"Chitbeer" กับความฝันส่ง "คราฟต์เบียร์ไทย" ขึ้นแท่น "Soft Power" บนเวทีโลก
แม้ว่าคราฟต์เบียร์ไทยชื่อดังอย่าง “Chitbeer” จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ผู้ก่อตั้งอย่าง “วิชิต” ยังฝันให้เบียร์ไทยก้าวไปไกลบนเวทีโลกด้วยการเป็น “Soft Power” สุดปัง!
แน่นอนว่าสำหรับสายดื่มที่นิยม “คราฟต์เบียร์” โดยเฉพาะที่เป็นแบรนด์ไทย ย่อมรู้จัก “Chitbeer” เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นหนึ่งในคราฟต์เบียร์ไทยเจ้าแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับและความนิยมอย่างแพร่หลายไปถึงต่างประเทศ แต่สำหรับ วิชิต ซ้ายกล้า ผู้ก่อตั้งยังมองว่าเครื่องดื่มคราฟต์แบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์หรือสุรายังสามารถไปได้ไกลมากกว่านี้ หากผลักดันให้เป็นหนึ่งใน “Soft Power”
ก่อนอื่นขอพาย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดของ “Chitbeer” กันสักนิด ว่ากันว่าเบียร์สูตรนี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ ซึ่ง วิชิต เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ช่วงที่ตนอยู่ต่างประเทศได้ทดลองต้มเบียร์เล่นๆ ดู ทำให้ได้รู้ว่าคนธรรมดาก็ต้มเบียร์กินเองได้ และเมื่อกลับมาไทยก็ยังคงทำต่อแม้ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะยังไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร และมองว่าคนไทยหลายคนมีความรู้เรื่องการต้มเบียร์ และหากสามารถทำเป็นธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมาย ก็จะช่วยให้อีกหลายคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้
- Chitbeer ไม่ได้มองนายทุนเป็นคู่แข่ง
แม้ว่าในประเทศไทยจะมีนายทุนใหญ่หลายเจ้าที่ทำธุรกิจเบียร์ด้วยราคาและช่องทางการขายที่เข้าถึงง่าย แต่สำหรับ Chitbeer กลับมองว่ากลุ่มทุนเหล่านั้นไม่ใช่คู่แข่งทางการตลาด เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเป็นคนละกลุ่มกัน สำหรับ “คราฟต์เบียร์” ถือว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ชอบความแปลกใหม่และความเป็นเอกลักษณ์
นอกจากนี้วิชิตยังมองว่ากลุ่มชนชั้นกลางในยุคปัจจุบันไปจนถึงอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจมีเพียงร้อยละ 5 จากประชากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งคนกลุ่มนี้คือเป้าหมายหลักของธุรกิจคราฟต์เบียร์ ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดไม่ได้มีเยอะมากเหมือนกับต่างประเทศ
“วิธีเดียวที่ทำให้แบรนด์แข็งแรงได้คือต้องมีคอมมูนิตี้ด้วย เพื่อให้มีการสอนวิธีต้มเบียร์ต่อไป มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ช่วยกันทำการตลาด ไม่ได้มาแข่งขันกัน แต่อยากทำให้คนรู้ว่ามีเบียร์ทางเลือก ให้ผู้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม” วิชิตกล่าว
- คราฟต์เบียร์ไทย โกอินเตอร์ได้ หากผลักดันเป็น Soft Power
สำหรับหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทยวิชิตมองว่าคือ “อาหาร” และ “เครื่องดื่ม” ซึ่งถือเป็น Soft Power ที่สำคัญของไทยและโด่งดังมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เช่น ส้มตำ ต้มยำกุ้ง ดังนั้นหากนำเบียร์คราฟต์ที่ถือเป็นเครื่องดื่มศิลปะเข้ามาผสมผสานและผลักดันให้เป็นซอฟท์พาวเวอร์ไปทั่วโลกได้ ก็จะช่วยให้นานาประเทศ รับรู้และเข้าถึงเครื่องดื่มชนิดนี้ของไทย และสร้างเม็ดเงินให้เข้าสู่ประเทศไทยได้อีกทาง
คราฟต์เบียร์และสุราพื้นบ้านอาจเริ่มต้นนับหนึ่งยาก หากจะตั้งร้านขายขึ้นมาเดี่ยวๆ แต่ถ้าใช้วิธีส่งไปขายกับร้านอาหารไทยที่มีอยู่แล้วมากมายหลากหลายสาขาทั่วโลก ผู้ประกอบการคราฟต์เองก็ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ และร้านอาหารเองก็จะได้มีเครื่องดื่มไปขายคู่กัน เป็นการยกระดับอาหารไทยและ Soft Power ไทย และตนเองก็อยากทำให้ภาครัฐได้เห็นว่าเครื่องดื่มคราฟต์ท์ไทยก็โด่งดังไปไกลได้ เพราะที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยก็เพราะสนใจใน “อาหารไทย” เป็นอันดับต้นๆ
“อาจลองเริ่มทำคราฟต์เบียร์ด้วยการทำเป็นงานอดิเรก ถ้ารักมันจริงๆ ผลตอบรับดี เราค่อยผลักดันเป็นธุรกิจ หากพื้นฐานเริ่มต้นจากความรักแล้วจะสำเร็จ” วิชิต กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้ที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจคราฟต์เบียร์ไทย
ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็น Chitbeer หรือคราฟต์เบียร์ไทยอื่นๆ แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ความจริงผู้ที่สนใจในธุรกิจดังกล่าวยังไม่ได้มีเยอะมากถึงขั้นต้องแย่งส่วนแบ่งการตลาดกัน ดังนั้นใครที่มีใจรักและอยากทดลองทำเครื่องดื่มใหม่ๆ นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสายดื่มที่อยากผันตัวมาจับธุรกิจเครื่องดื่มคราฟต์แบบไทยๆ ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว