เรื่องไม่ลับ"ตรอกเต๊า เยาวราช" หญิงงามเมืองกับการสร้างวัด
ในอดีต“ตรอกเต๊า เยาวราช” ซอย 8 เคยเป็นแหล่งโคมเขียวโคมแดงของ"หญิงงามเมือง"ที่เฟื่องฟู มีวัดจีนเก่าแก่ที่ซ่อนตัวอยู่ในนั้น และนี่คือ เรื่องเล่าการสร้างวัดจากเงินคณิกา
เรื่องเล่าสีเทาๆ หญิงงามเมืองที่ ตรอกเต๊า เยาวราช ซอย 8 เมื่อครั้งยังเป็นกรุงรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะช่วงรัชกาลที่ 4-5 อาชีพหญิงงามเมือง เป็นอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย สร้างรายได้ให้หลวงมากมาย มีการเก็บภาษีเป็นกอบเป็นกำที่เรียกว่าภาษีบำรุงถนน
“ในตรอกเต๊านี้เป็นห้องแถวยาว ติดต่อกันไปเกือบตลอดตรอก ทุกห้องแขวนโคมเขียวไว้หน้าห้องเป็นแถว และเวลาจวนค่ำจะเห็นพวกโสเภณี เขาจุดธูปราวกำมือหนึ่ง (ราว 20 ดอก)มาลนที่ใต้โคมเขียวหน้าห้อง...” กาญจนาคพันธุ์ บันทึกไว้ใน เมื่อวานนี้ ตอน...กรุงเทพฯเมื่อ 70 ปีก่อน
เรื่องเล่าตรอกเต๊า
ตรอกเต๊า เยาวราช ซอย 8 มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการค้าประเวณี สมัยนั้นเรียกกันว่า โรงรับชำเราบุรุษ
แม้จะเป็นอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ถูกเหยียดหยามอย่างมากจากสังคม ในสมัยนั้นหญิงงามเมืองไม่สามารถนั่งทานอาหารในภัตตาคาร หรือเข้าโรงหมอเมื่อป่วยไข้ได้ จึงต้องต้มยาสมุนไพรกินเอง ทั้งๆ ที่พวกเธอจ่ายภาษีไม่ต่างจากอาชีพอื่น
(วัดบำเพ็ญจีนพรต วัดจีนเก่าแก่ในตรอกเต๊า เยาวราช ซอย8 ย่านโคมเขียว-โคมแดงในอดีต)
(พระประธานตามคติมหายาน 3 องค์ในวัดบำเพ็ญจีนพรต ตรอกเต๊า เยาวราช)
ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลหญิงคนชั่ว เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลหญิงงามเมือง จนมาถึงช่วงรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลกลาง
แต่ในที่สุดอาชีพหญิงงามเมือง ก็กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการออก “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503”
นี่คือ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหญิงงามเมืองในตรอกเต๊า เยาวราช ...
(ป้ายบรรพบุรุษ ด้านบนวัดบำเพ็ญจีนพรต)
(ด้านในวัดบำเพ็ญจีนพรต)
วัดจีนย่านตรอกเต๊า เยาวราช
นอกจากเรื่องเล่าหญิงงามเมืองใน “ตรอกเต๊า” เยาวราช ซอย 8 ยังมีวัดบำเพ็ญจีนพรต (วัดย่งฮกยี่) วัดมหายานแห่งแรกของไทย โดยก่อนหน้านี้เป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ ในสมัยเริ่มสร้างพระนคร ช่วงรัชกาลที่ 1
หากมาเยาวราช ไหว้พระขอพร คนส่วนใหญ่จะรู้จักวัดเล่งเน่ยยี่มากกว่าวัดนี้ ทั้งๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กัน เมื่อเดินเข้าไปในตรอก วัดแห่งนี้จะรายรอบไปด้วยอาคารพาณิชย์ จึงไม่โดดเด่นเหมือนวัดเล่งเน่ยยี่
วัดบำเพ็ญจีนพรต เคยเป็นวัดร้าง สร้างโดยชาวจีน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาพระอาจารย์สกเห็ง จากประเทศจีนที่พำนักอยู่ คาดว่าน่าจะก่อนปี พ.ศ. 2414 ท่านได้ปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น“ย่งฮกยี่” และสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานนามวัดว่า “ วัดบำเพ็ญจีนพรต”
วัดแห่งนี้มีโครงสร้างไม้แบบจีน ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วยแบบจีน สันหลังคาก่ออิฐปั้นปูน เป็นจั่วปั้นลมตามแบบสถาปัตยกรรมจีน
ภายในประดิษฐานพระประธานตามคติมหายาน 3 องค์ คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้าองค์กลาง เป็นองค์พระศาสดาแห่งโลกปัจจุบัน ทางขวาของพระศากยมุนี คือพระอมิตาภะพุทธเจ้า ปรางประทานพร และทางซ้ายของพระศากยมุนีคือพระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า ประทานพรด้านสุขภาพ
ดังนั้นเวลามากราบไหว้พระประธานทั้งสาม จึงได้ทั้งพรอันประเสริฐ อยู่เย็นเป็นสุข มีโชคลาภ และสุขภาพดี
ส่วนด้านในวิหารประดิษฐานรูปเทพท้องถิ่นของจีนที่ทำหน้าที่เป็นธรรมบาลคุ้มครองรักษาวัด และด้านบนของอาคารมีห้องสมุดหนังสือเก่า ทั้งหนังสือธรรมะ หนังสือภาษาจีนเก่าแก่ และห้องเก็บป้ายไม้สลักชื่อดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว
(ลวดลายประตูที่ทำอย่างวิจิตรบรรจงจากเงินของหญิงงามเมือง)
(รูปหล่อยายแฟง ผู้สร้างวัดคณิกาผล เงินจากหญิงงามเมือง คนส่วนใหญ่นิยมมาขอพรเรื่องความรัก)
เงินสร้างวัดจากหญิงงามเมือง
ย้อนกลับมาที่เรื่องสำนักโคมเขียวโคมแดงที่ตรอกเต๊า ถ้าเป็นกิจการของยายแฟง จะมีที่นอนหมอนมุ้งขาวสะอาด สิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่าที่อื่น
และเมื่อโรงรับชำเราบุรุษกิจการเฟื่องฟู เหล่าคณิกาก็จะรวบรวมเงินมาสร้างวัดถึง 2 แห่ง ยายแฟง เจ้าของโคมแดงโคมเขียวรายใหญ่ในตรอกเต๊า สร้างวัดใหม่ยายแฟง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น“วัดคณิกาผล” มีรูปหล่อ “ยายแฟง” ภายในอาคารหลังอุโบสถวัดคณิกาผลซึ่งคนส่วนใหญ่ชอบมาขอพรเรื่องคนรักจากยายแฟงที่ทำธุรกิจหญิงบริการ และคนในวงการบันเทิงชอบมาขอพรเรื่องการงานและเงินๆ ทองๆ
ส่วนแม่กลีบลูกสาวยายแฟง ก็ชอบทำบุญ จึงได้สร้างวัดขึ้นอีกแห่งที่ตรอกเต๊า ตั้งชื่อว่า“วัดกันมาตุยาราม” ตามชื่อลูกชายของแม่กลีบ เป็นอีกวัดที่สร้างจากเงินหญิงงามเมือง สร้างในสวนดอกไม้ แล้วน้อมเกล้าฯถวายวัดแด่รัชกาลที่ 4
ในวัดแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น คือ เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา สร้างเลียนแบบธัมเมกขสถูปในประเทศอินเดีย มีแค่สองแห่งในประเทศไทย
ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ และซุ้มกรอบประดิษฐานพระพุทธรูป 37 ปาง บานประตูด้านในเขียนรูปเนื้อสัตว์ที่ห้ามทางพระวินัยมิให้ภิกษุฉัน ตามแนวทางธรรมยุตินิกาย อาทิ เนื้อสุนัข เนื้อช้าง และผลไม้บางชนิดที่ภิกษุห้ามฉัน
หากดูจากการตกแต่งภายในวัด บานหน้าต่างประดับมุก มีลวดลายไทยดอกพุดตาน ซึ่งเป็นลายมงคลที่ทำยากมาก นั่นแสดงว่า ธุรกิจหญิงงามเมืองในยุคนั้นสร้างรายได้ได้ดี จึงมีเงินเลือกใช้วัสดุสิ่งของที่ดีที่สุดเพื่อสร้างวัด
.................
จากกิจกรรมและภาพถ่าย KTC Press club บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด
(ซุ้มกรอบประดิษฐานพระพุทธรูป ในวัดคณิกาผล)