“Autotune” ไม่ใช่การทำเสียงร้องเป็นหุ่นยนต์ แต่ช่วยปรับให้ตรงโน้ต
ปัจจุบันศิลปินหลายคนใช้ “Autotune” ในการปรับปรุงเสียงร้องให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นโปรแกรมที่ทำให้เสียงเหมือนหุ่นยนต์
แน่นอนว่าปัจจุบันนี้ในวงการเพลงแทบไม่มีใครไม่รู้จักโปรแกรม “Autotune” ที่ศิลปินหลายคนนำมาใช้ในการปรับปรุงเสียงร้องให้มีความคมชัดหรือมีความเป๊ะมากขึ้น เรียกว่าเป็นโปรแกรมที่ใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายแนวดนตรี ไม่ว่าจะเป็น ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี ป๊อบ ไปจนถึงเพลงร็อก เพราะนอกจากทำให้เสียงดีขึ้น(แต่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเสียงเดิม) ยังช่วยให้คำร้องมีความคมชัดและเข้ากับตัวโน้ตมากขึ้น
แท้จริงแล้ว Autotune หรือ ออโต้จูน เป็นโปรแกรมที่ศิลปินหลายคนทั่วโลกนิยมใช้กันมานานหลายปีแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ใช้กันในอุตสาหกรรมเพลงอย่างแพร่หลาย แม้แต่นักร้องชื่อดังระดับโลกอย่าง Lady Gaga เองก็ยังเลือกใช้ออโต้จูนในงานเพลงของเธอเช่นกัน
- ทำความเข้าใจ Autotune ตัวช่วยและเอฟเฟคของศิลปิน
ออโต้จูน คือ Plugin ชนิดหนึ่งที่ทำงานรวมกับ DAW เป็นโปรแกรมที่ช่วยให้เสียงร้องสามารถตรงตามตัวโน้ตได้ใกล้เคียงมากที่สุด เนื่องจากความเป็นจริงแล้วไม่มีใครสามารถร้องเพลงได้ตรงตามโน้ตทุกตัว แต่ออโต้จูนสามารถทำได้
นอกจากนี้ออโต้จูนยังสามารถปรับความหนักเบาของเสียงให้ดูเป็นธรรมชาติ ทำให้เสียงร้องลื่นไหลไม่ติดขัด นอกจากนี้ยังใช้เพื่อปรับแต่งเสียงให้เป็นลักษณะพิเศษเพื่อทำเป็นเสียงเอฟเฟคในเพลงได้ด้วย ซึ่งแนวเพลงที่นิยมใช้เสียงเอฟเฟค ได้แก่ ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี และ EDM
สำหรับสิ่งที่หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ออโต้จูน” ก็คือ ความจริงแล้วมันไม่สามารถสร้างเสียงขึ้นมาหรือเลียนเสียงเหมือนกับคนได้เป๊ะๆ นั่นเอง
- หลักการทำงานของ Autotune
ในส่วนของหลักการการทำงานของออโต้จูนนั้น ผู้ใช้ต้องตั้งจุดอ้างอิงของโน้ตที่จะใช้เพื่อปรับเสียงร้องให้สอดคล้องไปกับโน้ตและคีย์เพลง แล้วจึงปรับความหนักเบาเพื่อให้เสียงออกมาเป็นธรรมชาติมากที่สุด
ขั้นต่อมาก็จะเป็นการตั้งค่า Plugin ให้รู้ว่าเสียงที่จะส่งเข้าไปมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น เสียงสูง เสียงกลาง หรือ เสียงต่ำ หลังจากนั้นจึงมาปรับแต่งความเร็วในการดึงเสียงให้กลับไปให้ถูกคีย์ว่าสามารถทำได้เร็วขนาดไหน และถ้าตั้งค่าเร็วมากเกินไปก็อาจทำเสียงออกมาเหมือนหุ่นยนต์ เพราะยิ่งปรับให้เร็วมากเท่าไหร่ความเป็นธรรมชาติของเสียงก็จะยิ่งลดน้อยลง
แม้ว่าออโต้จูนจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เพลงออกมาไพเราะและเสียงตรงตามคีย์ตัวโน้ต แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ผู้ร้องต้องฝึกฝนให้ร้องเพลงให้ตรงโน้ตและคีย์มากที่สุด เพื่อที่จะได้ใช้ออโต้จูนในการปรับเสียงน้อยที่สุด เว้นแต่ว่าบางแนวเพลงที่ต้องการใส่เสียงเอฟเฟคจริงๆ
นอกจากนี้ “โต้ง TWOPEE” ศิลปินฮอปฮอปชื่อดังของไทย เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Guitar Mag ไว้ว่า “ออโต้จูนเป็นอีกศาสตร์หนึ่ง เหมือนข้าวกะเพราที่มันอร่อยมาก แต่ร้านหนึ่งเป็นแบบสตรีตฟู้ด อีกแบบหนึ่งเป็นแบบ Thai Course ห่อมาในใบตอง แต่อร่อยเหมือนกัน มันก็อยู่ที่วิธีพรีเซ็นต์มันเป็นยังไง”
ดังนั้นแม้ว่าปัจจุบันจะมีตัวช่วยอย่าง “Autotune” เพื่อปรับแต่งเสียงของศิลปินให้ออกมาเป๊ะปังขนาดไหน แต่หากเสียงต้นฉบับเพี้ยนมากเกินไป โปรแกรมเหล่านี้ก็ไม่สามารถช่วยได้ แถมยังทำให้เสียงกลายเป็นหุ่นยนต์เสียอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนักร้องมืออาชีพจึงต้องฝึกฝนเสียงร้องอย่างสม่ำเสมอ แล้วให้ออโต้จูนเป็นเพียงตัวช่วยเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ถึงจะได้เสียงร้องและบทเพลงที่ดีที่สุดเพื่อนำเสนอต่อแฟนเพลงนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล : Carnaporto 2011 และ Proplugin