อยู่ได้ถึง 150 ปี! สำรวจ “อายุขัยมนุษย์” ยิ่งอยู่ยิ่งยาว

อยู่ได้ถึง 150 ปี! สำรวจ “อายุขัยมนุษย์” ยิ่งอยู่ยิ่งยาว

มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้นานถึง 150 ปี จริงหรือ? สำรวจสถิติ “อายุขัยมนุษย์” จะมีชีวิตยืนยาวขึ้นจากอดีตถึง 2 เท่า โดยมีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

มนุษย์คือสัตว์สังคมกลุ่มใหญ่ ดังนั้นแล้วการเกิด-แก่-เจ็บ-ตายของคนคนหนึ่งจึงไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่กลายเป็นเรื่องของคนส่วนมากแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกลางปีที่แล้ว เว็บไซต์บีบีซีนิวส์ (BBC News) ได้เผยแพร่ผลวิจัยจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ "เจโร" (Gero) ว่า มนุษย์มีสถิติอายุยืนยาวได้มากกว่า 120-150 ปี จากการวิเคราะห์เม็ดเลือดของกลุ่มตัวอย่าง 5,000 คน 

มนุษย์จะมีชีวิตอยู่นานถึง 150 ปี ได้จริงหรือ? เมื่อลองสำรวจคนอายุยืนที่สุดในโลก สถิติที่เก็บได้คือทวดหญิงชาวฝรั่งเศสที่แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่อายุ ณ วันเสียชีวิตคือ 122 ปี นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมายังมีกลุ่มคนอายุเกิน 100 ปี เพิ่มมากขึ้น

 

อยู่ได้ถึง 150 ปี! สำรวจ “อายุขัยมนุษย์” ยิ่งอยู่ยิ่งยาว
 

  • สำรวจสถิติ “อายุขัยมนุษย์” มีชีวิตนานขึ้นจากอดีต 2 เท่า 

จากผลสำรวจสถิติอายุขัยมนุษย์ขององค์กรอนามัยโลก ซึ่งเก็บข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2562 พบว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 72.6 โดยคนญี่ปุ่น มีอายุขัยเฉลี่ย 85 ปี คนสเปน, สวิตเซอร์แลนด์, อิตาลี, ออสเตรเลีย มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 83 ปี ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มประเทศที่ผู้คนมีอายุขัยมากที่สุดในโลก ส่วนประเทศแถบแอฟริกากลาง กลายเป็นกลุ่มคนที่มีอายุขัยที่ต่ำที่สุดในโลก คือเฉลี่ย 53 ปี  

เมื่อดูข้อมูลสถิติย้อนหลังทุก 5 ปี คือใน ปี 2557 อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลก คือ 71.4 ปี  ส่วนปี 2552  อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลก คือ 69.5 ปี และในปี 2547 พบว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 67.6 ปี จะเห็นได้ว่าตัวเลขอายุของมนุษย์เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ปี อย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้เมื่อย้อนสำรวจตัวเลขอายุมนุษย์ในปีที่มีการเก็บข้อมูลนานสุด ณ ปี 2493 พบว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 45.7 ปี เท่ากับว่าอายุขัยมนุษย์ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2 เท่า สอดคล้องกับข้อมูลจาก เว็บไซต์ ourworldindata ที่บอกว่าในอดีตมนุษย์ยุคศตวรรษที่ 19 มีอายุถึงแค่ 40 ปี เท่านั้น แต่ปัจจุบันมนุษย์อยู่ได้นานถึง 72 ปี 


 

  • คนไทยอายุเฉลี่ยเกินเกณฑ์มนุษย์โลก มีชีวิตอยู่ได้นานถึง 77 ปี 

กลับมาดูข้อมูลสถิติคนไทยกันบ้าง ข้อมูลจาก ourworldindata ได้รวบรวมสถิติอายุเฉลี่ยคนไทยไว้เช่นเดียวกัน โดยพบว่าในปี 2562 คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 77.2 ปี ในปี 2557 อายุขัยเฉลี่ย 75.7 ในปี 2552 มีอายุขัยเฉลี่ย 73.8 ปี และปี 2493 มีอายุขัยเฉลี่ย 49.9 

หากใครติดตามข่าวทีวีบ่อยๆ ในช่วงวันผู้สูงอายุ ก็มักจะมีสกู๊ปคนอายุยืนในไทยให้เห็นผ่านตากันบ้าง ทั้งทวด 4 แผ่นดิน หรือพ่อเฒ่าอายุ 128 ปี ที่ได้นิยามว่าเป็นคนที่อายุยืนที่สุดในไทย แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อเข้าไปเช็กข้อมูลอีกครั้งก็พบว่า กลุ่มคนอายุยืนที่ถูกพูดถึงบนสื่อบางคนนั้นไม่ใช่อายุที่แท้จริง เนื่องจากมีความผิดพลาดจากการแจ้งเกิด และปีเกิดที่ระบุบนบัตรประชาชน 

 

  • อายุยืนไม่ใช่แค่กินอิ่ม นอนหลับ แต่ยังสัมพันธ์กับความยากจน และความเหลื่อมล้ำ 

มนุษย์มีอายุยืนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลายๆ เรื่อง นับตั้งแต่สถิติอายุมนุษย์เพิ่มขึ้นในช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงหลังสงครามโลก และยิ่งยุคหลังที่เทคโนโลยีการแพทย์มีวิวัฒนาการเพิ่มมากขึ้น มนุษย์ก็ยิ่งอายุยืนขึ้นไปอีก 

ซึ่งส่วนสำคัญคือสวัสดิการด้านสุขภาพที่หลายๆ ประเทศจัดให้กับประชาชนของตัวเอง จากข้อมูลของ UN Population สรุปว่ายิ่งประเทศไหนมีความมั่นคง และมั่งคั่ง ยิ่งทำให้คนมีอายุยืน ในทางตรงกันข้ามถ้าประเทศไหนที่อยู่ในกลุ่มประเทศยากจน ประชากรก็ยิ่งมีอายุขัยสั้นลงตามลำดับจากการจัดสวัสดิภาพด้านสุขภาพให้กับประชาชนไม่มากพอ ซึ่งในปัจจุบันประเทศที่มีอายุขัยน้อยที่สุดในโลกคือประเทศแอฟริกากลางที่มีเกณฑ์เฉลี่ยแค่ 53 ปี 

ในอดีตปลายทศวรรษ 1960 อายุขัยเฉลี่ยของคนเกาหลีใต้มีอายุขัยน้อยกว่าคนสหราชอาณาจักร แต่ในปัจจุบันอายุขัยคนเกาหลีใต้กลับขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับคนสหราชอาณาจักร หรือในปัจจุบันคนอินเดียมีอายุเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่าเมื่อเทียบจากทศวรรษที่ 18 

 

  • ยิ่งอายุยืน ยิ่งเจ็บปวด

เรื่องอายุขัยที่เพิ่มขึ้นของคนทั่วโลกในทุกๆ ปี ถูกพูดถึงเป็นวาระใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีการแพทย์ สวัสดิการสุขภาพ และการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงศาสตร์การชะลอวัย โดยมีการถกเถียงกันในกลุ่มคนที่เห็นด้วย และกลุ่มที่ไม่เห็นสมควรว่ามนุษย์ควรมีอายุยืนยาว 

หนึ่งในผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่มนุษย์มีอายุยืน คือ เอเซคีล เอมานูเอล (Ezekiel Emanuel) ที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เขาเคยเขียนบทความเรื่อง Why I Hope to Die at 75 หรือแปลเป็นไทยคือ ทำไมผมต้องตายในวัย 75 โดยให้เหตุผลว่าช่วงอายุ 75 ปี เป็นช่วงชีวิตที่อิ่มความสุขในชีวิตแล้ว การได้เห็นครอบครัวเติบโต คนที่รักมีความสุขถือเป็นจุดสูงสุดของชีวิต ซึ่งการยืดอายุตัวเองด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่งล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ ความเศร้า และความสิ้นหวัง หลังจากที่เอมานูเอลเผยแพร่บทความนี้บนโลกโซเชียลก็ถูกทัวร์ลงจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย 

เช่นเดียวกับ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่มีความเห็นไปในทางเดียวกับ เอมานูเอล คือการมีอายุยืนยาวก็ไม่ได้ช่วยให้โลกดีขึ้น นอกจากนี้บางไอเดียของคนรุ่นเก่ายังเป็นอุปสรรคต่อคนรุ่นใหม่ในอนาคตอีกด้วย 

อีกด้านหนึ่งสถิติจาก ourworldindata สรุปว่า ยิ่งคนเรามีอายุยืนมากเท่าไร นั่นก็ยิ่งสะท้อนได้ว่าโลกเรามีระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้คนก็ต้องสู้กับภาวะเจ็บป่วย และทุพลภาพนานขึ้น ผลสำรวจเมื่อปี 2559 พบว่าในชั่วชีวิตหนึ่งคนไทยต้องทนกับอาการเจ็บป่วย หรือภาวะทุพพลภาพประมาณ 9.7 ปี หรือพูดตัวเลขกลมๆ  ก็คือ 10 ปี 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถูกถกเถียงกันเป็นอย่างมาก และมองได้หลายมุม เช่นเดียวกับกฎหมายการุณยฆาต หรือภาวะยื้อความตายว่ามนุษย์เราเลือกเวลาที่จะตายได้ด้วยตัวเองหรือไม่ หรือต้องทนกับความเจ็บปวดจนหมดลมหายใจไปเอง 



------------------------------------------------------------------

อ้างอิง 

https://ourworldindata.org/life-expectancy

https://www.bbc.com/thai/international-62093121

https://www.who.int/data/gho/data/indicators/indicator-details/GHO/gho-ghe-life-tables-by-country

https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2014/10/why-i-hope-to-die-at-75/379329/

https://thematter.co/social/increasing-life-expectancy/172946