ดันสวัสดิการนิทาน 3 เล่ม เสริมพัฒนาการ เปลี่ยนอนาคตลูกน้อย
"หนังสือนิทาน" เปรียบเสมือนหน้าต่างบานแรก บ่มเพาะให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ นำมาสู่การผลักดัน "สวัสดิการหนังสือนิทานเพื่อเด็กแรกเกิด" อย่างน้อย 3 เล่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ และสร้างกิจกรรมอบอุ่นในครอบครัว
ดูเหมือนวิกฤติโรคโควิด 19 กว่าสองปีที่ผ่านมาจะยิ่งซ้ำเติมภาวะการเรียนรู้เด็กไทยให้ยิ่งถดถอย แม้แต่ใน "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวงที่ได้ชื่อว่าเข้าถึงความเจริญที่สุด เมืองแห่งความเจริญที่ใครเลยจะเชื่อว่ายังมีเด็กเล็กในหลายชุมชนเมืองอีกไม่น้อย กำลังกลายเป็นกลุ่มเด็กเปราะบางที่ขาดโอกาสการเรียนรู้
สำหรับ เด็กปฐมวัย คงไม่มีอะไรดีไปกว่า "หนังสือนิทาน" เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม หนังสือนิทานเสมือนหน้าต่างบานแรก ที่บ่มเพาะให้เด็กปฐมวัยอายุ 0 – 6 ปี ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ ควบคู่กับการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่จากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าผลกระทบทางสังคมช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เด็กเล็กมีพัฒนาด้านการอ่านน้อย เพราะการเรียนออนไลน์ไม่เหมาะต่อพัฒนาการตามช่วงวัย ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ตามมา
- อยู่เมืองใหญ่ ทำไมยิ่งเหลื่อมล้ำ
หากจะกล่าวว่า การอ่านยังคือดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำก็คงไม่ผิด เพราะเมื่อหนังสือนิทานดีๆ มีภาพวาดสีสวยๆ ที่ลูกหลานคนชนชั้นกลางขึ้นไปมีโอกาสได้อ่านได้ทุกเมื่อเชื่อวันไม่มีเบื่อ ทั้งที่บ้าน โรงเรียน หรือร้านหนังสือใหญ่ในห้างหรู ราคาอาจมีค่าเทียบเท่า ค่าข้าวหรือค่าอาหารในอีกหลายครอบครัวไปได้หลายมื้อ
"สำหรับคนรายได้น้อยๆ เขาจะไปมีหนังสือเล่มละ 200 - 300 บาท ได้ยังไง เงินจำนวนนี้เขาสามารถนำไปใช้เรื่องอาหารการกิน ประทังชีวิตมันจำเป็น มันสำคัญกว่า แต่วันนี้เขาเริ่มมองเห็นว่าการอ่าน จำเป็นต่ออนาคตลูกเขานะ ยิ่งเขาได้ลงมือทำและเห็นการเปลี่ยนแปลง เขาจึงยกระดับให้ความสำคัญ แต่มองว่าอย่างน้อยเด็กเกิดใหม่เราก็ควรให้หนังสือเขาไปสิ เขาไม่ต้องไปซื้อ เราควรสอนวิธีการว่าอ่านยังไง แนะนำเขายังไง พ่อแม่คนไหนอ่านไม่ออก ดูครูส้มสามารถสอนให้เด็กอ่านได้ ดูภาพได้ เล่าเรื่องได้ เพราะเด็กต้องการสายสัมพันธ์ที่นำไปพัฒนาทุกๆ ด้านได้"
เสียงจาก สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ภายใต้ชื่อ "อ่านยกกำลังสุข" อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่พยายามขับเคลื่อนให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการสร้าง วัฒนธรรมการอ่าน ในกลุ่มเด็กเล็กปฐมวัยมานานนับสิบปี เป็นเด็กวัยที่สุดใจยืนยันว่า การอ่านสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นรากฐานของพัฒนาการทุกย่างก้าวในอนาคตของเขา
ด้วยประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้มานาน สุดใจ เอ่ยว่า การที่พ่อแม่หลายคนไม่ให้ความสำคัญเรื่องการอ่าน มิใช่เพราะความเกียจคร้านอย่างใด หากแต่ในชุมชนห่างไกล บางที่ไม่มีหนังสือเด็กสักเล่มเลย
"ไม่ใช่แค่ชุมชนห่างไกล ใน กทม.นี่เอง ถ้าเราก้าวออกจาก 10 กว่าเครือข่ายที่เป็นต้นแบบของเรานี่ ก็ไม่มีแล้วนะ ไม่มีหนังสือไม่เท่าไหร่ เขาถึงขั้นไม่มีความรู้ว่าหนังสือมันดี ไม่รู้ว่าการอ่านมันพัฒนาเด็ก"
อีกเสียงสะท้อนที่ร่วมตอกย้ำความสำคัญของการอ่าน ญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. เสริมว่า การอ่าน คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (lifelong learning) ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ การอ่านหนังสือคือ ทางลัดที่ดีที่สุดในการส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย เนื่องจากเปิดโอกาสให้เด็กได้เคลื่อนไหว แสดงบทบาทสมมติตามเนื้อหาในนิทาน ซึ่งจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ การส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เพราะนิทานจะสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ทำให้มีความสุข และสุขภาพจิตดี การส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม การที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือภาพ หนังสือนิทานให้เด็กฟัง จะสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว และยังส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา เพราะหนังสือนิทานช่วยให้เด็กมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กมีทักษะการสื่อสาร ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน เหมาะสมตามวัย
"การอ่าน เป็นระบบนิเวศการสื่อสารสุขภาวะที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่สสส. พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านเพื่อร่วมฝ่าวิกฤตภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) โดยเฉพาะหลังจากพวกเขาได้รับผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เด็ก ๆ ต้องเรียนทางออนไลน์ ซึ่งไม่สามารถทำให้เด็กพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่" ญาณี กล่าว
ดังนั้น เพื่อร่วมกันลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ ด้านการอ่านให้เยาวชนไทย เมื่อเร็วๆ นี้ โดยในวาระเทศกาลเด็กและเยาวชน BKK เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง สสส. จึงจับมือกับ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ลงพื้นที่ชุมชนเก้าพัฒนา ชุมชนทรัพย์สินเก่า และชุมชนพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันประกาศปฏิญญาสนับสนุน "การจัดสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย" ในงาน BKK-เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง Kick off ราม 39 อ่านยกกำลังสุขโมเดล
- ดันนโยบายอ่านฝ่าวิกฤติ Learning Loss
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และพื้นที่เรียนรู้ของกลุ่มเด็กเล็ก แนวคิดด้านการพัฒนาทักษะสมอง EF และศักยภาพทุกด้านจากภาวะถดถอย หรือ Learning Loss ช่วงโควิด-19 มีความสอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใน 9 มิติ ทั้งด้านสุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี ฯลฯ ซึ่งพบว่า หนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านช่วยพัฒนาเด็กเล็กได้เต็มศักยภาพ กทม. พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนและขยายผลอย่างจริงจัง เพื่อให้นโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยที่ท่านผู้ว่าฯ ประกาศรับไว้บรรลุผล
"สิ่งที่ กทม. น่าจะดำเนินการเพิ่ม คือนำทรัพยากรที่ กทม.มี มาดูว่าเราจะสนับสนุนด้านใดได้บ้าง อย่างเช่น บ้านหนังสือ ซึ่งในพื้นที่นี้มีทั้งสองจุดคือนวประภากับทรัพย์สินใหม่ ทั้งสองที่สามารถเป็นศูนย์ที่ไม่ใช่แค่มีหนังสืออย่างเดียว แต่สามารถเป็นศูนย์ส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้เด็กเล็กด้วย ผมว่าแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรหลายรูปแบบที่จะให้ กทม. สนับสนุน อย่างที่ทรัพย์สินเก่าเรามีครูส้ม และในแต่ละพื้นที่เองก็มีความแตกต่างกัน หน้าที่ กทม.ไม่ใช่การวางมาสเตอร์แพลนใหม่ แต่เราคงสนับสนุนสิ่งที่มีอยู่แล้ว และยกระดับการสนับสนุน อย่างชุมชน เขาพูดชัดว่าขาดหนังสือ อยากให้มีหนังสือ 3 เล่มทุกบ้าน นี่เป็นหน้าที่ของ กทม.ได้ แต่มองว่าการส่งเสริมการอ่านไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดสรรเท่านั้น เพราะการจะให้เด็กอ่านหนังสือต้องมีโปรแกรม มีกระบวนการส่งเสริม ให้ชุมชนเป็นคนนำ" รองผู้ว่า กทม. กล่าว
- ชุมชนขานรับ Sandbox "เขตวังทองหลาง"
สำหรับพื้นที่ชุมชนเก้าพัฒนา ชุมชนทรัพย์สินเก่า และชุมชนพลับพลา เขตวังทองหลาง ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบเข้มแข็งที่มีทรัพยากรสำคัญ คือ "แกนนำ" ต่างเห็นความสำคัญของการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในกลุ่มเด็ก
ชำนาญ สุขีเกตุ ประธานชุมชนเก้าพัฒนา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ กล่าวว่า ครอบครัวได้ร่วมโครงการรักการอ่านกับ สสส. ตั้งแต่ประมาณปี 2561 หลังพบว่าเด็กในชุมชนบางครอบครัว มีพัฒนาการล่าช้า อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ขาดทักษะเข้าสังคม จึงเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส มาทำพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กและผู้ปกครอง ที่ศูนย์ชุมชนทุกวันหยุดหรือวันว่าง โดยจะอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง และจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากหนังสือให้กับเด็ก เช่น ทำอาหาร ปลูกผัก ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกว่า 11 ครัวเรือน มีแผนขยายไปในครอบครัวรุ่นใหม่ และบ้านที่มีหญิงตั้งครรภ์กำลังจะคลอด เพื่อส่งเสริมให้ทุกบ้านมีหนังสือนิทานอย่างน้อย 3 เล่ม จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบผู้ปกครองสนใจมากขึ้น เพราะช่วยแก้ปัญหาเด็กติดจอมือถือ จากช่วงโควิด-19 ที่เด็กทุกคนต้องเรียนออนไลน์ อยู่แต่ในบ้าน
"ผมป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน หากเป็นช่วงบั้นปลายชีวิต ก็ต้องการขับเคลื่อนโครงการรักการอ่านให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน เพราะอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของหนังสือนิทานกับเด็กปฐมวัย ตอนนี้ผมกับภรรยากำลังขยายให้ผู้ปกครองบ้านอื่นๆ ให้เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ถ้าใครอ่านก็อัดคลิป ส่งมาแชร์ความสุขความอบอุ่นในกลุ่มกัน และพยายามทำศูนย์ฯ แห่งนี้ ให้เกิดความปลอดภัย เป็นที่ไว้ใจของผู้ปกครอง ให้ส่งเด็กมาทำกิจกรรมวันว่าง นอกจากนี้มีแผนทำห้องสมุดเคลื่อนที่อีกครั้ง เพื่อส่งหนังสือนิทานและหนังสือต่างๆ ให้เด็กและครอบครัวได้อ่านกัน" ชำนาญ กล่าว
อีกหนึ่งแกนนำสำคัญของชุมชนทรัพย์สินเก่า คณิตา โสมภีร์ หรือ ครูส้ม แห่งบ้านครูส้ม ผู้ที่ชอบการอ่านและเชื่อว่า การอ่าน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก ดังนั้นในการดูแลเด็กเล็กวัยแรกเกิดจนถึง 4 ขวบ อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ครูส้มพยายามถ่ายทอดมาโดยตลอด คือการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านไปสู่เด็กๆ ในชุมชน โดยแม้พ่อแม่ผู้ปกครองจะมีฐานะยากไร้ แต่ครูส้มยังคงยืนหยัดที่จะชี้ให้เห็นพ่อแม่เหล่านี้เห็นคุณค่าของการอ่านที่ช่วยเสริมพัฒนาการเด็ก อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างกิจกรรมอบอุ่นในครอบครัว จนทำให้หลายครอบครัวเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
- 3 เล่มเปลี่ยนชีวิต
ในฐานะผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. สุดใจ กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่หากสามารถแปรนโยบายที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติประกาศรับเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ให้เกิดแนวปฏิบัติในการพัฒนาและสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยอายุ (0 – 6 ปี) ด้วยสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กได้ จะก่อประโยชน์อย่างมากต่อแนวทางของเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) ซึ่ง "หนังสือนิทาน" จะช่วยกอบกู้ทักษะของเด็ก ให้เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ และหากสามารถขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ และชุมชนท้องถิ่นได้ จะเป็นสัญญาณที่ดีในการทำเรื่องนี้
"ที่เราทำทั่วประเทศ ก็พบหลายตัวอย่างความสำเร็จ บางอย่างเราแทบไม่ต้องไปทำอะไรแล้ว เขาสามารถขับเคลื่อนได้เอง เช่น ในระดับท้องถิ่นเราเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศเป็นนโยบายประจำปี หรือเทศบาลบางแห่งก็บรรจุเป็นเทศบัญญัติมีนโยบาย มีงบประมาณ มีแกนนำ แต่ในกรุงเทพฯ ยังไม่เคยเปิดเผยให้เห็นว่าคนกลุ่มเปราะบาง ชาวบ้านที่หลายคนยังไม่เคยยื่นมือมาช่วยเหลือ แต่เขาพยายามลุกขึ้นมาทำด้วยตัวเอง" สุดใจ กล่าว
สุดใจ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากชุมชนเข้มแข็ง จะช่วยนำพาครอบครัวและเด็กเล็กผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ปีนี้นอกจากขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เราต้องการส่งเสริมการอ่านให้เป็นรูปธรรม จึงขยายผลไปในระดับชุมชน เพื่อให้มีความต่อเนื่องและทำได้จริง โดยส่งเสริมให้เกิดสวัสดิการ หนังสือนิทาน เพื่อเด็กแรกเกิด อย่างน้อย 3 เล่ม ร่วมกับ สสส. กทม. และภาคีเครือข่าย รวมถึงส่งเสริมครอบครัวอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง สำหรับวันนี้ การ kick off คือการชูให้เห็นว่าชาวบ้านทำได้แล้วนะ แต่หน้าที่เราทุกคนคือเชื่อมให้เขาต่อเนื่องยั่งยืน