"กชกร วรอาคม"ภูมิสถาปนิกรักษ์โลก รักจะออกแบบ ต้องมองให้ไกลถึง 100 ปี
"กชกร"ภูมิสถาปนิกที่ออกแบบ โดยใส่ใจการร่วมกันของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ถ้าจะสวย ก็สวยให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และต้องคำนึงถึงการใช้งานที่ยาวไกล
ภูมิสถาปนิกหญิงชาวไทย ที่ติดอันดับดาวรุ่งแห่งปี 2562 สาขานวัตกรรม จากนิตยสารไทม์ ทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศนสวนสาธารณะหลายแห่งที่แปลกตา แตกต่างและไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย
กชกร วรอาคม คือคนที่เรากล่าวถึง เธอมีผลงานเด่นหลายโครงการ นั่นก็คือ สร้าง อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ สวนเกษตรลอยฟ้า กลางสยามสแควร์,
อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี และ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนลุมพินี
โดยผลงานของเธอให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
เธอเพิ่งไปรับรางวัล Creative Bureaucracy Festival Award Recipients 2022 ที่เยอรมัน เกี่ยวกับงานออกแบบที่ทำเรื่อง Climate Change
และช่วงวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 เธอได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเป็นปีที่สองที่บอตสวานา(ประเทศหนึ่งในแอฟริกาใต้)
ในงาน UNFCCC nap expo 2022 เกี่ยวกับ Climate Change adaptation และการพัฒนาแผนชาติในการรับมือของแต่ละประเทศ
จุดประกาย ชวนพูดคุยในแง่มุมสบายๆ ทั้งเรื่องงานออกแบบ และบางแง่มุมของชีวิต...
ผลงานการออกแบบทั้งหมด ประทับใจชิ้นไหนมากที่สุด
ไม่ได้เป็นคนที่มีผลงานเยอะ เพราะแต่ละงานใช้เวลาเยอะ บริษัท Land Process ตั้งมา 11 ปี โครงการที่ชอบมากที่สุด
ด้วยเหตุผลที่เป็นงานชิ้นแรก และเป็นงานชิ้นที่ทำให้คนรู้จักเรา ก็คือ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ เป็นงานที่ท้าทาย
ชอบเพราะเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกในโซนสยาม บวกกับการเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ ด้วย ก็เลยรู้สึกมีหลายอารมณ์ในนั้น มีทั้งสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมือง
เป็นสิ่งที่อยากให้เกิด เป็นแรงผลักดันในฐานะของจุฬาฯ ที่สอนเรามาให้อยู่ในอาชีพนี้ รู้สึกเป็นการตอบแทนบุญคุณ
และเราก็อยากผลักดันสถานที่นี้ไปในทาง Climate Change เริ่มประกวดแบบปี 2012 ตอนนั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่
คนทั้งโลกก็ยังไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้ งานชิ้นแรกใหญ่ขนาดนี้ได้ยังไง เราก็อยากจะบอกว่า ในเมื่อมันไม่เคยเกิดขึ้นมา 30 ปี
คนที่เคยออกแบบสวนสาธารณะคนสุดท้าย ป่านนี้ก็อายุ 60 แล้ว การได้ออกแบบสวนสาธารณะในเมืองมีโอกาสน้อยมาก
ดีใจที่จุฬาฯไว้วางใจให้เราเป็นส่วนหนึ่งของทีม
ภาพโดย : กอบภัค พรหมเรขา
ผลงานอันดับสองที่ชอบ?
ความจริงก็เป็นงานที่ติดๆ กัน ก็คือ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นความท้าทายของโจทย์ ที่แทบจะไม่มีงาน Landscape เลย
คนจะคิดว่าแลนด์สเคปคือสวน สุดท้ายทำไปทำมาได้ตึกมหึมา ตอนแรกจะทำสวนสาธารณะ ตอนหลังมีเรื่องงบประมาณ รัฐให้ทำสวนสาธารณะไม่ได้
งั้นก็สร้างตึกก็แล้วกัน หัวใจสลายประมาณหนึ่งแม้โจทย์เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็ทำออกมาสะท้อนความเป็น Climate Change ในนั้น
เพราะมันเป็นแรงขับเคลื่อนภายในของตัวเรา ไม่อยากจะบอกว่ามันเป็นแพสชั่น เพราะแพสชั่นมันก็แค่เพื่อตอบสนองตัวเอง มันเป็น Compassion มากกว่า
ภูมิใจมากที่ได้ดึงเอาเรื่องเกษตร อาหารในเมือง กลับเข้ามาใช้ในงานชิ้นนี้ผลงานที่สามที่ประทับใจก็คือ เรื่องคลอง ชอบมาตั้งแต่ตอนเป็นนิสิต
เพราะคลองเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของเมืองได้ เป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองได้ ทำไมคลองเหม็น เราเป็นเมืองน้ำ ทำไมคลองเป็นแบบนี้ มันถูกละเลยอะไรไป
พอมีโอกาสมาทำคลองช่องนนทรี ซึ่งยังไม่เสร็จนะคะ แต่ด้วยความไม่เสร็จ ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น เป็นคลองอยู่กลางเมืองมีกระแสที่คนไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่
มีเรื่องสงสัยเกี่ยวกับงบประมาณ แต่เราไม่ได้เกี่ยวกับตรงนั้นเยอะ ในฐานะภูมิสถาปนิก เราต้องจัดการกับคลองให้มันดีขึ้น แก้ไขที่ตัวตั้งต้นเลย เพราะเมืองเราเป็นเมืองคลอง
เราเป็น Venice of the East ทุกคนยังจำได้ไหม (หัวเราะ) คลองหายไปไหน แล้วทำไมเรายังพูดคำนั้นอยู่ มันกลายเป็นนิยายปรัมปรา จริงๆ
กชชอบผลงานหลายอันมาก ทำสระว่ายน้ำให้คนตาบอดที่อนุสาวรีย์ ก็ชอบมาก
เลือกเดินเส้นทางนี้ มีใครเป็นไอดอล
ตอนนั้นเรียนสายศิลป์ คุณแม่อยากให้เข้าบัญชี แล้วมาช่วยธุรกิจที่บ้าน แต่เราอยากเรียนสถาปัตย์ รู้สึกว่าคณะนี้ ถ้าเข้าไปเราจะมีความสุขในการเรียน
ชอบคณะนี้ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนในคณะ ชอบดูละครสถาปัตย์ ซูโม่ในสมัยนั้นก็เรียนคณะนี้ พอได้เรียนก็อินไปเรื่อยๆ มันตรงใจ เราชอบต้นไม้ ได้ไปเดินป่า
ถ้าไอดอลก็คงเป็น อาจารย์ เดชา บุญค้ำ ผู้ก่อตั้งแลนด์สเคปในประเทศไทย ออกแบบสวนเบญจสิริ สวนหลวงร.9 สวนสาธารณะหลายๆ แห่ง
และท่านเป็นอาจารย์ของเราด้วย ทึ่งที่ท่านได้ทำโปรเจคเหล่านี้ พอเราได้มาทำจริงๆ มันไม่ง่ายเลย เคยไปปรึกษาท่านตอนที่เราทำโครงการหนึ่ง
เจออุปสรรคเยอะมาก ไปนั่งร้องไห้กับอาจารย์ ท่านก็ปลอบว่า อือ มันก็แค่เป็นเรื่องตลกเรื่องหนึ่งนะ ตอนนั้นเราก็ยังเด็กเพิ่งได้งานชิ้นแรก มันก็ต้องมีคนเดินให้เราเห็นก่อน แล้วเราก็เดินในรูปแบบของเรา
รู้สึกว่าเป็นคนที่ทำงานเยอะมาก แบ่งเวลาพักผ่อนอย่างไรคะ
เราต้องใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพ แบ่งเวลาให้ครอบครัว มีเวลาอยู่คนเดียวบ้าง เพื่อที่จะตกผลึกความคิดอะไรหลายๆอย่าง ก็ไม่ได้เฟอร์เฟคนะคะ
แต่พออายุเริ่มเยอะ งานและหน้าที่รับผิดชอบก็เยอะขึ้นด้วย ครอบครัวและการพักผ่อนคือขุมพลัง ถ้าพลังชีวิตรวน ก็จะทำงานอย่างไม่มีความสุข เรารับผิดชอบหลายๆโครงการเป็นงานที่ยาก เราจำเป็นต้องมีพลัง
กชเป็น Single Mom มีลูกสาว 1 คน อายุ 14 ปีแล้ว อยากให้ลูกภูมิใจในตัวเรา อย่างที่เราภูมิใจในตัวแม่ของเรา อยากยืนได้ด้วยตัวเอง
ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีครอบครัว Support แต่ยังไงเราต้อง Support อีกชีวิตหนึ่ง เป็นพลังของแม่ การจัดสรรเวลาเป็นสิ่งเดียวที่เรามี
เพราะทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ต้องนอน 6-7 ชั่วโมง พอเรายิ่งอายุมากขึ้นเราต้องทำสิ่งที่ตรงกับเป้าหมายที่เราคิด กชว่าเวลามันแพงที่สุดในชีวิตคน
ช่วงเวลาที่พักผ่อนทำอะไรคะ
บางทีก็วาดสีน้ำมัน เมื่อก่อนกลัวสีน้ำมันมากไม่เคยใช้เลย ตอนนั้นเจอความเครียดบางอย่าง คือพ่อเสีย สิ่งนั้นช่วยดึงเอาบางสิ่งที่เราอาจจะไม่กล้าเผชิญหน้า วาดแบบใหญ่ๆด้วยนะ เล็กๆไม่ (หัวเราะ) อย่างเวลารับโปรเจคใหญ่ๆ รู้สึกว่าเราตัวเล็กควบคุมมันไม่ได้
ล่าสุดก็ไป “ขี่ม้า” พอดีน้องชายซื้อม้ามา เราก็ไปลองขี่ม้า เวลาอยู่บนหลังม้าต้องรู้สึกว่าฉันควบคุมเธออยู่นะ กิจกรรมที่ทำก็มีหลากหลายเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
ช่วยในเรื่องความกลัว ความเครียด และผ่อนคลายพักใจ งานอดิเรกคือการพักของเรา ตกม้าด้วย (หัวเราะ)น่ากลัวมาก ดีที่ไม่เป็นอะไร การขี่ม้ามันอยู่ที่ขณะนั้นเลย
เพราะม้าไม่เหมือนหมาที่เขาจะรู้สึกว่าเราเป็น Ownership แต่ม้าจะมีความเป็น Partnership ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะหักหลังเราเมื่อไหร่
จะดีดเราตอนไหน (หัวเราะ) สิ่งที่ได้จากการขี่ม้าก็คือ ได้ออกกำลังกาย ได้บริหารจิตใจ
เริ่มทำงานด้าน“ศิลปะบำบัด”ยังไง
คงเริ่มจากตัวเองนี่แหละคะ (หัวเราะ) คือชอบงานศิลปะ ชอบพลังสร้างสรรค์ อันนี้ไม่ต้องตั้งคำถาม คือชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว พอมาถึงจุดที่เรารู้สึกว่า
เออ....เราต้องการการบำบัด แต่เราต้องการแบบที่บำบัดคนอื่นไปด้วย ทำมานานแล้วตั้งแต่กลับมาอยู่เมืองไทย และยังไม่แน่ใจว่าจะเป็น นักภูมิสถาปนิกหรือเปล่าเริ่มตั้งแต่เรื่องการหย่าร้าง
การเป็น Single Mom คิดว่าลองเปลี่ยนบรรยากาศชีวิตดู เริ่มทำเรื่องศิลปะบำบัด เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วยังเป็นเรื่องใหม่มาก
เซ็ตทีมกับเพื่อนที่เป็นนักดนตรี เขียนขอทุน สสส. เข้าไปทำตามโรงพยาบาล ทำงานวิจัยร่วมกับศิริราช ตอนนี้ก็ยังทำอยู่นะคะ
เวลาทำงานเครียดๆ มีอารมณ์ “วีน” บ้างไหมคะ
อุ๊ยปกติค่ะ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่มักจะเป็นกับทีมที่เรามีความสนิท เชื่อใจประมาณหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็จะรู้กันว่าความตั้งใจของเราคืออะไร คงไม่ได้วีนเกินเบอร์นะคะ
น่าจะเป็นการพูดตรงมากกว่า ว่าเราต้องการเช่นนี้ ลูกค้าต้องการเช่นนี้ แล้วก็อธิบายให้ทีมที่อาจจะไม่ได้ไปฟังลูกค้ากับเรา ปกติจะให้เขาลองทำก่อนแล้วค่อยๆปรับจูน
ถึงจุดที่จะต้อง Direct หรือวีน (หัวเราะ) ก็ต้องพูดคุยอธิบาย แต่ไม่ใช่วีนโดยไม่มีเหตุผล ไม่ใช่วีนแล้วเก็บไปทะเลาะ เราทำงานกับฝรั่งเยอะ
ชอบในความตรงไปตรงมาของไอเดีย การทำงาน การสื่อสาร ถ้าถกเถียงกันจบบนโต๊ะ ก็คือจบ ทีมเราเล็กๆ 12 คน แต่งานไม่เล็กนะ ต้องมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงมาก
งานด้านภูมิสถาปัตย์ที่ทำอยู่ถือว่าเป็นงานใหญ่ ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม สิ่งแวดล้อม คนที่จะทำได้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรคะ
การทำงานสาธารณะ เราต้องสื่อสารกับคนเยอะหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ อย่างชุมชนแออัด เราจะไปสร้างพื้นที่สาธารณะ แล้วให้เขาย้ายออก
หรือต้องไปคุยเพื่อของบประมาณ หรือไปเปลี่ยนใจอบต. ว่าแบบนี้ไม่โอเคนะ ก็เลยต้องใช้หลักการและวิธี
คุณสมบัติข้อแรกคือเราต้องรักมนุษย์ รักชีวิต รักผู้คน ถึงจะทำในสิ่งที่เราเชื่อได้ เราเชื่อว่ามันดี ต้องใช้ความจริงใจสูงมาก และต้องเป็นคนที่มีความอดทนสูงด้วย
ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองที่ดีกว่านี้ได้ใช่ไหม
ใช่ค่ะ โดยที่ทุกคนต้องกะเทาะเปลือก ที่หุ้มตัวเองไว้ออกมาให้ได้ เช่น คลองอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักระบายน้ำ คนก็เข้าใจว่าคลองมีไว้ระบายน้ำเสีย กับน้ำท่วม
เวลาพูดถึงสิ่งแวดล้อม คนก็นึกถึงต้นไม้ตัดแต่ง ซึ่งมันอาจจะรวมคลองเข้าไปด้วยก็ได้ หากทุกคนออกจาก Comfort Zone ของตัวเองมาช่วยกัน
ก็จะสร้างเมืองให้ดีกว่านี้ได้ กชเพิ่งไปเยอรมัน รับรางวัล Creative Bureaucracy Festival Award Recipients2022 ซึ่งมีคนรับรางวัลแค่ 3 คน คนแรกเป็นรัฐมนตรีทางด้านดิจิทัลของยูเครน อายุยังน้อย
อีกคนเป็นตำรวจ ที่มีกรณีคนผิวดำถูกตำรวจฆ่า คนนี้เขาจึงตั้งระบบตำรวจใหม่ คนที่สามก็เป็นเรา ได้เพราะทำงานกับภาครัฐเยอะ แล้วสร้างภูมิสถาปนิก สวนสาธารณะ อุทยาน
ที่เราได้เพราะเรื่อง Climate Change เราไม่ใช่ภาครัฐ แต่ทำงานกับภาครัฐอย่างไรให้ Creative Result ซึ่งมันยากมาก แต่ด้วยความเชื่อว่าทุกคนอยากให้บ้านเมืองดี ทำให้เรามีพลังทำงานได้สำเร็จ
Climate Change เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มาก และรอไม่ได้แล้ว ?
ใช่ ทุกคนต้องออกมาช่วยกัน กล้าออกมาจาก Silo (ทำงานแบบตัวใครตัวมัน ไม่ค่อยสื่อสารกัน) ระบบแต่ละหน่วยงาน กชเรียกมันว่า Silo
อย่างเยอรมันเขาเอา Climate Change รวมกับกระทรวงพลังงาน เพราะไม่คิดว่ามันแค่สิ่งแวดล้อม เอา Climate Change ไปอยู่กับไฟแนนซ์ ให้นักการเงินมาคิดแก้ปัญหา
เพราะเอานักสิ่งแวดล้อมมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนานแล้ว ยังไม่เห็นผลClimate Change เป็นเรื่องโอกาสทางการงาน ปลูกข้าวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว น้ำท่วม คนที่อยู่ริมคลอง 7 พันครัวเรือนไม่มีที่อยู่
สิ่งแวดล้อมแก้ไม่ครอบคลุมปัญหา ดูเหมือนเป็นหน่วยงานที่เล็กเกินไป เพราะเราต้องการนักการเงินมาช่วยด้วย ต้องการความร่วมมือจากคนหลากหลายสาขา
อะไรที่เกี่ยวกับ Climate Change บ้าง ก็คือ อาหาร ขยะ อากาศ แฟชั่น ใช้พลังงานเยอะมาก ทำไมเราต้องทะลายไซโล ทำไมเราต้องออกจากกรอบ
เพราะกรอบมันพอกระบบอยู่วันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 กชจะไปพูดที่บอตสวานา (Bostwana ประเทศหนึ่งในแอฟริกาใต้)
ในงาน UNFCCC nap expo 2022 เกี่ยวกับ Climate Change adaptation และการพัฒนาแผนชาติในการรับมือของแต่ละประเทศ ได้รับเชิญเป็น Keynote Speaker เป็นปีที่สอง
คิดว่าจะพูดเรื่องนี้ มีรัฐบาลหลายประเทศมาฟัง เขาเชิญเพราะเห็นผลงานที่เราทำในบ้านเรา ก็เลยทึ่ง เพราะเป็นปัญหาที่ยังไม่มีใครแก้ได้
เรื่องน้ำท่วมกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ไทยเราคิดก่อน ทำก่อน เราน่าจะกลายเป็นมหาอำนาจในด้านนี้ได้เลยนะ
คิดว่าในกรุงเทพฯ มีอะไรที่ต้องแก้ไขเป็นอันดับแรก
เยอะเลย คลองเรายังมีอีก 1,600 คลอง กชอยากจะให้คนมองเรื่องคลอง ไม่ใช่ที่ระบายน้ำ เหมือนเขาให้ชีวิตเรา ให้ชีวิตเมือง ไม่ใช่เราจะใช้เขายังไง
ก็ยังอยากจะโฟกัสเรื่องคลอง เรื่องพื้นที่สีเขียวนี่แหละคะ คิดว่ายังไม่พอ ขาดอีกเยอะมาก นี่แค่เริ่มก้าวแรกเองนะ ต้องมีก้าวต่อไป แต่ก็ไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว
ต้องช่วยกันก้าว จะได้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เช่นคลองแสนแสบจะสะอาดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะตัดกับคลองผดุงกรุงเกษม ถ้าคลองผดุงเน่าอยู่ก็เหมือนเส้นเลือดในตัวเรา
จะแก้แค่เส้นเดียวไม่ได้ ต้องแก้ทั้งระบบ เพราะคลองเชื่อมกันหมด ก่อนจะแก้ไข ก็ควรหยุดสร้างปัญหาให้คลองก่อน หยุดทิ้งขยะ เราแทบจะรื้อเมืองกันเลย
เราอาจจะไม่มีเงินเยอะที่จะทำพร้อมๆ กัน แต่เราพร้อมจะเริ่มหรือยังถ้าเราคิดว่าจะไม่ย้ายกรุงเทพไปไหน ต้องยอมรับว่าน้ำก็ต้องท่วมนะ ไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าฯกทม.คนใด ใครมาก็ท่วมเหมือนเดิม
การแก้ปัญหาคือเราจะอยู่กับน้ำท่วมได้อย่างไร มากกว่า ถ้าเราเริ่มแก้หนึ่งปมอย่างจริงจัง มันจะไปกระทบปมอื่นๆเอง ถือเป็นก้าวแรกของการแก้ปัญหา
ขยะก็เหมือนกัน เราต้องเริ่มที่ไม่เพิ่มขยะก่อน จากที่ดื่มน้ำวันละหลายๆขวด ถ้าเราพกกระติกก็ไม่เพิ่มขยะแล้ว แม่ค้าจะให้ถุงพลาสติก ถ้าเราไม่เอา ก็ไม่เพิ่มขยะ
"กชกร วรอาคม" ภูมิสถาปนิกหญิงชาวไทย