รู้จัก "โอจิซัง" พนง.ออฟฟิศ "รุ่นเก๋า" ในญี่ปุ่น ที่คนรุ่นใหม่ "ไม่เคารพ"

รู้จัก "โอจิซัง" พนง.ออฟฟิศ "รุ่นเก๋า" ในญี่ปุ่น ที่คนรุ่นใหม่ "ไม่เคารพ"

งานการไม่ทำ ล่องลอยไปวัน ๆ ระวังรุ่นน้องในออฟฟิศ “ไม่เคารพ” ... ทำความรู้จัก “โอจิซัง” ศัพท์ญี่ปุ่นที่นอกจากแปลว่า “ลุง” ยังถูกใช้สื่อถึงมนุษย์ออฟฟิศวัยเก๋าที่ชอบอู้งาน จนผลสำรวจในญี่ปุ่นพบว่า รุ่นน้องในออฟฟิศส่วนใหญ่ “ไม่อยากเคารพ”

มีสุภาษิตในภาษาอังกฤษบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “A chain is no stronger than its weakest link.” ซึ่งแปลได้ว่า “โซ่จะไม่แข็งแรงไปกว่าข้ออ่อนที่สุด” หากเทียบกับโลกการทำงาน ก็หมายถึง การทำงานเป็นกลุ่มและทำเป็นทีมงานร่วมกันนั้น ขึ้นอยู่กับผลงานของคนที่อาจเป็น “จุดอ่อน” ในทีม

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเข้าทำงานในบริษัทแรกหรือบริษัทใหม่ ไม่มีใครต้องการเป็นจุดอ่อนของทีม แต่ขณะเดียวกัน พนักงานบางกลุ่มเมื่อทำงานในบริษัทนานวันเข้าก็พบกับวิธีทำงานพอเป็นพิธีแค่ไม่ให้ถูกไล่ออก สร้างความเอือมระอาอย่างมากให้กับเพื่อนร่วมงานที่ทุ่มเททำงานหนักกว่า

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ รวมถึง “ญี่ปุ่น” ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความจริงจังกับหน้าที่การงาน แต่ก็มีพนักงานออฟฟิศบางส่วนที่ทำงานมานานจนชำนาญด้าน “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” ไม่ค่อยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งพบเห็นได้ในออฟฟิศราวครึ่งหนึ่งทั่วญี่ปุ่น

เมื่อไม่นานนี้ “ชิคิงาคุ” (Shikigaku) บริษัทที่ปรึกษาในกรุงโตเกียวได้สำรวจลูกจ้างชาวญี่ปุ่น 300 คนซึ่งทำงานในบริษัทที่มีลูกจ้างมากกว่า 300 คน และถามกลุ่มตัวอย่างว่า ในที่ทำงานมี “คนแก่” หรือ “พนักงานวัยเก๋า” ที่ชอบอู้งานหรือไม่

สำหรับการสำรวจนี้มีการใช้ศัพท์ญี่ปุ่น โอจิซัง (ojisan) ซึ่งโดยทั่วไปเป็นคำเรียกแทนบุคคลที่มีช่องว่างอายุห่างกับผู้เรียกพอสมควร แต่เนื่องจากผลสำรวจของชิคิงาคุเก็บข้อมูลจากพนักงานออฟฟิศอายุระหว่าง 20-39 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างกว้าง จึงทำให้คำว่า “คนแก่” ในที่นี้ อาจหมายถึงคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป

เมื่อถามผู้ตอบแบบสำรวจว่า “ในที่ทำงานของคุณ มีคนแก่ที่ชอบอู้งานหรือไม่” 49.2% ตอบว่า “มี

รู้จัก \"โอจิซัง\" พนง.ออฟฟิศ \"รุ่นเก๋า\" ในญี่ปุ่น ที่คนรุ่นใหม่ \"ไม่เคารพ\"
- ที่มารูป : SoraNews24 -

คำถามต่อไปสำหรับกลุ่มที่ตอบว่าออฟฟิศมีคนแก่อู้งาน คือ “ถ้าพวกเขา (โอจิซัง) ไม่ทำงาน แล้วทำอะไร” พบว่า คำตอบที่มีคนตอบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

- ออกไปพักหลายรอบเพื่อสูบบุหรี่และกินขนม (49.7%)
- เหม่อลอย มองท้องฟ้า (47.7%)
- คุยเรี่องไร้สาระกับเพื่อนร่วมงานที่อู้งานเหมือนกัน (47.3%)

ส่วนคำตอบที่ตามมาห่าง ๆ เป็นอันดับ 4 คือ ท่องอินเทอร์เน็ตไปเรื่อย (35.3%)

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อคนแก่เหล่านี้ด้วยว่า “ทำไมพวกเขา (พนักงานวัยเก๋า) ถึงเลือกใช้ชีวิตแบบขี้เกียจ”

- 45% ตอบว่า พวกเขาไม่มีไฟในการทำงาน
- 41% ตอบว่า บริษัทของตนขึ้นเงินเดือนตามความอาวุโสมากกว่าผลงาน
- 26.3% ตอบว่า ไม่มีใครไว้วางใจให้คนพวกนี้ให้ทำงาน

ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นในทางตัดพ้อว่า บริษัทไม่มีรางวัลตอบแทนหรือบทลงโทษที่หนักแน่นเพียงพอในการจูงใจให้คนแก่เหล่านี้ทำงานหนักขึ้น และผู้ตอบแบบสำรวจยังแนะนำให้มีการประเมินจากพนักงานด้วยกันเอง และปรับนโยบายองค์กรให้ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับเหตุผลในการไล่คนออก

นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจต้องการให้บริษัทจัดการ “คนแก่อู้งาน” อย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลสำคัญ ดังต่อไปนี้

- คนเหล่านี้มีผลกระทบเชิงลบต่อองค์กร (90%)
- บั่นทอนกำลังใจคนทำงาน (59.7%)
- ทำให้คนอื่นเจองานล้นมือหนักขึ้น (49%)
- เปลืองค่าจ้าง เป็นภาระของบริษัท (35.3%)

ขณะเดียวกัน พนักงานออฟฟิศวัยเก๋าในญี่ปุ่นยังถูกมองแง่ลบเรื่อง “ความน่าเคารพผลสำรวจอีกชิ้นโดยนิตยสาร “สปา” (Spa) ของญี่ปุ่นพบว่า พนักงานญี่ปุ่นส่วนใหญ่เคารพคนทำงานรุ่นเก่าไม่เกิน 30% เท่านั้น และมีเพียง 23.2% หรือไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ยังให้ความเคารพคนรุ่นลุง ๆ ป้า ๆ ในที่ทำงานอยู่

รู้จัก \"โอจิซัง\" พนง.ออฟฟิศ \"รุ่นเก๋า\" ในญี่ปุ่น ที่คนรุ่นใหม่ \"ไม่เคารพ\"
- ที่มารูป : AFP -

ผลสำรวจนี้ถามกลุ่มตัวอย่างลูกจ้างชาวญี่ปุ่น 2,000 คนว่า ให้ความเคารพ “พนักงานวัยเก๋า” ในบริษัทตัวเองระดับไหน หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้ผลลัพธ์ดังต่อไปนี้

- 26.8% ให้ความเคารพน้อยกว่า 10%
- 27.9% ให้ความเคารพ 10-30%
- 22.1% ให้ความเคารพ 30-50%
- 16% ให้ความเคารพ 50-70%
- 5% ให้ความเคารพ 70-90%
- 2.2% ให้ความเคารพมากกว่า 90%

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังถามกลุ่มตัวอย่างว่า เรื่องแง่บวกที่คิดว่าพนักงานวัยเก๋าทำให้กับองค์กรมีอะไรบ้าง แต่ปรากฏว่าส่วนใหญ่ 55.6% ตอบว่า “ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ

ส่วนคำตอบอื่น ๆ เกี่ยวกับข้อดีของลูกจ้างรุ่นอาวุโสในบริษัท มีดังต่อไปนี้

- ความรู้และทักษะเกี่ยวกับการทำงาน (19.9%)
- คำแนะนำและชี้แนะชัดเจน (14.2%)
- ความสามารถในการรับมือวิกฤติ (11.4%)
- ความมีภาวะผู้นำ (10.6%)
- คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์เมื่อมีคนร้องขอ (10%)
- บรรยากาศแห่งความเชื่อมั่นในหมู่พนักงาน (6.3%)
- ไม่มีส่วนร่วมล่วงละเมิดทางเพศ หรือใช้อำนาจละเมิดคนอื่น (6.3%)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่การสำรวจกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่นัก แต่ก็น่าพิจารณาไม่น้อย เพราะแม้กระทั่งในญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ “ความอาวุโส” แทบไม่ต่างกับประเทศไทย พวกเขาก็ยังคิดว่า การเคารพผู้อาวุโสกว่า แม้โดยปกติถือเป็นการแสดงความสุภาพอ่อนน้อม แต่คน ๆ นั้นก็ต้องปฏิบัติตัวให้น่าเคารพนับถือด้วย

----------------------

อ้างอิง: JapanToday, SoraNews24, Spa