“แสงวิจิตรทองคำเปลว” ผู้สืบสานตำนานทองคำเปลวตีมือโบราณเมืองนครปฐม
คนไทยรู้จัก “ทองคำเปลว” กันมานาน มีการผลิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แต่มีแหล่งผลิตเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยังใช้วิธี “ตีทองด้วยมือ” เพื่อรักษากระบวนการผลิตแบบโบราณเอาไว้
ทองคำเปลว คือหนึ่งใน “ทองคำ” ที่ถูกแปรรูปด้วยการตีทองออกเป็นแผ่นบางๆเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในแง่หัตกรรมและในความเชื่อทางศาสนาพุทธ โดยใช้วิธีไม่ว่าจะเป็นการนำไปปิดองค์พระพุทธรูป หรือที่เรียกว่า การปิดทอง รวมถึงนำไปใช้ในการหัตถกรรมชั้นสูงอื่นๆ เช่น พระธรรม งานไม้แกะสลักลาย มีการลงรักแล้วนำทองไปปิด หรือที่เรียกว่า ลงรักปิดทอง เป็นต้น
สำหรับการทำ “ทองคำเปลว” นั้น พบว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแต่เริ่มแพร่หลายในสมัยอยุธยา และมีการรักษาสืบสานวิธีผลิตทองคำเปลวต่อๆ กันมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
การตีทองคำเปลวจะมีจังหวะการตีคล้ายการตีเหล็ก โดยวาง “ซองหนังกุบ” (ซองหนังชนิดหนึ่งสำหรับใส่แผ่นทอง) ลงบนแท่นหินที่ผิวหน้าเรียบ ขอบทั้ง 4 ด้าน จะมีไม้ประกบเป็นกรอบ และบนแท่นหินจะมีไม้อีกชิ้นยึดติดอยู่ ส่วนมากแท่นหินที่รองรับการตีทอง จะแบ่งออกเป็นสองฝั่งเท่าๆ กัน เพื่อใช้สำหรับตีซองหนังกุบและอีกฝั่งหนึ่งจะทำการตีซองหนังฝักทองไปพร้อมกัน
ที่สำคัญ ค้อนที่ใช้ตีทองนั้นจะต้องทำมาจากทองเหลืองหนักประมาณ 4 กิโลกรัม ใช้เวลาตีรวมกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง โดยผู้ตีจะต้องมีความชำนาญและมีสมาธิเป็นอย่างดี
ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น การตีทองด้วยมือจึงเริ่มเลือนหายไปในวงการผลิตทองคำเปลว เนื่องจากการตีด้วยมือมักกินเวลานานและได้ผลผลิตน้อย ทำให้ผลิตไม่ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค เพราะไม่ใช่แค่งานหัตถกรรมเท่านั้นที่นิยมใช้ทองคำเปลว แต่ยังแพร่หลายไปถึงวงการทำอาหาร และวงการเสริมความงามที่ใช้ทองคำเปลว 99.99% มาเป็นส่วนประกอบด้วย
รู้หรือไม่? แม้วิธีการตีทองแบบดั้งเดิมจะเหลือน้อยลงมาก แต่ก็ยังมีแหล่งผลิตทองคำเปลวด้วยการตีมือหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย นั่นก็คือร้าน “แสงวิจิตรทองคำเปลว” จ.นครปฐม ที่ยังคงสืบสานวิธีดั้งเดิมเหล่านี้เอาไว้ไม่ให้สูญหายไป
ชูจิตต์ แสงวิจิตร ผู้จัดการร้านแสงวิจิตรทองคำเปลวผู้มีประสบการณ์ด้านทองคำมานานกว่า 40 ปี เปิดเผยว่า ได้สืบทอดร้านทองคำเปลวแห่งนี้มาจากผู้เป็นพ่อและได้เรียนรู้ทุกกระบวนการผลิตแบบโบราณทั้งหมดด้วยตนเองตั้งแต่ การรอนทอง การตีทอง ไปจนถึงการตัดทอง ซึ่งหาได้ยากในปัจจุบันที่จะใช้แรงงานคนในการทำทองคำเปลวทุกขั้นตอน ตนจึงอยากจะรักษาวิธีผลิตทองคำเปลวรูปแบบนี้ไว้ แม้จะเป็นไปได้ยากเพราะหาผู้สืบทอดยาก เนื่องจากมือตีทองที่ทำงานมาด้วยกันกว่า 30 ปี ก็มีอายุมากแล้ว
ลักษณะเด่นของทองคำเปลวแบบแฮนด์เมดนั้น เนื้อทองจะมีความแน่นกว่าการตีด้วยเครื่องจักร ทางร้านจะใช้ทองคำแท่งแบบ 100% มาทำทองคำเปลว โดยจะซื้อทองเข้ามาทุกวันวันละ 30 บาท หรือคิดเป็นเงิน 300,000 บาท จากนั้นนำมาแบ่งเป็นก้อนเล็กๆ ก้อนละ 2 บาท ให้ได้จำนวน 15 ชุด ซึ่งเป็นมาตรฐานของแสงวิจิตร เพื่อมาเข้าโรงรีด (เป็นเพียงขั้นตอนเดียวที่ไม่ได้ทำด้วยมือ) หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการนำทองไปตีด้วยแรงคน โดยตีครั้งแรกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
เมื่อตีเสร็จทองจะเริ่มขยายตัวกว้างขึ้นประมาณ 20 เท่า หลังจากนั้นจะนำไปตีครั้งสุดท้าย เรียกว่า “ตีฝัก” ใช้เวลาต่อเนื่องประมาณ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องรีบตีต่อทันทีเพื่อไม่ให้ความร้อนคลายตัว เพราะความร้อนคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทองขยายตัว
หลังจากนั้นก็จะได้ทองคำเปลวที่เป็นแผ่นกลม และจะต้องนำมาแบ่งอีกครั้งหนึ่งตามความต้องการของลูกค้า โดยทองของทางร้านส่วนมากจะส่งไปขายต่างประเทศ เช่น ส่งไปเป็นส่วนประกอบการทำขนมและทำสปาที่เยอรมัน ส่วนลูกค้ารายใหญ่ในประเทศมักเป็นวัดขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ทองคำเปลวเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าปัจจุบันการตีทองคำเปลวด้วยมือจะเหลือน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ไม่มีผู้สืบทอดเนื่องจากต้องใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้นาน รวมถึงการผลิตทองคำเปลวในจำนวนมากหากใช้แต่เพียงแรงงานอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า แต่ชูจิตต์ยังคงยืนยันว่าจะดำเนินกิจการ “แสงวิจิตรทองคำเปลว” ต่อไป เพราะมั่นใจว่าเป็นงานฝีมือที่มีคุณค่าและการทำทองคำเปลวด้วยเครื่องจักรยังไม่สามารถทดแทนรายละเอียดหลายอย่างจากการตีด้วยมือได้