"ความเหงา" อย่าโทษลมหนาว แต่อาจเป็นเพราะระบบ Neoliberalism ที่แข่งขันสูง

"ความเหงา" อย่าโทษลมหนาว แต่อาจเป็นเพราะระบบ Neoliberalism ที่แข่งขันสูง

เราอาจไม่ได้เหงาเพราะฤดูหนาว แต่อาจเป็นเพราะระบบ "Neoliberalism" หรือเสรีนิยมใหม่ ที่สร้าง "ความเหงา" (Loneliness Epidemic) ให้แพร่ระบาดทั่วโลก เมื่อสังคมยิ่งแข่งขันสูง ผู้คนก็ยิ่งเหงามากขึ้น

รู้หรือไม่? "Neoliberalism" หรือ เสรีนิยมใหม่ ที่อาจสร้าง "ความเหงา" ให้แพร่ระบาดทั่วโลก (Loneliness Epidemic) เนื่องจากระบบสังคมดังกล่าวทำให้ผู้คนแข่งขันสูง แยกตัวเองออกจากสังคม จึงทำให้ผู้คนยิ่งมีความเหงาเพิ่มมากขึ้น 

เรื่องนี้ยืนยันได้จากทีมนักวิจัยจากสหราชอาณาจักรอย่าง Julia Becker, Lea Hartwich และ S.Alexander Haslam ที่ได้ทำการศึกษาหลายชุดเพื่อตรวจสอบว่าสุขภาพจิตของบุคคลได้รับผลกระทบจาก ระบบ Neoliberalism ในปัจจุบันหรือไม่ ?

งานวิจัยเชิงทดลองชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Social Psychology เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โดยผลการทดลองพบว่า “ระบบเสรีนิยมใหม่” มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของปัจเจกบุคคลจริง ทั้งในเรื่องการขาดการเชื่อมต่อทางสังคม ความเหงา ความสามารถในการแข่งขัน และความเป็นอยู่ที่ดี

“เราสำรวจพบว่าระบบเสรีนิยมใหม่ที่เน้นความรับผิดชอบส่วนบุคคล และไม่เน้นการสนับสนุนทางสังคมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามารถนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวและอยู่คนเดียวในระบบที่มีการแข่งขันสูง…” ทีมวิจัยกล่าว พวกเขายังบอกอีกว่า แม้ในมุมของนักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ (บางส่วน) จะเห็นว่าปรัชญาการเมืองนี้อาจทำให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ เพราะมันส่งเสริมให้ปัจเจกชนมุ่งมั่นทำงานเพื่อการความก้าวหน้าและเติบโตของตนเอง

แต่จากการศึกษาครั้งนี้กลับพบว่าจริง ๆ แล้ว ดูเหมือนว่าระบบดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของผู้คน เพราะมันสามารถสร้างความรู้สึกอยากแยกตัวจากผู้อื่น เพราะต้องแข่งขันกับพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวทางสังคม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “Loneliness Epidemic” การแพร่ระบาด “ความเหงา” ที่ทำร้ายเรามากกว่าที่คิด

 

  • Neoliberalism หรือ เสรีนิยมใหม่ คืออะไร ?

Julia Becker หนึ่งในทีมวิจัย ระบุว่า ระบบเสรีนิยมใหม่เป็นอุดมการณ์ที่แพร่หลายในหลายส่วนของโลก ลักษณะสำคัญของอุดมการณ์นี้คือ การเน้นการจัดระบบเศรษฐกิจและสังคมตามหลักการตลาดเสรี มีนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ซึ่งจำกัดการแทรกแซงของรัฐบาลและรัฐ รวมถึงให้เสรีภาพของผู้ประกอบการรายบุคคล ความรับผิดชอบ การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และการค้าเสรี

คำนี้มีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 แต่ในยุคหนึ่งแนวคิดนี้ก็หายไป จากนั้นเริ่มมีการนำกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงปี 1980 โดยเชื่อมโยงกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของ “ออกุสโต ปิโนเชต์” (Augusto Pinoche) ในประเทศชิลี โดยถูกตีความไปในทางชุดความคิดหัวรุนแรง และ “ทุนนิยมปล่อยให้ทำไป” (หมายถึงปล่อยให้อุตสาหกรรมดำเนินการไปโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล) มากขึ้น

ต่อมาอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่เป็นที่ถกเถียงถึง ข้อดี-ข้อเสีย กันมายาวนาน บางกลุ่มมองว่าหลักการนี้จะเอื้อต่อความก้าวหน้าทางสังคมและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล ส่งเสริมการเติบโต และสร้างความสุขในชีวิตได้ ส่วนอีกกลุ่มเห็นว่าเสรีนิยมใหม่อาจเป็นบ่อนทำลาย เนื่องจากเกิดการแข่งขันสูง เน้นผลผลิตสูง จนกัดกร่อนความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันของผู้คน และสร้างความไม่เท่าเทียมทางสังคม

 

  • ผลวิจัยชี้ชัด Neoliberalism เป็นอันตรายต่อชีวิตและสังคม

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาถึงผลกระทบของระบบเสรีนิยมที่มีต่อสุขภาพจิตของบุคคล โดยใช้อาสาสมัครผู้เข้าร่วมทดลองจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการศึกษาพบหลักฐานว่า เสรีนิยมใหม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้คนและสังคม ทำให้บุคคลขาดความประนีประนอม ขาดความไว้วางใจ และขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม แบ่งแยกบุคคลออกจากกัน เกิดสังคมที่โดดเดี่ยว

ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยนี้ยังค้นพบด้วยว่า การแข่งขันสูงระหว่างบุคคลสามารถทำให้คนเรา “ความเหงา” มากขึ้น และเพิ่มความรู้สึกไม่มั่นคง ความวิตกกังวล ความเครียด และความหดหู่ ของผู้คนในสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น ในภาวะแข่งขันสูงในระบบการตลาดเสรีนั้น ผู้ที่ล้มเหลวในระบบนี้จะประสบกับปัญหา “หนี้สิน” และนำไปสู่ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น

อีกทั้ง มีรายงานผลการทดลองจากอาสาสมัครส่วนใหญ่ ระบุว่า ระบบเสรีนิยมใหม่ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคม และส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่และการใช้ชีวิต

 

  • Neoliberalism อาจเป็นส่วนหนึ่งของ Loneliness Epidemic

อีกหนึ่งการศึกษาย่อยของทีมวิจัย ได้ถามถึงภาวะความเหงาของบุคคลในสังคมแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งกลุ่มทดลองส่วนใหญ่รายงานว่า พวกเขารู้สึกเหงามากกว่าผู้ที่อยู่ในสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน และมีความสุขลดลง โดยเฉพาะผู้คนในชนชั้นทางสังคมที่ต่ำกว่า และไม่มีประกันสังคม พบว่าพวกเขาได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสังคมตลาดเสรี

ทีมวิจัยสรุปได้ว่า “ระบบเสรีนิยมใหม่” อาจเป็นสาเหตุโดยตรงของสุขภาพที่ไม่ดี เนื่องจากภายใต้เสรีนิยมใหม่ นักการเมืองมักสนับสนุนการลดหย่อนภาษีสำหรับคนรวย ในขณะเดียวกันก็ถอนการสนับสนุนบริการสาธารณะ เช่น ในด้านการดูแลสุขภาพและการศึกษา เน้นให้ปัจเจกบุคคลพึ่งพาตนเองและรับผิดชอบตนเอง (ใครรวยกว่าก็ได้รับการศึกษา/การบริการสุขภาพที่ดีกว่า) ซึ่งรูปแบบสังคมเช่นนี้ทำให้ผู้คนยึดติดกับวัตถุนิยม และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมามากมาย

ทั้งนี้ ภาวะความเหงานี้อาจเชื่อมโยงไปถึงปรากฏการณ์ “Loneliness Epidemic” หรือ “การระบาดทางความเหงา ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคนี้ และถูกนิยามว่าเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ กำลังจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก

Loneliness Epidemic เป็นลักษณะของภาวะที่ผู้คนรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรืออยู่ลำพัง จนส่งผลต่อภาวะจิตใจ และร่างกาย หลายประเทศยกให้ภาวะความเหงาเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคม และทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมา เนื่องจากเกิดภาวะสังคมโดดเดี่ยวในโลกทุนนิยม และการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต

ในปี 2018 มีผลสำรวจจาก The Economist and the Kaiser Family Foundation (KFF) พบว่า ผู้ใหญ่ในสหรัฐกว่า 22% กำลังตกอยู่ในภาวะเหงาและรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Cigna ที่บอกว่าคนสหรัฐมากกว่า 46% รู้สึกเหงามากขึ้น และอีกกว่า 47% สะท้อนว่าพวกเขารู้สึกถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับความเหงา

ไม่ใช่แค่ชาวอเมริกันเท่านั้น แต่สภาวะความเหงากำลังเกิดขึ้นกับผู้คนอีกหลายๆ ประเทศ เช่น มีชาวญี่ปุ่นในช่วงวัย 40 ปี จำนวนมากกว่า 500,000 คนที่ไม่ได้ออกจากบ้าน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอื่นๆ เลยอย่างน้อย 6 เดือน ขณะที่ในแคนาดามีสัดส่วนครอบครัวเดี่ยวมากกว่า 28% และทั่วสหภาพยุโรปก็ไม่ต่างกัน มีสัดส่วนครอบครัวเดี่ยวอยู่ที่ 34%

ทั้งนี้ ความเหงาสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า ความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพราะความเหงานั้น นำไปสู่ภาวะความผิดปกติทางจิตเวชได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ที่อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอัลไซเมอร์ ได้ด้วย

------------------------------------------

อ้างอิง : The British Psychological Society, Madin America, เสรีนิยมใหม่