จิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์"บ้านพิบูลธรรม"งานฝีมือที่หาชมได้ยาก

จิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์"บ้านพิบูลธรรม"งานฝีมือที่หาชมได้ยาก

"บ้านพิบูลธรรม" เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่หาชมได้ยาก แต่ไม่ได้เปิดให้ชมอย่างเป็นทางการ

หากใครมีโอกาสแวะไปที่ตึกกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ริมสะพานกษัตริย์ศึก เขตปทุมวัน ลองหาโอกาสชื่นชมจิตรกรรมฝาผนังและบนเพดานเรื่อง รามเกียรติ์ ในอาคารรูปทรงโคโลเนียล สมัยรัชกาลที่ 5-6 ซึ่งมีความงดงามและหาชมได้ยาก 

ที่นี่ไม่ได้เปิดให้เที่ยวชมอย่างเป็นทางการ ถ้าอยากเยี่ยมชมต้องติดต่อล่วงหน้า ยกเว้นแวะไปทำกิจธุระ ก็แค่แหงนหน้าดูสักนิด

อาคารแห่งนี้ เรียกว่า บ้านพิบูลธรรม(บ้านนนที) สร้างในยุคที่เปิดรับอารยธรรมตะวันตก สไตล์การออกแบบมีความปราณีตงดงามจากฝีมือสถาปนิกชาวอิตาลี ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครหลายเรื่อง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในวังของคุณชายและท่านหญิงในสมัยโบราณ

 

 

บ้านพิบูลธรรม เดิมชื่อบ้านนนที

ว่ากันว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานบ้านนนทีให้กับพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ 6 ปีพ.ศ. 2456 พระองค์ได้พระราชทานเงินให้ก่อสร้างตึก 3 ชั้นอีกหลัง มีสะพานเชื่อมกับอาคารหลังแรก ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ แอร์โกเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi)

ส่วนงานจิตรกรรมฝาผนังและเพดานภายในอาคาร เป็นฝีมือของช่างไทยและช่างจีน ดำเนินการนานกว่า 1 ปี การก่อสร้างในยุคนั้นใช้งบกว่า150,000 บาท ซึ่งตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทอดพระเนตรและประทับค้างคืนในปีพ.ศ. 2463

จิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์\"บ้านพิบูลธรรม\"งานฝีมือที่หาชมได้ยาก

กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ปีพ.ศ. 2484  บ้านนนทีถูกระเบิดเสียหายอย่างหนัก เกินกว่าจะซ่อมแซม เจ้าของบ้านจึงขายให้รัฐบาล ตอนนั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามได้อนุมัติให้ซื้อไว้ในปี พ.ศ. 2498 และปรับปรุงซ่อมแซม เพื่อใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมือง และได้รับขนานนามใหม่ว่า บ้านพิบูลธรรม

ในปี พ.ศ. 2502 ได้รับอนุมัติให้เป็นที่ทำการของการพลังงานแห่งชาติ และเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็นกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงานจนถึงปัจจุบัน

อาคารเก่าบ้านพิบูลธรรมทั้งสองหลัง และศาลาไม้อีกหลัง ก็คือ อาคารสำนักงานเลขานุการกรมซึ่งอยู่ด้านหน้า และอาคารกองควบคุมและส่งเสริมพลังงานตั้งเยื้องไปด้านหลัง ส่วนศาลาไม้อยู่ด้านขวาของอาคารสำนักเลขานุการกรม และด้านหน้าของอาคารกองควบคุมและส่งเสริมพลังงาน

จิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์\"บ้านพิบูลธรรม\"งานฝีมือที่หาชมได้ยาก อาคารทั้งสองหลังมีความงดงามทั้งด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ตกแต่งภายในด้วยลายไม้แกะสลักตามเพดานและผนังห้อง ประตู และหน้าต่าง 

ภายในห้องโถงอาคารหน้าส่วนกลาง บนเพดานประดับภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกเรื่องรามเกียรติ์ โถงนอกเป็นจิตรกรรมรูปรามสูรเมขลา ส่วนโถงในรูปทศกัณฐ์ลักนางสีดากำลังต่อสู้กับนกสดายุ

เพดานรอบๆ ภาพเขียนประดับด้วยหูช้างไม้สลักเรียงรายตลอด ถัดลงมาเป็นภาพจิตรกรรมเถาไม้ดอกสีสดสวย ผนังจากระดับขอบประตูบนลงมาประดับไม้สลักลาย ตามขอบสลักลายเถาผลไม้ เสาไม้กลมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมสลักลาย พื้นปูหินอ่อน ปัจจุบันห้องโถงนี้ใช้เป็นห้องเลี้ยงรับรอง

ห้องด้านหน้าทางปีกซ้ายของอาคารหลังนี้ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องทำงาน มีภาพจิตรกรรมแบบเดียวกันประดับที่ฝาผนังด้านขวา เป็นภาพตอนพระรามตามกวาง ส่วนเพดานห้องเป็นภาพ fresco รูปหมู่กามเทพเด็กแบบฝรั่ง เขียนโดยชาวอิตาลีชื่อ Carlo Rigoli

บ้านพิบูลธรรมได้รับการบูรณะในช่วงปี พ.ศ. 2546-2547 โดยกรมศิลปากร ทำให้อาคารยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม

.......

อ้างอิง : วิกิพีเดีย /ภาพ : จากกิจกรรม KTC Press club 

จิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์\"บ้านพิบูลธรรม\"งานฝีมือที่หาชมได้ยาก

จิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์\"บ้านพิบูลธรรม\"งานฝีมือที่หาชมได้ยาก

จิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์\"บ้านพิบูลธรรม\"งานฝีมือที่หาชมได้ยาก