เรื่องชาวบ้าน คืองานของเรา ทำไม "ต่อมเผือก" ถึงเป็นสกิลติดตัวมนุษย์?
ไม่มีใครขอ แต่เราใส่ใจ! ทำความเข้าใจสกิลความอยากรู้อยากเห็นให้มากขึ้น ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องของคนอื่น และทำอย่างไรเราถึงจะใช้ศาสตร์แห่งการเผือกได้อย่างพอดี จากความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ
“ความอยากรู้อยากเห็น” เป็นหนึ่งในสัญชาตญาณของมนุษย์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากว่าเราจะอยากรู้เรื่องราว ความเป็นไปของคนอื่น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน
ทุกคนต่างเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะโพสต์รูปสวย ๆ หรือวิดีโอเก๋ ๆ แชร์ไลฟ์สไตล์ ผ่านอินสตาแกรม แชร์ความคิดเห็นส่วนตัวหรือเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านเฟซบุ๊ก บ่นขิงบ่นข่า ไปตลอดจนหวีดเมนผ่านทวิตเตอร์ ทำ Vlog เล่าเรื่องราวผ่านยูทูบ ตลอดจนทำคอนเทนต์และชาลเลนจ์ต่าง ๆ ใน ติ๊กต็อก ทั้งหมดนี้ล้วนผ่านสายตาของผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นบุคคลสาธารณะด้วยแล้ว แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องเปิดเผยเรื่องราวที่ประชาชนอยากรู้
แล้วทำไมเราถึงต้องอยากรู้เรื่องชาวบ้านขนาดนั้น ?
แอนน์ แชปเปลล์ อาจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยบรูเนลลอนดอน กล่าวว่า “ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งมีแต่กำเนิดสำหรับสายพันธุ์ของพวกเรา เรื่องราวของพวกเราล้วนเกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเรื่องราวกับผู้อื่นอยู่เสมอ”
เราว่าง เราจึงใช้สัญชาตญาณของเรา
เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนออกไปไหนไม่ได้ ยิ่งทำให้มนุษย์มีเวลาว่างมากยิ่งขึ้นในการให้ความสนใจกับชีวิตของผู้อื่น จากข้อมูลของ Ofcom หน่วยงานวอทช์ด็อกของสหราชอาณาจักร ระบุว่า ในช่วงปี 2563 ที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ลุกลามไปทั่วโลก ผู้คนใช้เวลากว่า 1 ใน 4 ของวัน หมดไปกับการท่องโลกอินเทอร์เน็ต โดยกว่า 40% ของคนทั่วโลกใช้เวลากับโซเชียลมีเดียนานยิ่งขึ้น
“ความโดดเดี่ยวทางสังคมที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราอยากรู้อยากเห็นและสนใจเรื่องราวชีวิตของผู้อื่นเพิ่มมากขึ้นโดยปริยาย” ซาบรินา โรมานอฟ นักจิตวิทยาคลินิกที่โรงพยาบาลลีน็อก ฮิลล์ ในมหานครนิวยอร์กกล่าว
สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือที่พาเราหลบหนีออกจากพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดไม่กี่ตารางวา ด้วยการพาเราไปสอดส่องชีวิตของผู้อื่น ไม่ว่าพวกเขาจะกำลังคร่ำเคร่งกับการปลูกต้นไม้ หรือแปลงร่างเป็นเชฟกระทะเหล็กอยู่ก็ตาม
“แม้ว่าโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ได้ให้ผลดีเท่ากับการพบปะกันในชีวิตจริง แต่แพลตฟอร์มนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ช่องทางที่จะทำให้เราเข้าถึงบุคคลอื่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ ในยุคนี้” โรมานอฟกล่าวสรุป
สอดคล้องกับ ลอรา ทาร์บ็อก ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและกลยุทธ์ของแบรนด์ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ในโซเชียลมีเดีย กล่าวว่า “โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางให้เราได้เชื่อมต่อกับโลกภายนอก แม้ว่าตัวเราจะติดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม”
เราอยากรู้อยากเห็น จนตัดสินคนอื่น
ด้วยเหตุนี้ โซเชียลมีเดียจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการตัดสินว่าใครผิดหรือถูก เมื่อคลิปหรือเหตุการณ์บางอย่างถูกโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย ชาวเน็ตต่างเข้ามาคอมเมนต์กันอย่างท่วมท้น ซึ่งหลายครั้งก็เป็นการฟังความจริงเพียงด้านเดียว ทำให้ชาวเน็ตหน้าแตกหมอไม่รับเย็บ กลับลำกันแทบไม่ทันก็มีให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง
“เราต่างเฝ้าติดตามโซเชียลมีเดียทั้งแบบมีสติและไม่มีสติ เพื่อให้เข้าใจถึงกฎทางสังคมที่แปรผันไปแบบนาทีต่อนาที เราใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการเรียนรู้ อะไรคือสิ่งที่ถูก อะไรคือสิ่งที่ผิด” ทาร์บ็อกกล่าว
แต่การเรียนรู้ของเราไม่ได้พึ่งพาเพียงแต่ช่องทางโซเชียลมีเดียเท่านั้น แหล่งของมูลอื่น ๆ ยังคงสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การดูโทรทัศน์ การฟังพอดแคสต์ หรือแม้กระทั่งการสังเกตผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตำราสำคัญในการเรียนรู้สำหรับยุคสมัยที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“เราต่างใช้บุคคลอื่นเป็นข้อมูลเพื่อใช้ต่อยอดสำหรับการประเมินค่าและใช้วัดความสำเร็จของตนเอง เพราะเราเป็นสัตว์สังคม ที่ต้องพึ่งพาบุคคลอื่นในสังคมสำหรับการตัดสินต่าง ๆ ที่อ้างอิงหลักความสัมพันธ์” โรมานอฟระบุ
ความอยากรู้อยากเห็น ช่วยให้เราเข้าใจสังคม
แน่นอนว่า การอยากรู้อยากเห็นเรื่องชาวบ้านไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ ในสมัยศตวรรษที่ 19 เราเริ่มหน้าข่าวสังคมกระซิบกอสซิปในหนังสือพิมพ์ ถัดมาหน่อยมีหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ และนิตยสารแนวปาปารัสซี ก่อนหน้านี้ เรามีรายการเรียลลิตี้ติดตามชีวิตผู้เข้าแข่งขันตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนปัจจุบัน เรามีไอจีสตอรีส์ไว้ส่องและติดตามชีวิตผู้คนแบบนาทีต่อนาที รวมถึงมีเหล่านักสืบโซเชียลที่พร้อมจะขุดคุ้ยเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา
เห็นได้ว่า ทุกวันนี้เราติดตามชีวิตคนอื่นได้ง่ายขึ้น มีมิติมากยิ่งขึ้นกว่าเมื่อหลายทศวรรษก่อน จากการเข้ามาของโซเชียลมีเดียที่แต่มีรูปแบบการเสพสื่อที่แตกต่างกันออกไป แทนที่จะรับรู้เรื่องราวผ่านสื่อกระแสหลักที่ผ่านการคัดกรองแล้ว (ซึ่งอาจเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม) จนทำให้หลายครั้งข้อมูลที่มีอยู่นั้นมีจำนวนมากเกินไปด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกัน ความอยากรู้อยากเห็นของคนเราไม่มีขีดจำกัด หลายครั้งที่เราทำตัวเป็นนักสืบจนบางทีก็ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ผู้ถูกเฝ้ามองไม่ได้ยินยอม ซึ่งทั้งหมดอาจตามมาด้วยความการกระทำความผิดทางกฎหมาย หรือ ความผิดทางเพศด้วยซ้ำ โดยแชปเปลล์ เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ความหลงใหลที่น่าวิตก”
ฟังดูเหมือนการอยากรู้เรื่องชาวบ้านจะไม่มีประโยชน์ แต่ความจริงแล้วมันก็มีประโยชน์อยู่ เพราะช่วยทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบโลก โดยที่บางครั้งไม่จำเป็นต้องไปประสบเหตุเอง แชปเปลล์ยกตัวอย่าง บันทึกของแอนน์ แฟรงค์ เด็กหญิงชาวยิวหนึ่งในเหยื่อของกองทัพนาซี ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของแฟรงค์ ตลอดจนสังคมรอบตัวของเธอที่หล่อหลอมให้กลายเป็นเธอ และแน่นอนรวมถึงความโหดร้ายของกองทัพนาซี
สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยให้เราประมวลผล ตกตะกอนความคิด สะท้อนออกมาเป็นมุมมองที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ “เรื่องราวที่เราได้เรียนรู้มาจากประสบการณ์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราเห็นเอง ได้ยินมา ได้อ่านมา หรือแม้แต่มีส่วนร่วมด้วย ล้วนส่งผลต่อการสร้างความเข้าใจร่วมกันของเราที่มีต่อสังคม” แชปเปลล์กล่าว
พักจากเรื่องชาวบ้าน มาห่วงตัวเองบ้าง
ในช่วงหนึ่งของปีนี้ที่มี 3 ข่าวใหญ่ถาโถมเข้ามาพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นข่าว นักแสดงคนหนึ่งเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย สงครามยูเครน-รัสเซีย และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำเอาหลายคนเสพข่าวมากเกินไปจนเกิดความวิตกกังวล และเกิดภาวะเครียดที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่มากเกินไป หรือ Headline Stress Disorder ซึ่งถ้าปล่อยไว้ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า
สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ หยุดติดตามข่าวสารก่อนสักพัก หรือถ้าอดไม่ไหวเพราะเป็นคอข่าว ก็ควรจำกัดเวลาในการรับชมข่าว และเลือกรับเฉพาะข่าวที่เชื่อถือได้ หรือหากเป็นสายโซเชียลก็ลองเปลี่ยนไปดูอะไรที่คลายเครียดเรียกเสียงหัวเราะบ้าง ตลอดจนออกจากหน้าจอ หาคนพูดคุยเรื่องราวในชีวิตประจำวัน งดพูดเรื่องข่าวเครียด ๆ ลง ปรับชีวิตให้สมดุลดูบ้าง
เพราะเราเป็นสัตว์สังคมเราจึงอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นเราต้องอยากรู้อยากเห็นให้รู้เท่าทัน เอาแต่พอดี อย่าเอาตัวเองลงไปจมปลักกับเรื่องชาวบ้านจนถอนตัวไม่ขึ้น จะได้มีแรงใช้สกิลที่มีติดตัวนี้ไปนาน ๆ
ที่มา: BBC, Medium, Psychology Today