สกพอ. เอ็มโอยู ธนาคาร SMBC เชื่อยโยงนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนอีอีซี

สกพอ. เอ็มโอยู ธนาคาร SMBC เชื่อยโยงนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนอีอีซี

สกพอ. เซ็นเอ็มโอยู ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือ SMBC สร้างความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนเป้าหมายสัญชาติญี่ปุ่นในพื้นที่ อีอีซี และเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวถึง การร่วมลงนาม MOU ครั้งนี้ ว่า เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยในปีนี้ครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และครบรอบ 10 ปี ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ซึ่งธนาคาร SMBC เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีเครือข่ายนักลงทุนมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และมีการขยายสาขาเพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2495 โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสองหน่วยงานครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นในโอกาสพิเศษที่ธนาคาร SMBC ครบรอบ70 ปี การให้บริการในประเทศไทย ในด้านความร่วมมือระหว่างอีอีซีและ ธนาคาร SMBC เป็นพันธมิตรสำคัญ ตั้งแต่ปี 2562  

สำหรับสถานการณ์การลงทุนญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซี ในปี 2564 ที่ผ่านมา เกิดการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมจากบีโอไอ มูงค่าร่วมถึง 19,445 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่าการออกบัตรจากนักลงทุนญี่ปุ่น รวมสูงถึง 3,240 ล้านบาท ถือเป็นอันดับ 1 ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพในพื้นที่อีอีซี ที่เกิดความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล 5G และการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม ที่ได้สร้างความมั่นใจการเข้าลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น เพิ่มการลงทุนในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันฟื้นฟูภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านกลไกความร่วมมือที่สนับสนุนในเกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และสานต่อการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทานที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคาร  SMBC ในครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันให้เกิดการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนญี่ปุ่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและภาคการผลิต ผ่านกลไกการส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนญี่ปุ่นเพื่อลงทุนในพื้นที่อีอีซีสอคคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่น ตามข้อริเริ่ม Asia-Japan Investing for the Future (AJIF) ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้ในอนาคต