ผ้าไหมไทยดีไซน์นอก งดงามในความต่าง
“ผ้าไหม” เส้นใยธรรมชาติจากการถักทอของมนุษย์ปรากฏโฉมอยู่ในหลายวัฒนธรรม ผ้าไหมไทยเป็นอีกหนึ่งที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ยิ่งนำไหมไทยไปออกแบบด้วยสายตาของดีไซเนอร์ต่างชาติ ยิ่งงดงามในมุมมองที่แตกต่าง
งาน Thai Silk International Fashion Week แฟชั่นวีค ผ้าไหมไทย นานาชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2565 คือประจักษ์พยานของสิ่งนี้
ด้วยแฟชั่นโชว์จากดีไซเนอร์ต่างชาติที่สถานทูตจัดมามีร่วม 50 ประเทศขณะที่เวลามีจำกัด จำต้องเลือกชมตามที่เวลาเอื้ออำนวยเริ่มต้นจากอินโดนีเซีย เนื่องจากเมื่อเดือน ส.ค. กรุงเทพธุรกิจได้ไปร่วมงานแสดงศิลปะนานาชาติ Art Jakarta 2022 ที่อินโดนีเซีย ได้เห็นบรรยากาศความตื่นตัวในแวดวงศิลปะอินโดนีเซีย จึงอยากเห็นผลงานของดีไซเนอร์จากที่นี่เป็นพิเศษซึ่งก็ไม่ผิดหวัง “ลูลู ลุฟตี ลาบิบี” จัดเสื้อเคบายาผสมผสานสไตล์ญี่ปุ่นดูแปลกตา
เจ้าตัวเล่าว่า โชว์วันนี้เป็นซัมเมอร์คอลเลคชัน ชื่อแปลได้ว่า “สมอ” หมายถึง ระหว่างโควิด-19 ระบาดสองปีไม่มีกิจกรรม เศรษฐกิจชะลอตัว คอลเลคชันใหม่เป็นการนำผู้ชมลงเรือถอนสมอจากอดีตล่องเรือสำรวจโลกใหม่ วัสดุที่นำมาทำคอลเลคชันนี้ 80% ใช้ผ้าไหมไทย อีก 20% เป็นผ้าอินโดนีเซีย เรียกว่า ลูริก ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองจากยอกยาการ์ตา
"แรงบันดาลใจมาจากเสื้อผ้า zero waste พยายามลดผ้าเสียด้วยการทำแพทเทิร์นที่ประหยัดผ้า ด้วยการเดรปปิง เป็นแพทเทิร์นหนึ่งในการทำเสื้อผ้าโดยใช้หุ่น แทนที่จะตัดผ้าก็หันมาจับจีบ ปรับแต่งผ้าให้เข้าทรง" ดีไซเนอร์อธิบาย ซึ่งเท่าที่ได้ชมโชว์สังเกตได้ว่า ลูลู ลุฟตี ลาบิบี ทำเสื้อผ้าแบบมีเลเยอร์ เขาเรียกแพทเทิร์นนี้ว่า asymmetric ซึ่งไม่ยากแต่เป็นความท้าทายเพราะไม่มีแพทเทิร์นตายตัว สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง
ส่วนตัวเขาเองนั้นได้แรงบันดาลใจจากดีไซเนอร์ญี่ปุ่น กับแนวคิดที่เรียกว่า วาบิซาบิ ความงดงามที่ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟ็ค งดงามจากความไม่สมบูรณ์ สไตล์ที่เป็นซิกเนเจอร์ของลูลูคือ asymmetric และยูนิเซ็กส์ เสื้อผ้าไม่มีเพศใส่ได้ทั้งหญิงและชาย
คอลเลคชันนี้เป็นการผสมระหว่างผ้าอินโดนีเซียกับผ้าไหมไทย บางแพทเทิร์นดีไซเนอร์ทำจากเกอบายา ชุดประจำชาติอินโดนีเซีย แต่ไม่ใช่เกอบายาแบบเก่า เป็นนิวแฟชั่น ตามสไตล์ของลูลู
แม้ไทยมีผ้าไหมอันโด่งดังแต่อินโดนีเซียก็มีบาติกดังเช่นกัน ลูลูเล่าว่า ผ้าสองชนิดนี้แตกต่างกันในแง่ของกระบวนการ ไหมไทยใช้เทคนิคการทอ บาติกใช้ขี้ผึ้งมีทั้งแบบแฮนด์เมดและแบบพิมพ์
สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการสนับสนุนจากรัฐบาลต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น ดีไซเนอร์จากอินโดนีเซียรายนี้ เล่าว่า รัฐบาลสนับสนุนดีไซเนอร์มากให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์ผ้าอินโดนีเซีย รวมถึงพยายามให้แรงจูงใจส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้อยู่ได้แม้แต่ช่วงโควิดระบาด
"มีความสุขมากที่เป็นดีไซเนอร์ในอินโดนีเซีย เพราะมีผ้ามากมายให้ค้นหานำมาใช้ ผมชอบอยู่ในยอกยาการ์ตามากกว่าอยู่ในเมือง เมื่อมีเzวลาว่างก็ปั่นจักรยาน ผ่อนคลายตัวเองจากงานประจำวัน" ลูลูเล่าถึงชีวิตดีไซเนอร์ที่ฟังดูน่าอิจฉา พร้อมเผยถึงงานคอลเลคชั่นใหม่ที่จะมีชีวิตชีวามากกว่าคอลเลคชันนี้ หลักๆ ยังเป็นผ้าลูริกแต่ก็มีบาติกแพทเทิร์นใหม่ แบบ contemporary บาติก
คุยกับดีไซเนอร์แล้วก็ต้องคุยกับเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย “ระห์หมัด บูดีมัน” เรื่องวัฒนธรรมการแต่งกายของอินโดนีเซีย ทูตตอบว่า พูดยาก เพราะมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ละกลุ่มมีธรรมเนียมการแต่งกายของตนเอง อย่างผ้าลูริกที่นำมาแสดงโชว์มาจากชวาโดยเฉพาะชวากลางแถบยอกยาการ์ตา ผ้าลูริกเป็นผ้าลายเส้น ปกติใช้สีขาวและดำ สะท้อนความเรียบง่ายและอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นสไตล์ของชาวชวา
ลูลู ลุฟตี ลาบิบี (กลาง) กับเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยและภริยา
“เรามีเครื่องแต่งกายประจำชาติ อย่างของผู้หญิงก็เรียกว่า เกอบายา แต่ก็มาจากกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกัน” ทูตกล่าวและว่า รัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นมาก
"เพราะนี่เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของเรา และเราเน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นี่คือผลผลิตสร้างสรรค์อันหนึ่ง ถ้าอยากรู้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นในอินโดนีเซียใหญ่แค่ไหนต้องไปอินโดนีเซีย เพราะมีกิจกรรมแฟชั่นมากมายหลากหลายสไตล์" ขณะเดียวกันสถานทูตอินโดนีเซียก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในไทยหลายรายการ รวมทั้งที่เป็นเจ้าภาพเองด้วย ทุกเดือนก.ย. มีงาน
Trade, Tourism, Investment and Culture Forum (TTICF) ในเวทีวัฒนธรรมมีการส่งเสริมวัฒนธรรมอินโดนีเซียทุกรูปแบบ ก่อนหน้านี้มีการจัดนิทรรศการภาพวาดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และในช่วงThai Silk Fashion Week ศิลปินอินโดนีเซียมาทำเวิร์กชอปที่หอศิลป์ด้วย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งขันในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของสถานทูตอินโดนีเซีย และสำหรับคนที่ชอบผ้าบาติกอินโดนีเซีย ต้องรอเดือน มี.ค. งานออกร้านคณะภริยาทูตจะมีบูธของอินโดนีเซียขายผ้าบาติกด้วย
'มองโกเลีย' โฉบเฉี่ยวและหรูหรา
มองโกเลียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่คนไทยทั่วไปไม่ค่อยรู้จักแฟชั่นจากที่นี่มากนัก คอลเลคชันของดีไซเนอร์ “อมาซองกา ชอยกาลา” (Amazonka Choigaalaa) จากแบรนด์ Michel & Amazonka มีทั้งความโฉบเฉี่ยวและหรูหรา
"เราอยากนำสไตล์และการแต่งกายของเรามานำเสนอด้วยวิธีการใหม่ๆ มิกซ์ให้มีความเป็นหญิงแกร่งมากขึ้น" ดีไซเนอร์กล่าว สังเกตว่างานของเธอมีกลิตเตอร์ทุกชุด เพราะเธอชอบอะไรที่เปล่งประกาย ลงรายละเอียดเล็กๆ
(ดีไซเนอร์มองโกเลีย)
ส่วนความยากง่ายเธอบอกว่า เมนลุคใช้เวลาทำ 3-4 สัปดาห์เพราะมีงานทำมือมากในแต่ละชิ้นต้องใช้คน 7-8 คน ยากตรงที่ต้องใช้คนมาก
ดีไซเนอร์มองโกเลียชื่นชอบผ้าไหมไทยตรงที่ทำมือ 100% สวยมากเมื่อสวมใส่ ในฐานะคนทำเสื้อผ้า "ไม่สามารถทิ้งส่วนใดไปได้เลย เราใช้ทุกส่วนแม้แต่ส่วนเล็กๆ เช่น กระเป๋า เครื่องประดับ อยากทำงานกับผ้าไหมไทยอีกค่ะ"
นอกจากผ้าไหม เมืองไทยยังมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจสำหรับคอลเลคชันใหม่ให้กับอมาซองกา
“ตอนมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อสองสามเดือนก่อนได้ไอเดียมาก ตอนนี้ได้ไอเดียเพิ่มจะผสมผสานกัน ประเทศไทยรุ่มรวยด้านวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ดีไซน์ สร้างแรงบันดาลใจได้มาก” ดีไซเนอร์กล่าวทิ้งท้าย ขณะที่ทูตทูมูร์ อามาร์ซานา ช่วยขยายความเรื่องเครื่องแต่งกายประจำชาติมองโกเลียที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ย้อนกลับไปได้หลายร้อยปี และมีอิทธิพลกับหลายชาติในเอเชียด้วย เช่นเดียวกับผ้าไหมที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของมองโกเลียด้วยเช่นกัน
(เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย)
"วันนี้เรามิกซ์วัฒนธรรมของเรา รายละเอียดงานทำมือให้เข้ากับดีไซน์ไทยและมองโกเลีย ผมคิดว่าสิ่งนี้บ่งบอกความเป็นสังคมของเรา สีก็เหมือนกัน สีน้ำเงิน หมายถึง ท้องฟ้า มีความหมายกับเรามาก ลองสังเกตดูดีๆ เสื้อผ้าวันนี้เป็นผ้าไหมสีน้ำเงิน เป็นสีที่สะท้อนถึงสังคมมองโกเลีย"
ในทัศนะส่วนตัวทูตผ้าไหมมีประวัติศาสตร์อย่างเส้นทางสายไหม ผ้าไหมเป็นตัวแทนทุกสิ่ง เป็นอัตลักษณ์
“เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเข้าร่วมโชว์ที่จะเป็นการเผยแพร่ทั้งวัฒนธรรมไทยและมองโกเลียไปพร้อมๆ กัน”
กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นของมองโกเลียกำลังขยายตัวขึ้นทุกปี แบรนด์ Michel Amazonka แสดงให้เห็นถึงการเติบโตเชิงรุกของแฟชั่นดีไซเนอร์ แฟชั่นโชว์ครั้งนี้คือสารที่รัฐบาลมองโกเลียบอกให้ทราบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมแฟชั่น ทูตรับปากว่าปีหน้าจะมาร่วมงาน Thai Silk International Fashion Week อีก เพื่อแนะนำแฟชั่นดีไซเนอร์มองโกเลียในประเทศไทย บางทีอาจผสมผสานผ้าแคชเมียร์มองโกเลียกับผ้าไหมไทย หรือผ้าตัวอื่นเข้าด้วยกัน
สำหรับคนที่อยากสัมผัสความงามของมองโกเลียโดยตรง "ตอนนี้มีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ -อูลานบาตอร์ ห้าเที่ยวต่อสัปดาห์ เราสามารถไปเที่ยวเมื่อไหร่ก็ได้ ก็หวังว่าเราจะได้เริ่มรื้อฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายอีกครั้ง" ทูตชวนคนไทยเที่ยวมองโกเลีย
'คาซัคสถาน' ความตรงข้ามเอเชียกับยุโรป
คอลเลคชันสุดท้ายที่กรุงเทพธุรกิจได้ชมเป็นของสองดีไซเนอร์หญิงจากคาซัคสถาน Svetlana Sokhoreva & Meruyert Shakerbayeva จากแบรนด์ Shakerbay เป็นการใช้ผ้าไหมไทย 70% ออกแบบสำหรับหญิงยุคใหม่ ส่วนเครื่องประดับทำจากหินธรรมชาติได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมคาซัคสถาน
"เราชอบความตรงข้ามระหว่างสไตล์เอเชียกับยุโรป จึงผสมผสานวัฒนธรรมของเราเข้ากับสไตล์ยุโรป"
แรงบันดาลใจของสองดีไซเนอร์มาจากความชอบผ้าไหมไทยทั้งสีสัน ความสดใสและงดงาม เมื่อได้รับผ้าดีไซเนอร์ทั้งสองคนบอกว่า ตื่นเต้นมากกับเนื้อผ้าคุณภาพสูง เหมาะสำหรับการผสมผสานระหว่างสไตล์เอเชียกับยุโรป เมื่อได้วัตถุดิบดี การทำงานจึงไม่ยาก
“เร็วมากค่ะ สนุกมาก ทำไปก็ฟังเพลงไป ชอบมาก พวกเราชอบกระบวนการทำงานคอลเลคชันนี้มาก”
(สองดีไซเนอร์คาซัคสถานและผลงาน)
ตอนนี้สองดีไซเนอร์ได้ไอเดียสำหรับคอลเลคชันใหม่ สปริงซัมเมอร์ 2023 แล้ว โดยจะใช้ผ้าสีสันสดใส ได้แรงบันดาลใจจากความเป็นตัวของตัวเองของผู้หญิง เพราะสิ่งที่ผู้หญิงสวมใส่ไม่ได้บ่งบอกแค่ตัวตนภายนอก แต่บอกถึงจิตใจภายในด้วย
งาน Thai Silk International Fashion Week ส่วนหนึ่งของมหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 12 ได้ปิดฉากลงแล้ว แต่สายใยวัฒนธรรมระหว่างไทยกับมิตรประเทศมิได้จบลง ผ้าไหมได้เชื่อมโยงนักออกแบบชาวต่างชาติกับผู้ชมชาวไทยและทั่วโลกเข้าด้วยกัน ยิ่งนานวันความสัมพันธ์นี้จะถักทอแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ เพราะผ้าไหมไทยในสายตาดีไซเนอร์ชาวต่างประเทศนั้น คือตัวอย่างของความงดงามในความแตกต่างที่ผสมผสานเข้าหากันอย่างกลมกลืน เปิดโอกาสความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบได้ไม่รู้จบ
(ภาพ: สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย, เพจ Thai Silk Fashion Week)