ยิ่งชอบ 'ตัดสินคนอื่น' ก็ยิ่งทำสุขภาพแย่ลง? เปิดวิธีเลิกตัดสินคนในแง่ลบ
เราต่าง "ตัดสินผู้อื่น" และล้วนถูกผู้อื่นตัดสิน รวมถึงการเปรียบเทียบกันไปมาด้วยมาตรฐานส่วนตัว สังคมจะน่าอยู่ขึ้นกว่านี้ไหม ถ้าไม่มีการตัดสินกันและกัน อีกทั้งการ "ตัดสินคนอื่น" ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย
ผู้หญิงคนนี้ทำงานอะไร? มีเงินเก็บในบัญชีเท่าไร? ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วหรือยัง? ทำไมเรามักจะเผลอตั้งคำถามทำนอง "ตัดสินคนอื่น" เสมอ ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้รู้จักกันดีเลยด้วยซ้ำ ถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำเลยก็ตาม แต่เรากลับสลัดคำถามเหล่านี้ออกจากสมองไม่พ้นสักที
- เราต่างตัดสินผู้อื่น และถูกผู้อื่นตัดสินอยู่เสมอ
การตัดสินคนอื่น (Judging) เป็นเรื่องของสัญชาติญาณมนุษย์ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากที่เราจะหักห้ามสัญชาติญาณของตัวเองเพื่อไม่ให้ตัดสินคนอื่นได้ เช่น เมื่อคุณเห็นหัวหน้ากำลังโวยวาย ต่อหน้าลูกน้องกลางห้องประชุม คุณอาจมีสองความรู้สึกเกิดขึ้น หนึ่งคือ ลูกน้องทำงานไม่ได้เรื่อง และสองคือ หัวหน้าเป็นคนควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดี ไม่ว่าจะข้อหนึ่งหรือสอง คุณก็ได้ตัดสินพวกเขาไปเรียบร้อยแล้ว
แม้ว่าจะยังไม่รู้ที่มาที่ไปที่แน่ชัด ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ที่ทำให้หัวหน้าระเบิดอารมณ์ออกมา แต่ก็สายเกินไปที่เราจะมาลำดับเหตุการณ์กับเรื่องแบบนี้ เพราะสมองของเราทำงานเดินหน้าไปไกลถึงไหนต่อไหนแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินคนอื่น
แล้วเคยนึกสงสัยไหมว่า คนอื่นๆ จะตัดสินตัวเราแบบเดียวกันนี้หรือเปล่า? สิ่งที่พวกเขานึกสงสัยกัน จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง? แล้วทำไมมนุษย์อย่างเราๆ ต้องตั้งคำถามและใส่ใจเรื่องของคนอื่นมากถึงขนาดนี้ด้วย?
- ประเด็นยอดฮิตที่เรามัก "ตัดสินคนอื่น" เมื่อครั้งแรกเจอ
นักวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า คนเรามักจะตัดสินผู้อื่นภายในเสี้ยววินาทีสั้นๆ เมื่อพบกันเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นสมองของเราก็จะเริ่มผุดความสงสัยขึ้นมาทีละข้อๆ เพื่อประมวลและทำการตัดสิน แล้วคนเรามักตัดสินคนอื่นจากเรื่องอะไรบ้าง? เราสรุปมาให้เช็กลิสต์คร่าวๆ ดังนี้
1. ไว้วางใจได้มากน้อยแค่ไหน : ผู้คนมักจะคอยดูท่าทีความน่าเชื่อถือของคุณ ไม่ว่าจะด้วยหน้าตา รูปหน้า หรือคำพูดก็ตาม และพวกเขาจะรู้สึกได้ในทันทีว่าคุณเป็นคนที่ไว้ใจได้ไหม
2. ฐานะทางสังคม : มีงานวิจัยที่กล่าวว่า เสื้อผ้าที่คุณใส่สามารถบ่งบอกฐานะทางสังคมของคุณได้ เช่น หากคุณสวมเสื้อผ้าแบรนด์แนม ก็จะถูกมองว่ามีฐานะร่ำรวยกว่าคนอื่นๆ
3. ระดับสติปัญญา : ผู้คนมักตัดสินว่าคุณเป็นคนฉลาดมากน้อยขนาดไหน จากการสบสายตา และพบว่าคนที่จ้องมองคู่สนทนาระหว่างพูดคุย จะถูกมองว่าเป็นคนที่ฉลาดมากขึ้น
4. รูปร่างหน้าตาภายนอก : ผู้คนจะคอยสังเกต ว่าคุณมีความโดดเด่นมากแค่ไหน เมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คนหมู่มาก แล้วเขาก็อาจเปรียบเทียบคุณกับตัวพวกเขาเองในทันทีเลยก็ว่าได้
5. ประสบความสำเร็จในชีวิตแค่ไหน : การแต่งตัวให้ดูดีอยู่เสมอ จะนำมาซึ่งการประสบความสำเร็จ พวกเขามองว่าคนที่ใส่สูท ผูกไท จะต้องมีหน้าที่การงานที่ดีแน่ๆ
6. ความก้าวหน้าในอาชีพ : ผู้คนมักจะมองว่าคนที่แต่งตัวเนี้ยบ เรียบร้อย มักมีฐานะทางการเงินที่ดี และมักจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างแน่นอน
7. ความท้าทายในชีวิต : พวกเขาจะพยายามหาคำตอบว่า คุณเป็นคนลุยๆ หรือชอบผจญภัยไหม ชื่นชอบไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างท้าทายหรือเปล่า
8. เป็นคนแรงๆ ไหม : ผู้คนอาจตัดสินคุณจากรอยสัก และคนที่พูดจาเสียงดัง ว่าเป็นคนประเภทที่ชอบใช้ความรุนแรง และน่ากลัวไปในคราวเดียวกัน
9. เคร่งศาสนาไหม : ผู้คนมักมองว่า คนที่เเต่งกายเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน ดูเป็นคนที่ธรรมะ ธรรมโม เป็นมิตรและเป็นคนดีมากกว่าคนทั่วๆ ไป
10. เป็นคนเปิดเผยไหม เข้าถึงง่ายไหม : พวกเขาจะพิจารณาว่าคุณเป็นคนที่ชอบเข้าสังคมหรือเปล่า เเละมักจะตัดสินว่าคนที่เก็บตัวมักไม่ชอบยิ้มเวลาที่ถ่ายรูป
11. ความเป็นผู้นำ : คุณสามารถเป็นหัวหน้าให้คนอื่นได้ไหม ซึ่งมักจะตัดสินจากเรื่องพื้นฐาน เช่น วุฒิภาวะ สีหน้า ความน่าเชื่อถือ เเละความเป็นมิตร
12. เคมีมิตรภาพ : พวกเขาจะพิจารณาดูว่า สามารถเป็นเพื่อนกับคุณได้หรือไม่ หรือกำลังมองหาเคมีเเห่งมิตรภาพว่าจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในอนาคตได้ไหม
- การตัดสินคนอื่นอยู่เสมอ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ?
มีการศึกษาจากต่างประเทศหลายชิ้น ชี้ให้เห็นว่า “ไม้บรรทัด” (มาตรฐานเฉพาะบุคคล) ที่เราใช้วัดคนอื่น คือไม้บรรทัดอันเดียวกันกับที่เราใช้วัดตัวของเราเอง เช่น คุณเป็นคนที่รักความสนุกสนาน เป็นสายปาร์ตี้ และมักจะแฮงค์เอาท์อยู่บ่อยๆ คุณก็จะมองว่าคนที่ชอบเก็บตัว นอนดูซีรีย์อยู่ที่ห้องคนเดียว เป็นคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และพวกเขาต้องมีความสุขน้อยกว่าคุณเป็นแน่ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว จึงเผลอตัดสินความสุขของคนอื่น ด้วยความสุขส่วนตัวของตัวเราเอง จนไม่ทันคิดว่า “คนเรามีความสุขที่แตกต่างกันได้”
เคยสังเกตไหมว่า การที่เราไปตัดสินคนอื่นในหลายๆ ครั้ง เรามักเอาสิ่งๆ นั้นมาเปรียบเทียบกับตัวเราอยู่เสมอ บางครั้งเราก็เผลอเอาไม้บรรทัดของคนอื่น มาวัดตัวของเราเองด้วยเหมือนกัน จนเกิดการเปรียบเทียบว่า เขาดีกว่าเราตั้งเยอะ เราด้อยกว่าเขาจังเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว นิสัยใจคอของคนแต่ละคน นั้น ไม่สามารถตัดสินได้ด้วยไม้บรรทัดของใครก็ตาม แม้แต่ไม้บรรทัดของตัวเราเองก็ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การหมกมุ่นอยู่กับการมองโลกในแง่ลบ ชอบตัดสินผู้อื่น ตัดสินตัวเอง และมักจะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ ชุดความคิดและพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้สุขภาพแย่ลงได้ด้วย
เนื่องจากการที่เรามองเห็นสิ่งไม่ดีในผู้อื่นอยู่เสมอ ทำให้เราฝึกฝนจิตใจของเราให้ค้นหาสิ่งที่ไม่ดี สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ "ความเครียด" ที่เพิ่มขึ้น ความเครียดอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เหนื่อยล้า ซึมเศร้า วิตกกังวล และแม้แต่เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีงานวิจัยพบว่า 43% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันทั้งหมดได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากความเครียด ความเครียดสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้อีกมากมาย
- อย่าด่วนตัดสินใครเร็วเกินไป เปิดวิธีปรับใจไม่ให้ "ตัดสินคนอื่น"
ถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะเลิก “ตัดสินคนผู้อื่น” ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกออกไปอย่างทันทีทันใดไม่ได้ แต่น่าจะดีกว่า ถ้าเราหันมาฝึกปรับทัศนคติใหม่ให้มองโลกใมนแง่บวก ลดพลังด้านลบ และลดการตัดสินผู้อื่นให้น้อยลง นอกจากช่วยให้ไม่เครียดแล้ว ยังเป็นการปรับพฤติกรรมตนเองให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นดีขึ้น สร้างสังคมให้น่าอยู่ขึ้นได้ด้วย
โดยอาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนที่มุมมองความคิด และทัศนคติของตัวเอง ดังนี้
1. ฝึกการเอาใจใส่ : การฝึกความเห็นอกเห็นใจเป็นวิธีที่ดี ในการป้องกันไม่ให้คำตัดสินของคุณกลายเป็นแง่ลบเกินไป การเอาใจใส่หมายถึง การเข้าใจสิ่งที่คนอื่นกำลังประสบอยู่ในมุมมองของพวกเขาเอง ไม่ใช่จากมุมมองของคุณ สิ่งนี้ช่วยให้คุณมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น สร้างการตัดสินในเชิงบวกมากขึ้นและปล่อยวางสิ่งที่เป็นลบ
2. ฝึกสติ : หมายถึงการอยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มที่ และสังเกตความคิดของคุณโดยไม่ตัดสิน ยิ่งคุณสามารถจดจ่อกับสิ่งที่มีอยู่ในขณะนั้นได้มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งปล่อยวางการตัดสินเชิงลบได้ง่ายขึ้นเท่านั้น วิธีนี้จะช่วยให้คุณมีสติมากขึ้นในชีวิตประจำวัน และสามารถช่วยลดการตัดสินเชิงลบได้
3. ฝึกความเห็นอกเห็นใจตนเอง : การฝึกความเห็นอกเห็นใจตนเองช่วยให้คุณเลิกตัดสินในแง่ลบได้ เมื่อคุณมีความเห็นอกเห็นใจและให้อภัยกับตัวเองมากเท่าไร การทำเช่นนี้กับผู้อื่นก็ยิ่งทำได้ง่ายขึ้นมากขึ้นเท่านั้น เมื่อคุณปฏิบัติต่อตนเองด้วยความเมตตาและความเข้าใจ คุณจะมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น ถ้าคุณรู้สึกดีกับตัวเองและสิ่งที่คุณเป็น คุณก็จะไม่ใช้เวลาไปกับการจับผิดคนอื่น
ทั้งนี้ อาจเริ่มด้วยการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติตัวเองด้วยคำแนะนำ 3 ข้อดังกล่าว แล้วพยายามทำความรู้จักผู้อื่นทีละนิดๆ เช่น การเปิดใจพูดคุยทำความรู้จักกัน ให้ "เวลา" ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย บางทีเราอาจจะได้พบเพื่อนสนิทหน้าใหม่จากการเปิดใจในครั้งนี้ก็ได้
----------------------------------------
อ้างอิง : Businessinsider, PsychologyToday, Inc.com/Judge, Rehab river sedge, Keirbrady counseling