ทำความรู้จัก "บุญข้าวประดับดิน" ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน

ทำความรู้จัก "บุญข้าวประดับดิน" ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน

ทำความรู้จัก "บุญข้าวประดับดิน" คืออะไร? ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน ซึ่งในปี 2565 นี้ตรงกับวันไหน เช็กเลยที่นี่!

"บุญข้าวประดับดิน" บุญเดือนเก้า ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน โดยในปี 2565 นี้ จะตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม 2565 เป็นประเพณีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว เปรต และสัตว์นรกทั้งหลาย ข้าวประดับดินจะประกอบด้วย ข้าว อาหารคาวหวาน หมากพลู และบุหรี่ ซึ่งมักจะห่อหรือนำใส่กระทงไปวางไว้ตามพื้น หรือแขวนไว้ตามต้นไม้ในบริเวณวัด

 

 

ประวัติบุญข้าวประดับดิน มีอยู่ว่าเมื่อครั้งสมัยพุทธกาลมีญาติของพระเจ้าพิมพิสารไปกินอาหารของพระสงฆ์ ตายไปแล้วจึงเกิดเป็นเปรต เมื่อพระเจ้าพิมพิสารไปถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์แล้ว มิได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ ถึงเวลากลางคืนจึงพากันมาส่งเสียงรบกวนเพื่อขอส่วนบุญ พระเจ้าพิมพิสารจึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแจ้งเหตุให้ทราบ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบจึงถวายสสังฆทานแล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกกุศลไปให้ญาติพี่น้อง จึงทำให้เกิดเป็นประเพณีบุญข้าวประดับดินขึ้น

 

พิธีทำบุญข้าวประดับดิน จะมีขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ญาติโยมนิยมถวายทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ และมีการเตรียมอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ โดยห่อด้วยใบตองหรือใส่กระทง รุ่งเช้าในวันแรม 14 ค่ำ เวลาประมาณ 4 ถึง 5 นาฬิกา นำห่อหรือกระทงที่เตรียมไว้ไปถวายหรือแขวนในบริเวณวัด ในการวางสิ่งของเพื่ออุทิศให้เปรตหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วดังกล่าว บางท้องถิ่นอาจทำก่อนถวายทานก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวประดับดิน

 

ทำความรู้จัก \"บุญข้าวประดับดิน\" ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน

 

สำหรับวิธีไหว้ในพิธีกรรมบุญข้าวประดับดิน มีดังนี้

 

1. วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ ด้วยการห่อด้วยใบตองขนาดเท่าฝ่ามือ และแบ่งไว้ 4 ส่วน ดังนี้ 
 

  • ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูกันภายในครอบครัว
  • ส่วนที่สองแจกให้ญาติพี่น้อง
  • ส่วนที่สามอุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว โดยญาติโยมจะห่อข้าวน้อย
  • ส่วนที่สี่นำไปถวายพระสงฆ์ ในส่วนที่สาม
     

 

2. วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่เวลาตี 4 เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่างๆ ซึ่งการวางแบบนี้เรียกว่าการวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัดจะเรียกว่า การยาย (วางเป็นระยะๆ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบๆ ไม่มีการตีฆ้องหรือตีกลองแต่อย่างใด

 

3. หลังจากวางเสร็จแล้วชาวบ้านจะกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่งในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้นชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

 

สำหรับ ข้าว อาหารคาวหวาน ที่ห่อหรือใส่ในกระทงนำไปวางไว้บนพื้นหรือแขวนตามวัด มีดังนี้

 

  • ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วปั้นเป็นก้อนเล็กๆขนาดเท่าหัวแม่มือ 1 ก้อน
  • เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปเล็กน้อย ถือว่าเป็นอาหารคาว
  • กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่นๆลงไป (ถือเป็นอาหารหวาน)
  • หมากหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ

 

ทำความรู้จัก \"บุญข้าวประดับดิน\" ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน

 

ข้อมูลจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด