"จิตแพทย์"เตือนเสพข่าวมากไป ระวังเป็น "Headline Stress Disorder"
การติดตามข่าวสารที่ผู้คนสนใจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เพราะข่าวและเนื้อหาต่าง ๆ ที่เผยแพร่ในสื่อและโซเชียลมีเดีย สร้างความเศร้า ความเครียดสะสม ที่มากเกินไป จนอาจเกิดภาวะ Headline Stress Disorder
ในเรื่องนี้ ผศ.นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ออกมาเตือนประชาชนและให้ความรู้ ทางเพจ Mahidol Channel เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ว่า
“หากเสพข่าวที่หดหู่มากไปอาจเสี่ยงเป็นภาวะ Headline Stress Disorder ได้ ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นคำเรียกภาวะเครียดหรือวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่มากเกินไป
- เสพข่าวหดหู่มากไป ส่งผลเสียอย่างไร
การเสพข่าวหดหู่มากไปสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้มากและหลายระบบ เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ
ซึ่งถ้าปล่อยไว้ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า
- ใครคือกลุ่มเสี่ยง ภาวะ ‘Headline Stress Disorder’
-คนที่เหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ อาจกำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน พักผ่อนไม่เพียงพอ เจ็บป่วย จะอารมณ์อ่อนไหวง่าย เมื่อมาเสพข่าวที่หดหู่ก็จะเครียดได้ง่าย
-คนที่มีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าอยู่แล้ว จะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการเสพข่าวที่หดหู่
-คนที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์เยอะ มีโอกาสรับรู้ข่าวจริงและปลอม ทั้งดีและร้าย ได้เยอะ
-คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว ด้วยวัย วุฒิภาวะ หรือบุคลิกภาพ มีแนวโน้มเชื่อพาดหัวข่าวทันทีได้ง่าย
- คำแนะนำการเสพข่าวที่หดหู่
-จำกัดเวลาในการเสพข่าว เคร่งครัดกับเวลาที่กำหนดไว้
-หากเครียดมาก อาจงดเสพข่าวหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก
-อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะมักใช้คำกระตุ้นอารมณ์ดึงดูดให้สนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวด้วย
-ตรวจสอบข่าวก่อนจะเชื่อ อ่านข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีข้อมูลเท็จทางสื่อออนไลน์มาก
-หากเป็นข่าวด่วน อาจรอสักหน่อยให้มีข้อมูลความจริงมากขึ้น แล้วค่อยอ่านในรายละเอียดข่าว
- หาข่าวดีๆ ดูบ้าง
-พยายามมองหาสิ่งที่ดีในข่าวที่อ่านบ้าง ทุกอย่างมีทั้งด้านดีและร้ายเสมอ
-อ่านข่าวที่ดีต่อใจบ้าง อย่าเสพแต่ข่าวที่หดหู่
-อย่าเสพข่าวก่อนนอน เพื่อให้สมองได้พักและหลับได้ดี
-ทำกิจกรรมคลายเครียด ผ่อนคลายบ้าง อย่าเอาแต่ติดตามข่าวทั้งวัน
-พูดคุยกับคนอื่นบ้าง การหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งคนเดียวจะยิ่งทำให้จมกับความคิดลบ ๆ ได้ง่าย
หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วยังเครียดมากอยู่ ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ chatbot 1323 หรือ ปรึกษานักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์