"วัยทำงาน" ต้องมีความเข้มแข็งทางอารมณ์ ฝึก 7 วิธีคิดเชิงบวกคว้าความสำเร็จ
“ความเข้มแข็งทางอารมณ์” คืออะไร? ชวน "วัยทำงาน" ทำความเข้าใจและฝึกฝนวิธีคิดเชิงบวก เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จได้ง่ายกว่าการจมอยู่กับความคิดเชิงลบ
ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมหลายๆ อย่างในยุคหลังโควิด ทั้งปัญหาค่าครองชีพ หนี้สิน เงินเฟ้อ สุขภาพ ฯลฯ ที่รุมเร้าเข้ามาจนทำให้ผู้คน “วัยทำงาน” ไม่ว่าจะเป็น First Jobber หรือชาวออฟฟิศที่มีอายุงานมาหลายปี ต่างก็ตกอยู่ในสภาวะเนือยนิ่ง เบิร์นเอาท์ และซึมเศร้า และขาดความเข้มแข็งทางอารมณ์
หลายคนมีสภาพจิตใจย่ำแย่ เมื่อมีเรื่องกระทบจิตใจแม้เพียงเล็กน้อยก็มักจะเครียด หงุดหงิด วิตกกังวล หรือร้องไห้ง่ายกว่าเดิม แต่หากปล่อยให้สภาพจิตใจของเราย่ำแย่เป็นเวลานานๆ โดยไม่ปรับปรุงแก้ไข จะส่งผลให้มีทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวในทางลบมากขึ้น กระทบไปถึงการทำงานและการใช้ชีวิต ดังนั้นการฝึกปรับทัศนคติในเชิงบวกเพื่อฮีลจิตใจจึงมีความสำคัญ
แม้ว่าอาจจะทำยากสักหน่อยในยุคนี้ แต่เชื่อเถอะว่าการมีทัศนคติเชิงบวกที่เรียกว่า “ความเข้มแข็งทางอารมณ์” จะช่วยให้คุณเอาชนะปัญหาต่างๆ ไปได้อย่างมีสติ อีกทั้งยังเป็นบันไดหนุนให้คว้าความสำเร็จในชีวิตได้ง่ายกว่าคนที่มีทัศนคติเชิงลบ
มีข้อมูลจาก Guy Winch นักจิตวิทยาคลินิก นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า “ความเข้มแข็งทางอารมณ์” หมายถึงความสามารถในการเผชิญปัญหาภายในของบุคคล โดยผู้ที่มีความเข้มแข็งทางอารมณ์นั้นจะสามารถจัดการกับความเครียดในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติก็มักจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ที่อ่อนแอทางอารมณ์
ในยุคหนึ่งนักวิชาการได้อธิบายถึงผู้คนที่มีอารมณ์เข้มแข็งไว้ว่า เป็นคนเงียบๆ อดทน ไม่เคยบ่น และการแสดงออกทางอารมณ์ในช่วงวิกฤติจำกัดอยู่เพียงการขบกรามแน่น กำหมัดแน่น และจ้องมองที่ขอบฟ้าอย่างเงียบงัน โดยไม่มีสัญญาณทางอารมณ์ใดๆ รั่วไหลออกมา (เช่น การร้องไห้ เป็นการแสดงความทุกข์ทางอารมณ์ในทางหนึ่ง คนที่ร้องไห้ง่ายมักถูกมองว่าเป็นคนที่อ่อนแอทางอารมณ์)
แต่แนวคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่ไม่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างมากอีกด้วย!
ในปัจจุบันนักจิตวิทยาได้ให้คำจำกัดความ “ความแข็งแกร่งทางอารมณ์” ที่ต่างออกไป โดยอธิบายว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับการอดทน ฝืนทน หรือการร้องไห้แม้แต่น้อย ความแข็งแกร่งทางอารมณ์เป็นสิ่งที่สามารถประเมินได้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งเท่านั้น
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ความเข้มแข็งทางอารมณ์เกี่ยวข้องกับความสามารถของบุคคลในการรับมือกับความท้าทายและการย้อนกลับจากสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่วิธีที่พวกเขาตอบสนองเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ประกอบการ 2 คน ลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพต่อเนื่องยาวนาน 5 ปีและพบว่ามันล้มเหลว ลองทายกันสิว่าผู้ประกอบการรายใดจะมีภาวะทางอารมณ์ที่เข้มแข็งมากกว่ากัน ระหว่าง
1) ผู้ที่รู้สึกอกหักและน้ำตาแตกเมื่อการลงทุนล้มเหลว
2) ผู้ที่รู้สึกอกหักแต่ควบคุมอารมณ์เอาไว้ กล้ำกลืนอดทนความเจ็บปวดไว้ข้างใน
คำตอบคือ.. พวกเขาไม่เข้มแข็งทางอารมณ์ทั้งคู่
เนื่องจากปฏิกิริยาในทันทีของบุคคลนั้นมีความสำคัญน้อยกว่าสิ่งที่พวกเขาทำหลังจากนั้น บางคนอาจเสียน้ำตาในช่วงเวลานั้น รู้สึกแย่ไปหนึ่งสัปดาห์ แต่แล้วก็กลับมาลุกขึ้นมาสู้ต่อได้อีกครั้งและเริ่มทำงานตามแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ต่อไป ส่วนคนที่ดูมีความอดทนและเหมือนจะรับมือได้ในช่วงเวลานั้น แต่เขาอาจจะรู้สึกพ่ายแพ้จนต้องล้มเลิกความฝันในการเป็นผู้ประกอบการไปโดยสิ้นเชิง
การเปรียบเทียบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า “ผู้ร้องไห้” ต่อความล้มเหลวและตอบสนองในทันที ณ ขณะนั้น กลับมีความเข้มแข็งทางอารมณ์มากกว่า “คนที่ข่มใจขบกรามแน่น” แต่ไม่ยอมแสดงออกภายนอก อย่างเห็นได้ชัด
สำหรับใครที่อยากรู้ว่าตนเองมี “ความเข้มแข็งทางอารมณ์” หรือไม่? สามารถประเมินตนเองได้จากทัศนคติ วิธีคิด และบุคลิกภาพที่ชัดเจนเหล่านี้ ได้แก่
- เมื่อเผชิญกับความผิดหวังก็ยังคงสู้ต่อได้และไม่ท้อแท้ หรือท้อแท้น้อยลง
- ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น
- สามารถรับรู้และแสดงความต้องการได้
- มุ่งเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางมากกว่าเผชิญหน้า/ทำลายสิ่งกีดขวาง
- สามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและคำวิจารณ์จากผู้อื่นได้ โดยไม่โทษตัวเอง ไม่จมอยู่กับความรู้สึกแย่
- มักจะเห็นมุมมองที่กว้างขึ้นในสถานการณ์ที่ท้าทาย
- สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าจากบาดแผลทางอารมณ์ เช่น ความล้มเหลวหรือการถูกปฏิเสธ
โดยสรุปคือ วัยทำงานต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า การมีอารมณ์ตอบสนองในทันทีเมื่อเกิดความเสียใจ/ผิดหวัง เป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องที่ต้องประณามตนเองว่าเป็นคน “อ่อนแอ” น้ำตามักจะเป็นสัญญาณของความผิดหวังและความผิดหวัง แต่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้! และต้องปรับทัศนคติเชิงบวกว่าคุณยังสามารถลุกขึ้นสู้ใหม่ได้เสมอ และคว้าความสำเร็จได้ทุกเมื่อ
---------------------------------------
อ้างอิง : Psychology Today