี บุญวิเศษ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ชื่นชมคือชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เป็นกลไกที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ชุมชน ส่งอะไรลงไปสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะอยู่ใกล้ชิดประชาชนและชุมชน และยั่งยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาข้างนอก ซึ่งเมื่อวิเคราะห์การทำงาน สิ่งหนึ่งที่ได้ประโยชน์คือ ข้อมูลที่แตกต่างจากการจัดเก็บข้อมูลอื่นๆ เพราะเป็นการดำเนินการด้วยตัวเอง อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่มีความทันสมัย ทันโลก ข้อมูลต่างๆ ที่ได้สามารถนำมาขยายผลการปฏิบัติในเรื่องประเด็นหลากหลายต่างๆ อาทิ ประเด็นเรื่องอาหารและกิจกรรมทางกาย
"เรื่องอาหารเรื่องใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องดูตลอดทั้งห่วงโซ่ ซึ่งตลอดทั้งห่วงโซ่จะเกิดในพื้นที่ทั้งนั้น เราได้พบองค์ความรู้ นวัตกรรม ซึ่งภาคีเครือข่ายในหลายพื้นที่ในชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่ทำอยู่แล้ว อนาคตอยากให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้นวัตกรรม องค์ความรู้ถูกนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ก็ยิ่งจะทำให้องค์ความรู้และนวัตกรรมนั้นมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัดค่าใช้จ่าย" ประภาศรีกล่าว
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า ความร่วมมือขับเคลื่อนร่วมกับท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต. เทศบาล ซึ่งได้กลายเป็นหัวหอกสำคัญในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและยังเป็นการบูรณาการ ปัจจัย ประเด็นในพื้นที่ ถือเป็นแนวทางที่มาถูกทิศทางแล้ว โดยหนังตัวอย่างของจริงที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คือเอาพื้นที่เป็นที่ตั้ง ซึ่งทาง สสส. มีเครื่องมือที่จะให้ชุมชนท้องถิ่น นำไปใช้ได้ มีต้นแบบความสำเร็จ มีองค์ความรู้อีกมากมายที่ชุมชนต้องการ ซึ่งสามารถนำไปใช้ต่อยอด หรือเป็นเครื่องมือในกระบวนการทำงานในชุมชนได้ต่อ
ความท้าทายศตวรรษที่ 3
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เราทุกคนกำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนเร็ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ในโลกผันผวน ทำให้ที่ผ่านมา สสส.ได้วิเคราะห์ สกัด และสังเคราะห์อย่างหนักถึงแนวทางการที่จะทำให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดีในระยะยาว ซึ่งนำมาสู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 7+1 ของ สสส. ซึ่งเป็นประเด็นด้านสุขภาพ ที่จะทำให้คนไทยสุขภาพดี
"การจะทำให้บรรลุเรื่องดังกล่าวต้องทำผ่านหลายกระบวนการ หนึ่งในนั้นคือการ สสส. ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่พัฒนาให้สังคมชุมชนดีขึ้นแค่เพียงโดยรวมเท่านั้น แต่เรายังหวังว่าจะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพของคนไทยหดแคบลง" ผู้จัดการ สสส. กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายทศวรรษหน้า สสส. คาดหวังว่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์ดังกล่าว ปัจจุบันมีโมเดลตำบลสุขภาวะชัดเจนประมาณ 2000 กว่าตำบล และมี 200 กว่าศูนย์เรียนรู้ เป็นโครงสร้างที่เข้มแข็งและเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม ในทศวรรษหน้าเราหวังว่าจะสืบสานต่อยอดถึงการรองรับชุมชนที่หลากหลายมากกว่าเดิม และมีอีกหลากหลายโมเดลเกิดขึ้น ผ่าน ผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือ change agent ในพื้นที่
สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า วันนี้เชื่อเหลือเกินว่าพวกเราพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของพวกเรา 13 ปีได้ค้นพบสิ่งต่างๆ มากมายที่จะเดินไปข้างหน้าเพื่อให้ท้องถิ่นของเรามั่นคงเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และถาวร โดยจากการทำงานที่ผ่านมา ทำให้ได้พบถึงโครงสร้างที่จะทำให้นำไปสู่ความสำเร็จ คือโครงสร้าง 4 องค์กรหลักในพื้นที่ที่จะช่วยกันนำพาชุมชนท้องถิ่นไปสู่ความเข้มแข็ง ได้แก่ "ท้องที่" คือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ภาคส่วนคนทำงานในท้องที่ ได้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นอีกส่วนที่มีบทบาท รวมถึง "ท้องถิ่น" เป็นองค์กรมีความสำคัญ เพราะเป็นโครงสร้างในการบริหารราชการแผ่นดินที่มีทั้งภารกิจหน้าที่ตามกฎหมาย มีกำลังคน มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเงินและมีความพร้อม สุดท้ายคือพี่น้องประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ ภายในงาน ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ยังนำเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ รวม 2,777 คน ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการดำเนินการสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ครอบคลุม 8 ประเด็นในการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน คือ
- คุณภาพเด็กปฐมวัยในชุมชน
- เฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ
- สร้างเสริมสุขภาพจิต
- สร้างสุขภาวะด้วยระบบอาหารชุมชน
- การควบคุมการบริโภคยาสูบ
- ความปลอดภัยทางถนน
- สุขภาวะผู้สูงอายุ
- การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน และร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์และหน่วยงานตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีการสนับสนุนการสร้าง "สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน" เข้าสู่วาระของการพัฒนาประเทศ
ปิดท้ายด้วย การมอบประกาศเกียรติบัตรให้แก่ "ศูนย์เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ" จำนวน 93 แห่ง รวม 190 เรื่อง แบ่งออกเป็น 10 ด้านตามทิศทางและเป้าหมาย 10 ปี (พ.ศ.2565-2575) ของ สสส.