“ธง” เหนือหีบพระบรมศพ “ควีนเอลิซาเบธ” เหตุใดไม่ใช่ธง Union Jack
ทำความเข้าใจ “ธง” เกียรติยศ เหนือหีบพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ธงนี้สร้างขึ้นเมื่อใด และความหมายสัญลักษณ์บนผืนธง
นับตั้งแต่การเคลื่อน หีบพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร จากพระตำหนักบัลมอรัลทางตอนเหนือของสกอตแลนด์ด้วยขบวนรถยนต์มายังพระราขวังโฮลีรูดในเอดินบะระ เป็นระยะทางกว่า 175 ไมล์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2565
จากนั้น “กองทัพอาการหลวงแห่งสหราชอาณาจักร” ถวายพระเกียรติด้วยการเชิญหีบพระบรมศพฯ ขึ้นเครื่องบินกองทัพอากาศจาก "เอดินบะระ" มายัง พระราชวังบักกิงแฮม ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 14 กันยายน
วันรุ่งขึ้น 15 กันยายน จึงมีการเชิญ “หีบพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2” ด้วยราชรถปืนใหญ่ ออกจากพระราชวังบักกิงแฮม ไปประดิษฐาน ณ เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์ ห้องโถงใหญ่ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในกลุ่มอาคารรัฐสภาอังกฤษ หรือเดิมก็คือ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสถวายความเคารพระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2565 ก่อนการประกอบพระราชพิธีพระบรมศพแบบรัฐพิธี ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565
เหนือหีบพระบรมศพ “ควีนเอลิซาเบธ” มีธงผืนใหญ่คลี่คลุม แต่ไม่ใช่ธง Union Jack หรือ ธงชาติสหราชอาณาจักร ที่มีพื้นธงสีน้ำเงิน ซ้อนทับด้วยกากบาทมุมฉากกับกากบาททะแยงสีแดงขอบขาว อย่างที่คนทั่วโลกคุ้นตา
ธงผืนนี้คือธงอะไร?
เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก, เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซกซ์, เจ้าหญิงแอนน์ ทรงรอรับพระบรมศพควีนเอลิซาเบธในหีบพระบรมศพซึ่งคลุมด้วย "ธง Royal Standard" ณ พระราชวังโฮลีรูด ในเอดินบะระ
ผืนธงบนโลงพระบรมศพ ควีนเอลิซาเบธที่ 2
ผืน ธง ขนาดใหญ่ ที่คลี่คลุมเหนือหีบพระบรมศพ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2” มีชื่อว่า ธง Royal Standard เป็นธงที่เปรียบเสมือนตัวแทนของพระมหากษัตริย์หรือผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดของอังกฤษ รวมทั้งแสดงความเป็นสหราชอาณาจักร
ธง Royal Standard จัดทำขึ้นครั้งแรกหลังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การรวมราชบัลลังก์ (Union of the Crowns) คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1603 (พ.ศ.2146) เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ และรวมการปกครองแผ่นดินของทั้งสามราชอาณาจักรไว้ภายใต้พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว
รูปลักษณ์บนผืนธง Royal Standard ได้รับการปรับเปลี่ยนอยู่บ้างในระยะ 400 ปีให้หลังที่ผ่านมา ปัจจุบันบนผืนธง Royal Standard ประกอบด้วยพื้นที่ 4 ส่วน โดยใช้สีแดง เหลือง และน้ำเงิน
ธง Royal Standard
ความหมายธง Royal Standard
ที่กล่าวว่า ธง Royal Standard เป็นธงที่เปรียบเสมือนตัวแทนของพระมหากษัตริย์หรือผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดของอังกฤษ ความหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ ธง Royal Standard มิใช่ธงประจำตัวบุคคล แต่เป็นธงที่เป็นตัวแทนของ “สถาบันกษัตริย์อังกฤษ” และ “ความเป็นสหราชอาณาจักร”
องค์ประกอบบนผืนธง Royal Standard องค์ปัจจุบัน ประกอบด้วยพื้นที่ 4 ส่วน แต่ละส่วนมีสัญลักษณ์และความหมายดังนี้
- พื้นที่ส่วนบนซ้ายและล่างขวา เป็นรูป สิงโตสีเหลือง 3 ตัว บนพื้นสีแดง ทำท่ากำลังเดินและยกอุ้งเท้าหน้าขี้น ตัวแทนดินแดนอังกฤษ
- พื้นที่ส่วนบนขวา เป็นรูป สิงโตสีแดง บนพื้นสีเหลือง ทำท่าผงาดยืนอยู่บนขาหลัง ตัวแทนสกอตแลนด์
- พื้นที่ส่วนล่างซ้าย เป็นรูปเครื่องดนตรี พิณสีเหลือง (harp) บนพื้นสีน้ำเงิน ตัวแทนไอร์แลนด์
ธง Royal Standard เหนือพระราชวังบักกิงแฮม
ธง Royal Standard จะได้รับการเชิญขึ้นเหนือพระราชวังขณะที่กษัตริย์อังกฤษประทับอยู่เท่านั้น หากธง Union Jack เชิญขึ้นเหนือ พระราชวังบักกิงแฮม แทนธง Royal Standard นั่นหมายความว่ากษัตริย์อังกฤษมิได้ประทับอยู่ที่นั่น
ทั้งนี้ ในการเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการโดยรถยนต์พระที่นั่ง เรือพระที่นัง เครื่องบินพระที่นั่ง ธง Royal Standard ก็จะได้รับการเชิญประกอบด้วยเช่นกัน
เมื่อกษัตริย์อังกฤษเสด็จไปประกอบพระราชกรณียกิจยังรัฐสภา ธง Royal Standard จะได้รับการเชิญขึ้นเหนือหอคอยวิกตอเรีย (Victoria Tower) ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสาธารณะติดกับอาคารรัฐสภา
ธง Royal Standard เหนือหีบพระบรมศพฯ บนราชรถปืนใหญ่
เชิญหีบพระบรมศพฯ เข้าสู่เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์
แม้ถึงวาระการเสด็จสวรรคตของกษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ธง Royal Standard จะไม่มีวันลดลงครึ่งเสา (แต่จะลดธง Union Jack ลงครึ่งเสาแทน) เนื่องจากธง Royal Standard คือตัวแทน “สถาบันกษัตริย์อังกฤษ” กษัตริย์เสด็จสวรรคตก็จริง แต่ "สถาบันกษัตริย์อังกฤษ" ยังคงอยู่
ความหมายก็คือ ธง Royal Standard จะไม่มีวันลดลงครึ่งเสา ตราบเท่าที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังคงอยู่ และราชบัลลังก์อังกฤษก็มิเคยว่างเว้นกษัตริย์แม้แต่วันเดียว
ทันทีที่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารผู้ดำรงพระยศ "เจ้าชายแห่งเวลส์" มาอย่างยาวนาน ได้ทรงสืบทอดราชบัลลังก์เป็น กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) แห่งสหราชอาณาจักร โดยอัตโนมัติผ่านการประกาศของ “สภาการขึ้นครองราชย์ (Accession Council)” โดยไม่ต้องมีพิธีการใด ๆ ก่อนทั้งสิ้น
พระราชพิธีประกาศขึ้นครองราชย์ยืนยันบทบาทของกษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการของ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ได้รับการจัดให้มีขึ้นในวันต่อมาคือวันที่ 9 กันยายน 2565 ในทันที
หีบพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 ภายใต้ธง Royal Standard ประดิษฐาน ณ เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์ ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2565 ก่อนการประกอบพระราชพิธีพระบรมศพแบบรัฐพิธี ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565
อ้างอิง
- เว็บไซต์ British Royal Family
- Royal Standard of the United Kingdom - Wikipedia