"บันนังสตา" จากภาพจำความไม่สงบ สู่อำเภอที่ไม่มาเที่ยวแล้วจะเสียใจ
ทำความรู้จัก "บันนังสตา" อำเภอที่เคยถูกจดจำว่ามีแต่ความรุนแรงและน่ากลัวจากเหตุความไม่สงบของชายแดนใต้ ในแง่มุมที่มีมานานแต่ไม่เคยได้รับการมองเห็นในฐานะเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามและอุดมสมบูรณ์
กระแส การท่องเที่ยวเบตง อำเภอล่างสุดในสยาม ในเขตจังหวัดยะลากำลังมาแรง เรียกว่าใครๆ ก็อยากจะไป เบตง เส้นทางคมนาคมหลักที่จะไปยังเบตงก็คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 จากยะลามุ่งหน้าสู่เบตง หรือมาจากหาดใหญ่ ก็ต้องมาใช้ถนนเส้นนี้เช่นกัน เพราะถนนที่จะเข้าสู่ อ.เบตง มีถนนเส้นเดียวจากภายนอกคือทางสายนี้เท่านั้น
จาก ยะลา ไปเบตงตามถนนหมายเลข 410 ระยะทางเพียง 140 กม.เท่านั้น กรุงเทพไปชะอำยังไกลกว่า ถนนสายนี้ จากตัวเมืองยะลา ก็จะผ่านอำเภอกรงปินัง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต แล้วไปสุดทางที่อำเภอเบตง อันที่จริงระหว่างทางของเส้นทาง 410 ก่อนถึงเบตง มันมีอะไรสารพันให้แวะได้มากมาย แต่คราวนี้ผมจะขมวดปมให้อยู่ในเขต อ.บันนังสตา เผื่อเราจะได้รู้จักอำเภอแห่งนี้กันให้มากขึ้น
เราคงรู้จักอำเภอ บันนังสตา กันมาจากกรณีของจ่าเพียร หรือพลตำรวจเอกสมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา (เสิร์ชหาอ่านรายละเอียดได้จากกูเกิลจากคำค้นหา "จ่าเพียร" วีรบุรุษแห่งเทือกเขาบูโด) ตอนนั้นเราคงนึกภาพบันนังสตาไม่ออก ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว อำเภอนี้ห่างจากตัวเมืองยะลาเพียง 40 กม.เท่านั้น จากวิกิพีเดีย บอกประวัติอำเภอนี้ว่า "อำเภอบันนังสตาเดิมชื่อว่า อำเภอบาเจาะ (ยาวี: باچوق; รูมี: Bachok) ขึ้นกับเมืองรามัน ตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2450 ต่อมาได้ยกเลิกหัวเมืองต่างๆ จึงได้ย้ายอำเภอมาตั้งที่แห่งใหม่แล้วตั้งชื่อว่า อำเภอบันนังสตา (ยาวี: بنڠ ستار; รูมี: Benang Setar) เป็นภาษามลายูปัตตานี มาจากคำว่า บันนัง หรือ เบินดัง มีความหมายว่า "ที่นา" กับคำว่า สตา ที่หมายถึงต้นมะปราง รวมกันจึงมีความหมายว่า "นามะปราง" หรือ "ที่นาที่มองเห็นต้นมะปรางได้แต่ไกล"
อำเภอ "บันนังสตา" และอำเภอธารโตแวดล้อมไปด้วยภูเขาและป่าไม้ โดยเฉพาะบริเวณภูเขาจึงมีแหล่งแร่ธาตุ ทำให้เกิดการทำเหมืองดีบุก วุลแฟรม แมงกานีส ตะกั่ว ประมาณ 30 เหมือง และเป็นที่มาของตราประจำจังหวัดยะลา”
เดิมพื้นที่อำเภอนี้คงเป็นป่าเขามากมาย แต่พอปี 2519 เมื่อมีการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ (สร้างเสร็จปี 2524) พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงเป็นผืนน้ำ เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว และเส้นทางลัดไปยัง อ.เบตงโดยทางน้ำได้ แหล่งท่องเที่ยวโดยทั่วไปจึงเป็นธรรมชาติ ป่าเขา
จุดแวะแรกริมถนนสาย 410 ก่อนถึงอำเภอบันนังสตา 5 กม. คือสะพานประวัติศาสตร์ ยีลาปัน ซึ่งเป็นสะพานเหล็กที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2484 หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาราว 10 ปี เป็นสะพานเหล็กที่มีฐานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาว 239 เมตร กว้าง 6 เมตร ขณะดำเนินการก่อสร้างเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาทำให้การก่อสร้างต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยมีการดูแลซ่อมแซมโดยกรมทางหลวงตลอดมา ต่อมามีการสร้างสะพานปูน โดยตั้งชื่อสะพานตามนามสกุลนายช่างแขวงการทางยะลา นายถวัลย์ หงสกุล สะพานปูนที่เปิดใช้จึงชื่อสะพานหงสกุล ส่วนสะพานเหล็กนี้ก็ปิดใช้งานไปในที่สุด
สะพานเหล็กยีลาปัน
ตัวอำเภอ "บันนังสตา" เป็นอำเภอเล็กๆ ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากนอกจากร้านปาท่องโก๋ริมทางที่ขึ้นชื่อในหมู่คนเดนทาง เป็นร้านแผงลอยเล็กๆ ทอดปาท่องโก๋ 3 อย่าง (ธรรมดา ชาโคและข้าวโพด) จิ้มกับสังขยาที่ไม่หวานมากแต่รสเข้มข้นอร่อย จัดเป็นชุดๆ ละ 20 บาทเท่านั้น แนะนำว่าต้องซื้อแบบที่ขึ้นจากกระทะทอดใหม่ๆ จะอร่อยสมใจ ร้านจะขายตั้งแต่บ่ายสาม จนถึงหกโมงเย็น ทุกวัน ร้านนี้คนพื้นที่แนะนำว่าอร่อย ไปพิสูจน์แล้ว ก็อร่อยดั่งว่า แต่ย้ำว่าต้องเพิ่งขึ้นจากกระทะใหม่ๆ ใครที่ผ่านจะไปเบตงก็ลองแวะมาชิมกันได้
เลยย่านชุมชน อ.บันนังสตา มาราว 1 กม. จะมีทางเลี้ยวซ้ายเข้าไปเขื่อนบางลาง ซึ่งถ้าเลยตรงนี้ไป ก็ไปเข้าทางเข้าหลักก็ได้) ทางเส้นนี้จะพาเราเลาะเลียบเขื่อนบางลาง ซึ่งด้านบนเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถนำรถยนต์ขึ้นไปได้ ซึ่งจะเห็นว่าพื้นที่อำเภอนี้มีแต่ป่าเขาจริงๆ
จุดชมทิวทัศน์ของเขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลางนั้นสร้างกั้นแม่น้ำลำห้วยหลายสายที่มาจากป่าในเขต อ.บันนังสตา อ.ธารโต อ.เบตง และลำห้วยลำธารที่มีต้นกำเนิดนอกพื้นที่แต่ไหลมารวมกันอีกหลายสายมีป่าอนุรักษ์อย่าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮานา-บาลา อุทยานแห่งชาติบางลาง เมื่อเขื่อนสร้างขึ้น อย่างเก็บน้ำทั้งหลายก็คือบรรดาพื้นที่หุบเขาต่างๆ คนที่เคยอยู่ในที่ลุ่ม จึงถูกอพยพขึ้นมาอยู่บนที่สูง แล้วตั้งชุมชนตามเชิงเขา มีถนนลาดยางตัดลัดเลาะไปตามเหลี่ยมเขาต่างๆ โดยมีชุมชนอยู่เป็นระยะๆ ปลายทางของถนนคือหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9
จุดชมทิวทัศน์เส้นทางไปหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9
ถนนสายนี้จะลัดเลาะไปตามเหลี่ยมเขา เส้นทางคดโค้งไปมา แต่ทางราดยาง มีจุดชมทิวทัศน์ น้ำตกข้างทาง มีให้เห็นเป็นระยะๆ ระหว่างทาง จนไปถึงโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 7 จังหวัดยะลา ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่า “ฮาลา – บาลา” ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 6 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระดำริของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบัน วิจัยจุฬาภรณ์ ที่ดำเนินการในภาคใต้ โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการที่พิเศษไม่เหมือนกับโครงการหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนาอื่นๆ โดยทรงมีพระดำริ ให้รักษาความเป็นธรรมชาติของพื้นที่ป่าในบริเวณโครงการฯ ให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของป่าบริเวณนั้น ให้มีสภาพป่าที่เป็นธรรมชาติ อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม และอีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศป่าดิบชื้น วันที่ผมไปถึง มีการก่อสร้างทางกีดขวางทางเข้า เลยไม่สะดวกที่จะเข้าไปเที่ยวชม ที่นี่ในหลวง ร.9 เสด็จมาทรงงานพัฒนาพื้นที่ในหลายๆ ครั้ง มีศาลาทรงงานอยู่ในพื้นที่ด้วย
อนุสรณ์สถาน ที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9
เลยไปอีกไม่กี่กิโลเมตร ทางก็จะไปสิ้นสุดที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ซึ่งเป็นเหมือนหมู่บ้านพัฒนาชาติไทย เพียงแต่ที่นี่จะเป็น จคม. (โจรจีนคอมมิวนิสต์) เป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางป่าโดยแท้จริง มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและส่งเสริมอาชีพหลายอย่าง รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วย ซึ่งที่นี่จะมีทั้งที่พัก โปรแกรมท่องเที่ยว เดินเท้าไปน้ำตกขนาดใหญ่ น้ำตกฮาลาซะห์ (2.5กม.ตามทางปูนจากหมู่บ้าน หรือจะเดินตามเส้นทางป่า ระยะทาง 4 กม.) หรือขึ้นไปดูทะเลหมอกที่เขาหินโยกก็ได้ จริงๆ เขามีเส้นทางท่องเที่ยวหลายอย่าง ถ้าสนใจก็ให้ติดต่อกับไกด์ท้องถิ่น ที่ชื่อ หลินปิง โทร.09 7117 5567 ส่วนในหมู่บ้านจะมีอนุสรณ์สถานของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย มีพิพิธภัณฑ์การต่อสู้ต่างๆ
อันที่จริงสามารถนั่งเรือมาจากท่าเรือตาพะเยา จากทางด้านเบตงได้ จะเห็นบรรยากาศเกาะกลางน้ำและทิวทัศน์ที่สวยงาม วันที่ผมเดินทางไป ( 8 ก.ค.2565) เป็นช่วงที่ทุเรียนกำลังสุก ชาวสวนตัดทุเรียนหมอนทางลูกโตๆ ขึ้นมากองกันริมถนนรอรถมารับซื้อ ซึ่งมีล้งคนจีนไปตั้งล้งในตัวเมืองยะลา ราคาซื้อจากสวน กก.ละ 100-120 ถือเป็นช่วงทำเงินทำทองของพี่น้องย่านนี้ เห็นแล้วก็ชื่นใจ
สวนทุเรียนริมทาง ที่ลัดเลาะอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง ไปหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9
พามารู้จัก "บันนังสตา" แต่เส้นทางมันลัดเลาะมาจนเข้าเขต อ.ธารโตหน่อยหนึ่ง ทำให้รู้จักอำเภอนี้ในแง่มุมของการเดินทางท่องเที่ยวบ้าง การไปท่องเที่ยวนำพาให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น การท่องเที่ยวทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น ได้มาเห็นกับตาว่าน่ากลัวดังข่าวเขาว่าหรือไม่ และนี่แหละคือบันนังสตา