เปิดเส้นทาง "รถไฟฟ้า" สายใหม่ปี 2022 เริ่มให้บริการปลายปี 65 ราคาเท่าไร?

เปิดเส้นทาง "รถไฟฟ้า" สายใหม่ปี 2022 เริ่มให้บริการปลายปี 65 ราคาเท่าไร?

เปิดเส้นทาง "รถไฟฟ้า" สายใหม่ ที่กำลังจะให้บริการปลายปี 2565 นี้ ชวนอัปเดตรถไฟฟ้าใหม่ว่ามีกี่สถานี? และค่าตั๋วราคาเท่าไรบ้าง?

ในที่สุด.. รถไฟฟ้าสายใหม่ก็มาหาชาวกรุงอีกครั้ง โดยเฉพาะ "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" และ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" ที่จะเริ่มให้บริการประชาชนในย่านลาดพร้าว-สำโรง และย่านแคราย-มีนบุรี ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางถึงกันได้สะดวกสบาย ไม่ต้องฝ่ารถติดอีกต่อไป

นอกจากรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ทั้งสองสายดังกล่าวที่กำลังมาแรง เราจะพาไปอัปเดตราคาค่าตั๋วโดยสารของ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย” ที่ทาง กทม. มีแผนจะให้เริ่มเก็บค่าบริการตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ตอนนี้เริ่มเก็บค่าบริการแล้วหรือไม่?

อีกทั้งยังมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีทอง(เฟส2) สายสีม่วงใต้ สายสีน้ำตาล และสายสีเทา ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายใหม่ที่หลายคนกำลังจับตามองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบแค่ไหน มีโอกาสก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อไร และจะเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปีไหนบ้าง? เรารวบรวมความคืบหน้ามาให้ส่องกันแล้ว ดังนี้ 

 

  • รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

อัปเดตความคืบหน้าล่าสุด สายสีเหลืองจะเปิดให้บริการฟรี ตั้งแต่ช่วงสถานีสำโรง - สถานีภาวนา ส่วนสถานีลาดพร้าวนั้น  กรมการขนส่งทางรางขอพิจารณาอีกครั้งว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ทันตลอดทั้งเส้นหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทางผู้รับจ้างอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการก่อสร้าง โดยจะให้บริการฟรีในช่วงทดลอง นั่นคือ ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ไปจนถึงเดือนมกราคม 2566 และจะเริ่มเก็บค่าโดยสารประมาณเดือน กุมภาพันธ์ 2566

อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องคำนวณจากดัชนีผู้บริโภค (CPI) แต่หากคำนวณตามสูตรคร่าวๆ ในเดือน ก.ย. 2565 คาดว่าอัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 15-45 บาทตามระยะทาง

 

  • รถไฟฟ้าสายสีชมพู

ความคืบหน้าล่าสุด สายสีชมพูคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการตั้งแต่สถานีมีนบุรี - สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งช่วงแรกก็จะเป็นการทดสอบวิ่งและให้ประชาชนนั่งฟรีในช่วงเดือน ธันวาคม 2565 เช่นกัน ยกเว้นสถานีนพรัตน์ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (ยังไม่เปิดให้ทดลองวิ่ง) จากนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการตลอดสายครบทุกสถานีราว ก.ค. 2566 ส่วนอัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 15-45 บาทตามระยะทาง เช่นกันกับสายสีเหลือง 

 

  • รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย)

สำหรับ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า กทม. จะเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่2 ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ(เคหะฯ) และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 โดยจะเริ่มเก็บที่อัตรา 14-44 บาท เมื่อรวมกับอัตราค่าโดยสารในเส้นทางสัมปทานหลักตรงกลาง จะเก็บอัตราสูงสุดไม่เกิน 59 บาท แต่ล่าสุด ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ เช็กข้อมูลอัตราค่าโดยสารผ่านทาง bts.co.th/routemap พบว่า ปัจจุบันผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ก็ยังนั่งฟรี! ไม่มีการคิดค่าบริการแต่อย่างใด

 

  • รถไฟฟ้าสายสีทอง (เฟส2)

สำหรับ รถไฟฟ้าสายสีทอง มีข้อมูลอัปเดตล่าสุด คือ ยังไม่มีการก่อสร้างเฟส 2 (สถานีที่ 4) แต่อย่างใด และยังไม่มีกำหนดการให้บริการในปีนี้ โดยมีรายงานจาก กทม. ระบุว่า ยังไม่มีแผนศึกษารายละเอียดโครงการฯ รถไฟฟ้าสายสีทอง เฟส2 ในช่วงปี 2566-2567 เนื่องจากปัจจุบันผลตอบรับการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง เฟส1 ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยเป็นผลกระทบมาจากการระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟสายนี้จึงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายนี้ให้บริการเส้นทางสั้นๆ เพียง 4 สถานี รวมระยะทาง 2.8 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรกมี 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี, สถานีเจริญนคร (ไอคอน สยาม), สถานีคลองสาน อัตราค่าบริการ 15 บาทตลอดสาย โดยเริ่มให้บริการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563

ส่วนในเฟสที่ 2 มีโครงการจะก่อสร้างเพิ่มอีก 1 สถานี คือ สถานีประชาธิปก วงเงิน 3,000 ล้านบาท ระยะทาง 900 เมตร โดยก่อนหน้านี้มีแผนการก่อสร้างในปี 2566-2567 แต่ยังไม่มีการเคาะให้ก่อสร้างต่อในเร็วๆ นี้ดังที่บอกไปข้างต้น ทั้งนี้ หากรถไฟฟ้าสายสีทองก่อสร้างครบทุกเฟส จะสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (สีลม) บริเวณสถานีกรุงธนบุรี, เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย

 

  • รถไฟฟ้าสายสายสีม่วงใต้

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือ สายสีม่วงใต้ ความคืบหน้าล่าสุด คือ รฟม. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา กับผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามแผนงานจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2565 และคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570

โดยรถไฟฟ้าสายนี้ ใช้วงเงินก่อสร้างประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี อัตราค่าโดยสารสายสีม่วงใต้เบื้องต้น อยู่ที่ 14 - 42 บาท (อาจมีการเปลี่ยนแปลง)

 

  • รถไฟฟ้าสายสายสีน้ำตาล

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะทาง 22.1 กิโลเมตร ใช้วงเงินลงทุนอยู่ที่ 48,386 ล้านบาท ขณะนี้ รฟม. ได้วางกรอบดำเนินงานไว้เบื้องต้นคือ จะเริ่มประกวดราคาในช่วงปี 2566-2567 จากนั้นผู้ชนะประมูลร่วมลงทุนปี 2568 และเริ่มก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571 

รถไฟฟ้าสายนี้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) มีโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 20 สถานี แนวเส้นทางจะเริ่มจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านจุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร แล้วเลี้ยวขวาลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ สิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริ และถนนรามคำแหง ส่วนราคาค่าโดยสารยังไม่มีการเปิดเผย

 

  • รถไฟฟ้าสายสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นโครงการฯ รถไฟฟ้าที่มีปัญหาเรื่องการประมูลยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2563 จนมาถึงปี 2565 ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย เหตุจากการยกเลิกประกวดราคาและเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จนเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นในประเด็นความไม่ธรรม ซึ่งล่าสุดในเดือนตุลาคม 2565 ก็ยังไม่มีข้อสรุป และประชาชนยังต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป

ทั้งนี้ เส้นทางการให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

 

  • รถไฟฟ้าสายสีเทา

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2565 กทม. เคยมีการศึกษาและวางแผนจะก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ เบื้องต้นมีการวางแผนงานจัดทำเอกสารผู้ร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ในปี 2567-2568 โดยจะลงมือก่อสร้างปี 2569 และจะเปิดบริการเดินรถปี 2573

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว โดยมีความเห็นว่า รถไฟฟ้าสายสีเทาควรให้ รฟม. รับไปทำดีกว่า เพราะแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา มีจุดตัดต่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟฟ้า ของ รฟม.หลายจุด จึงไม่อยากให้มีปัญหาค่าแรกเข้าซ้ำรอยสายสีเขียว ล่าสุด ในเดือนตุลาคม 2565 ยังไม่มีข้อมูลอัฟเดตใดๆ รถไฟฟ้าสายทีเทาจึงเป็นอีกโครงการที่ถูกพับไปก่อน ประชาชนจึงรอติดตามความคืบหน้าต่อไป

---------------------------------------

อ้างอิง : รฟม., กทม., กรมการขนส่งทางราง, BTS Group, BEM