ไขปริศนาจาก“ฟัน” พิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว

ไขปริศนาจาก“ฟัน” พิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว

แม้การพิสูจน์หลักฐานทาง"นิติทันตวิทยา"ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศเราต้องมี ปัจจุบันทั้งประเทศมีนิติทันตแพทย์ 24 คน แบบนี้น้อยไปไหม...

 “การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของผู้เสียชีวิตจะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพศพในตอนนั้น ถ้าสภาพศพเน่ามาก เหลือเฉพาะโครงกระดูก เก็บลายนิ้วมือไม่ได้ แต่พอจะใช้วิธีการเก็บ DNA หรือตรวจฟันได้” ผศ.ทญ.ดร.พิสชา พิทยพัฒน์ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว 

นิติทันตวิทยา เป็นหนึ่งในสามวิธีพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลทันตกรรมก่อนการเสียชีวิตเปรียบเทียบกับข้อมูลหลังเสียชีวิต

“การเปรียบเทียบฟันก่อนและหลังเสียชีวิต เทียบเท่ากับการพิสูจน์ด้วยดีเอ็นเอและลายนิ้วมือ และการตรวจหลักฐานจากฟัน ราคาจะถูกกว่าการตรวจดีเอ็นเอ ฟันเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษเฉพาะบุคคล และเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่เสียชีวิตอย่างแม่นยำและคลาดเคลื่อนน้อย"

พิสูจน์จาก“ฟัน”

"ฟัน"เป็นอวัยวะที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย เนื่องจากปริมาณแร่ธาตุที่สะสมในตัวฟันมีสูงกว่าส่วนอื่นๆ แม้แต่กระดูก นอกจากนี้ฟันยังคงทนต่อความเน่าเปื่อย 

ไขปริศนาจาก“ฟัน” พิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว (การเรียนการสอนในห้องเรียน)

แม้ว่าเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปากและรอบๆ รากฟันจะเน่าเปื่อย ทำให้ฟันอาจหลุดร่วงออกจากขากรรไกร แต่ตัวซี่ฟันเองจะไม่สูญสลายไปจากกระบวนการเน่าเปื่อย 

ฟันจึงเป็นหลักฐานที่ยังหลงเหลืออยู่ เพื่อใช้พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่เสียชีวิตและไม่ทราบว่าเป็นใคร  ไม่ว่ากรณีไฟไหม้ เครื่องบินตก ฆาตกรรม รวมถึงเสียชีวิตจากคลื่นยักษ์สึนามิ 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตรวจฟันของแต่ละบุคคลเทียบเท่าการตรวจดีเอ็นเอและการตรวจลายนิ้วมือ เนื่องจากลักษณะที่จำเพาะเจาะจงของคนๆ นั้น ไม่ว่ากรณีการอุดฟัน ครอบฟัน รักษารากฟัน ฯลฯ

สิ่งสำคัญคือข้อมูลทันตกรรม

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทันตกรรมของแต่ละคน ไม่ว่าสภาพในช่องปาก (Dental status) จะมีความสำคัญในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล การเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังเสียชีวิตว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ และวิธีการนี้ยังสามารถประเมินอายุผู้เสียชีวิตได้ด้วย 

อาจารย์พิสชา บอกว่า การพิสูจน์ด้วยนิติทันตวิทยา จะถ่ายฟันเป็นฟิลม์เอ็กซเรย์ก่อน เพื่อนำมาดูและค้นหาความจริง

"ปกติคนที่อายุน้อยๆ การสร้างรากฟันจะไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะฟันกรามซีกสุดท้ายที่เป็นฟันคุด โดยเฉลี่ยรากฟันจะสร้างตัวเองสมบูรณ์ไม่เกินอายุ 23 ปี มีค่าในการคำนวณว่าคนๆ นี้จะอายุเท่าไร เพราะมีค่าเฉลี่ยที่ศึกษาไว้แล้วว่า ฟันซีกนี้จะขึ้นอายุเท่าไร"       

เมื่อนิติทันตแพทย์ตรวจฟันและอวัยวะในช่องปากเสร็จสิ้น อาจมีการถอนฟัน เพื่อใช้ในการประมาณอายุ หรือเพื่อใช้ในการตรวจดีเอ็นเอแล้วแต่ความจำเป็น

ไขปริศนาจาก“ฟัน” พิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว

(ภาพเอ็กซเรย์ฟัน เพื่อใช้ตรวจหาเอกลักษณ์บุคคล)

การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีนิติทันตวิทยา สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ข้อมูลสภาพช่องปากก่อนเสียชีวิต หรือ AM data อาจได้มาจากญาติพี่น้องที่เสียชีวิต หรือจากคลีนิคทันตกรรม  ซึ่งมีความสำคัญมาก เพื่อนำมาใช้ในการเปรียบเทียบ หากไม่มีข้อมูลส่วนนี้ก็จะไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนของผู้เสียชีวิตได้       

“กรณีฆ่าหั่นศพหรือไฟไหม้ หากต้องพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ถ้าไม่มีข้อมูลทางทันตกรรมมาเปรียบเทียบ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ประเทศเราข้อมูลหลักฐานทันตกรรมของประชาชนติดตามค่อนข้างยาก ไม่ค่อยเป็นระบบ ทางการแพทย์ก็กำลังทำเรื่องนี้เพื่อเชื่อมโยงกัน"

ประเมินอายุบุคคลจากฟัน

วิธีการของนิติทันตวิทยา สามารถนำมาใช้ประเมินอายุบุคคล ทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตแล้ว ซึ่งมีประโยชน์ในการค้นหาบุคคลสูญหาย หรือพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นบรรลุนิติภาวะหรือยัง

ส่วนการตรวจพิสูจน์รอยกัด เพื่อนำมาเป็นหลักฐานมัดตัวคนร้าย อาจารย์พิชญา บอกว่า ในอเมริกามีการพิสูจน์รอยกัดตามร่างกายและวัตถุสิ่งของ 

"อาจเป็นหลักฐานในคดีว่า คนที่กัดคนนั้นเป็นใคร ถ้ามีรอยกัดตรงนั้นให้ตรวจดีเอ็นเอร่วมด้วย เพราะมีน้ำลายที่สร้างพันธุกรรม สามารถตรวจดีเอ็นเอได้"

ปัจจุบันจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยาในประเทศนี้มีประมาณ 24 คน เมื่อเทียบกับจำนวนทันตแพทย์ทั่วประเทศกว่า 20,000 คน และจำนวนประชากรกว่า 65 ล้านคนจึงไม่เพียงพอสำหรับประเทศไทย

ไขปริศนาจาก“ฟัน” พิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว ผศ.ทญ.ดร.พิสชา พิทยพัฒน์ 

3 วิธีพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิทยาศาสตร์ 

1 การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยDNA

ต้องเก็บตัวอย่าง DNA ของผู้ที่เสียชีวิตไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ เช่น เก็บ DNA จากอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของผู้เสียชีวิต ซึ่งมีส่วนของ DNA เหลืออยู่ หรือเปรียบเทียบกับ DNA ของพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติสายตรง

2 การตรวจด้วยลายนิ้วมือ

เมื่อเก็บลายนิ้วมือจากผู้เสียชีวิตแล้วจะนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลลายนิ้วมือในฐานข้อมูล หรือไปเก็บลายนิ้วมือจากบ้านพักอาศัยของผู้เสียชีวิต

3 การพิสูจน์ด้วยวิธีนิติทันตวิทยา

คือการตรวจฟันผู้เสียชีวิต ซึ่งต้องหาข้อมูลการรักษาทางทันตกรรมก่อนเสียชีวิต ประวัติการทำฟันที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เพื่อมาเปรียบเทียบกับสภาพฟันตอนที่เสียชีวิตแล้วว่าตรงกันหรือไม่