เปิดเรื่องราว "คอร์กี้" จากหมาเลี้ยงวัว สู่สุนัขทรงเลี้ยงของ "ควีนอังกฤษ"
ทำความรู้จักสุนัขพันธุ์ “คอร์กี้” สัตว์เลี้ยงแสนรักของ “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” ที่เดิมทีใช้เป็นสุนัขต้อนฝูงสัตว์ พร้อมเผยที่มาทำไมควีนถึงได้หลงรักสุนัขสายพันธุ์นี้มากว่า 60 ปี
กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกสำหรับภาพความน่าเอ็นดูของ มิค (Muick) และ แซนดี (Sandy) สุนัขพันธุ์คอร์กี้ 2 ตัว สุดท้ายของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ที่เฝ้ารอขบวนเคลื่อนหีบพระบรมศพของควีนอยู่หน้าลานหน้าปราสาทวินด์เซอร์ เพื่อรอส่งเจ้านายของพวกมันเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา
กรุงเทพธุรกิจ ชวนทำความรู้จัก ที่มาที่ไปของสุนัขแสนฉลาด หนึ่งในสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรอย่าง “คอร์กี้” พร้อมสาเหตุว่าทำไมควีนเอลิซาเบธที่ 2 ถึงได้หลงรักและทรงเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์นี้มาตลอดร่วม 6 ทศวรรษ
“เวลช์ คอร์กี้” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “คอร์กี้” เป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่มีต้นกำเนิดมาจากทางตอนใต้ของแคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร ใช้สำหรับในการดูแลและต้อนฝูงปศุสัตว์ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เนื่องจากพวกมันตัวเตี้ยทำให้สามารถหลบหลีกการดีดขาหลังของสัตว์ใหญ่ ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถงับกีบหรือข้อเท้าของสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้พวกมันเดินต่อไปตามทาง หรือที่เรียกว่า Heelers
สำหรับชื่อของคอร์กี้นั้น มาจากการรวมคำในภาษาเวลส์ 2 คำ คือ คอร์ (cor) ที่แปลว่า แคระ และ กี้ (gi) ที่แปลว่า สุนัข ซึ่งเป็นการอธิบายลักษณะทางกายภาพของสุนัขไม่ได้เป็นการดูหมิ่นแต่อย่างใด
ในปัจจุบัน คอร์กี้ มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์หลัก คือ เพมโบรก เวลช์ คอร์กี้ (Pembroke Welsh Corgi) และ คาร์ดิแกน เวลช์ คอร์กี้ (Cardigan Welsh Corgi) โดยเพมโบรกที่จะมีลักษณะคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก หูตั้งชัน หางกุด หรือ หางสั้น ไม่เกิน 2 นิ้ว ส่วนคาร์ดิแกนนั้นจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเพมโบรกทั้งความสูงและน้ำหนัก หูกว้าง หางยาว กระดูกหนา มีขนปกคลุม 2 ชั้น อย่างไรก็ตามเจ้าของฟาร์มมักนิยมตัดหางคอร์กี้ตามค่านิยมดั้งเดิม ซึ่งในปัจจุบันเป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายประเทศ
นักประวัติศาสตร์ระบุว่า คอร์กี้ทั้ง 2 สายพันธุ์มีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่สันนิษฐานว่าอาจจะจากคนละพื้นที่ สำหรับเพมโบรกนั้นอาจมีต้นกำเนิดมาจากสายพันธุ์สุนัขต้อนฝูงสัตว์แถบยุโรปกลาง โดยเฉพาะในเยอรมนี ซึ่งอาจจะมีสายพันธุ์ดั้งเดิมจาก เยอรมัน ฮาวด์ (German Hound) หรือ ดัชชุน ขณะที่คาร์ดิแกนนั้นอาจจะมีต้นกำเนิดมาจากแถบกลุ่มประเทศนอร์ดิก เนื่องจากมันมีขนาดใกล้เคียงกับ สวีดิช ฟาลฮุนด์ (Swedish Vallhund) สุนัขท้องถิ่นในภูมิภาคสแกนดินีเวียในปัจจุบัน
ในช่วงศตวรรษที่ 19 เกษตรกรหันมาเลี้ยงแกะแทนวัวกันมากขึ้น ซึ่งลักษณะของคอร์กี้นั้นไม่เหมาะสมกับการเลี้ยงแกะ ทำให้คอร์กี้ถูกปลดประจำการและการเป็นสัตว์เลี้ยงแทน
ปี 2468 คอร์กี้ถูกนำมาจัดแสดงในงานแสดงสัตว์ในแคว้นเวลส์ ด้วยนิสัยน่ารัก ขี้เล่น และเป็นมิตรกับมนุษย์ของพวกมัน ทำให้ผู้คนตกหลุมรักได้ไม่ยาก จนกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่สิ่งที่ทำให้คอร์กี้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านยอดนิยม มาจากที่คอร์กี้ได้กลายเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” แห่งสหราชอาณาจักร
ความรักของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังมียศเป็นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ มีพระชันษาเพียง 7 ปี ที่ได้เห็นพระบิดาและพระมารดาเลี้ยงสุนัขคอร์กี้แล้วทรงอยากเลี้ยงตามบ้าง ซึ่งในตอนนั้นคอร์กี้ยังไม่ได้เป็นที่นิยมในอังกฤษ แต่เริ่มนิยมในเวลส์แล้ว โดยสุนัขตัวแรกของครอบครัวมีชื่อว่า “ดูกี้”
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าดูกี้
ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปี 2479 สำนักพระราชวังตีพิมพ์หนังสือ “Our Princesses and Their Dogs” ที่รวบรวมภาพของเจ้าหญิงเอลิซาเบธและสุนัขทรงเลี้ยง ทำให้ประชาชนได้เห็นมุมน่ารัก ความอบอุ่นที่เหมือนกับปุถุชนคนธรรมดาของราชวงศ์อังกฤษ และกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เพิ่มความนิยมให้แก่ราชวงศ์ จากเดิมที่ไม่มีใครเคยได้เห็นมุมนี้ของราชวงศ์มาก่อน เนื่องจากทางราชสำนักเห็นว่าการเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นเรื่องส่วนพระองค์
ต่อมาในปี 2487 ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงได้รับสุนัขพันธุ์เพมโบรก เวลช์ คอร์กี้ เพศเมีย ชื่อว่า “ซูซาน” เป็นของขวัญเมื่อมีพระชนมายุครบ 18 ปี หลังจากนั้น ซูซานได้กลายเป็นสุนัขคู่ใจของควีน ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ อยู่ร่วมในทุกช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของพระองค์ รวมถึงในวันสำคัญอย่างวันเข้าพิธีอภิเษกสมรส และเดินทางไปฮันนีมูนกับเจ้าชายฟิลิป
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับซูซาน สุนัขทรงเลี้ยงตัวแรก
มาถึงตอนนี้ คอร์กี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากชาวอังกฤษตัวเลขผู้ลงทะเบียนเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์นี้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่หนังสือตีพิมพ์ จนถึงปีที่รับพระราชทานซูซานเป็นสัตว์เลี้ยงส่วนพระองค์
หลังจากที่อยู่ด้วยกันราว 15 ปี ซูซานได้ตายจากไป ท่ามกลางความโศกเศร้าของควีนเอลิซาเบธที่ 2 แม้ว่าซูซานจะจากไป แต่ความรักของควีนที่มีต่อสุนัขพันธุ์นี้ไม่ได้จางหายไป เพราะกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา พระองค์ทรงเลี้ยงสุนัขคอร์กี้กว่า 30 ตัว รวม 14 รุ่นที่สืบเชื้อสายมาจากซูซาน
อย่างไรก็ตาม สำนักพระราชวังอังกฤษ ได้หยุดเพาะพันธุ์คอร์กี้ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน เนื่องจากควีนเอลิซาเบธไม่ต้องการทอดทิ้งสุนัขทรงเลี้ยงไว้ให้อยู่โดยไม่มีพระองค์ หากพระองค์เสด็จสวรรคต
อีกทั้งคอร์กี้ของควีนยังทำให้เกิดสุนัขชนิดใหม่ที่เรียกว่า “ดอร์กี” (Dorgi) โดยบังเอิญ จากการผสมพันธุ์กันระหว่าง “ไทนี” สุนัขคอร์กี้ของพระองค์ กับสุนัขพันธุ์ดัชชุนของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา ที่มีชื่อว่า “พิปกิน” ซึ่งดอร์กีแต่ละตัว มีลักษณะแตกต่างกันออกไป บางตัวมีหูตั้งเหมือนคอร์กี้ ส่วนบางตัวก็มีหูห้อยลงมา แต่ทั้งหมดมีหางยาวและขนาดตัวเล็กกว่าสุนัขคอร์กี้สายพันธุ์แท้
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับแคนดี้ ดอร์กี้ที่สืบเชื้อสายมาจากซูซาน
นอกจากนี้ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงรับเลี้ยงคอร์กี้จากเจ้าของที่เสียชีวิตอีกด้วย ครั้งหนึ่งทรงรับเลี้ยงสุนัขคอร์กี้ 3 ตัวของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนีของพระองค์ ที่สวรรคตในปี 2545 รวมถึงรับเลี้ยงสุนัขของพระสหายที่เคยช่วยพระองค์เพาะพันธุ์สุนัขคอร์กี้ด้วย
ในปัจจุบันยังเหลือสุนัขทรงเลี้ยง “แคนดี” ดอร์กี้ที่สืบเชื้อสายมาจากซูซาน และคอร์กี้ 2 ตัวที่ชื่อ มิก และ แซนดี ซึ่งเป็นของขวัญจากเจ้าชายแอนดรูว์และพระธิดา ซึ่งเจ้าชายแอนดรูว์จะทรงรับสุนัขทั้งสองกลับไปเลี้ยง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าแคนดีจะตามไปอยู่ด้วยกันหรือไม่
ด้วยนิสัยที่ฉลาด ไม่กลัวคน เป็นมิตร ชอบเข้าสังคม ทำให้ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใช้คอร์กี้ช่วยในการบรรเทาความทุกข์ เมื่อพระองค์มีเรื่องที่ไม่สบายใจมักจะพาเหล่าคอร์กี้ออกไปเดินเล่น และใช้เวลาอยู่กับพวกมันเสมอ โดยทรงเรียกคอร์กี้ว่า “ยัยหนู” (the girls) และ “ตาหนู” (the boys) ซึ่งไม่เพียงแต่เยียวยาพระองค์เอง แต่ยังช่วยรักษาบาดแผลภายในจิตใจของผู้อื่นด้วย
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับเหล่าตาหนูและยัยหนูของพระองค์
นพ.เดวิด น็อตต์ ศัลยแพทย์ทหารผู้เคยปฏิบัติภารกิจในซีเรีย เปิดเผยว่า ระหว่างการเข้าเฝ้าฯ พระองค์ทรงสังเกตได้ว่าเขาไม่สามารถสนทนากับพระองค์ได้ เนื่องจากภาวะเครียดรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) ที่เขากำลังประสบอยู่ ในระหว่างร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่พระราชวังบักกิงแฮม
น็อตต์เล่าว่า ควีนรับสั่งให้มหาดเล็กพาเหล่าคอร์กี้เข้ามา จากนั้นพระองค์และเขาให้อาหารเหล่าสุนัขทรงเลี้ยงและนั่งเล่นกับพวกมันราว 20 นาที “พระองค์ทำเช่นนั้นเพราะทรงรู้ว่าจิตใจของผมบอบช้ำขนาดไหน” ศัลยแพทย์ทหารกล่าวกับ BBC
หนึ่งในภาพที่ผู้คนคุ้นชินเมื่อนึกถึงควีนเอลิซาเบธที่ 2 คือ เหล่าบรรดาสุนัขหูตั้ง ขาสั้นแสนน่ารัก ทำให้คอร์กี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์เมื่อคนนึกถึงสหราชอาณาจักร เห็นได้จากเกม Pokémon Sword and Shield ที่เล่าเรื่องของภูมิภาคกาลาร์ (Galar) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกาะอังกฤษ ยังต้องมี “วันปาจิ” (Yamper) เป็นโปเกมอนหมาคอร์กี้ธาตุไฟฟ้าที่แสนขี้เล่น และเป็นที่รักของทุกคน
วันปาจิ (Yamper) เป็นโปเกมอนหมาคอร์กี้
เนื่องด้วยพระชนม์ชีพที่ยืนยาวของควีน ทำให้ภาพลักษณ์ของคอร์กี้กลายเป็นสุนัขของผู้สูงอายุ และทำให้ช่วงทศวรรษที่ 1990 และในปี 2557 คนรุ่นใหม่ในอังกฤษไม่นิยมเลี้ยงคอร์กี้ โดยผู้จดทะเบียนเลี้ยงคอร์กี้รายใหม่เพียง 274 ตัวเท่านั้น ส่งผลให้คอร์กี้อยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์
เมื่อซีรีส์ “The Crown” ที่เล่าพระราชประวัติของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ฉายในปี 2559 ทาง Netflix ทำให้คนหนุ่มสาวกลับมาสนใจคอร์กี้ สุนัขทรงเลี้ยงอีกครั้ง และได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คอร์กี้พ้นจากสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ โดยข้อมูลจาก The Kennel Club องค์กรเพื่อสวัสดิภาพสุนัขในสหราชอาณาจักรระบุว่า จำนวนผู้สนใจเลี้ยงสุนัขคอร์กี้เพิ่มขึ้น 22% ในช่วงที่ The Crown ซีซันที่ 2 ออกอากาศ
ถึงแม้ว่ารัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ความรักของพระองค์ที่มีต่อคอร์กี้จะยังคงเป็นที่จดจำตราบนานเท่านาน และหวังว่าความน่ารัก น่าเอ็นดูคอร์กี้จะทำให้พวกมันได้รับความนิยมต่อไปได้ ไม่ต้องตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์อีก
ที่มา: Baanlaesuan, BBC, CNN, Independent, Vanityfair, Washingtonpost