"วาเลนไทน์" ชวนอัปเดต 12 รูปแบบความสัมพันธ์ รู้กันในหมู่ "เจน Z"

"วาเลนไทน์" ชวนอัปเดต 12 รูปแบบความสัมพันธ์ รู้กันในหมู่ "เจน Z"

เมื่อชีวิตไม่ได้มีแค่ “รัก” และ “เกลียด” อัปเดต 12 รูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ รับ “วันวาเลนไทน์” ที่นิยมใช้ในหมู่ “ชาวเจน Z” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เช็คดูว่าคุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์แบบใด

หากพูดถึง “รูปแบบความสัมพันธ์” ถ้าเป็นในอดีต ก็มีอยู่เพียงแค่ไม่กี่อย่างที่พอจะนึกออก ถ้าไม่ใช่เพื่อน ก็เป็น “คนคุย” เมื่อพัฒนาไปอีกก็กลายเป็น “คนรัก” และหากทั้งคู่ตกลงปลงใจเป็นคู่ครองกัน กลายเป็น “คู่ชีวิต” กันในที่สุด แต่เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบันมีรูปแบบความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นมากมาย

การอธิบายความสัมพันธ์ในปัจจุบันจึงมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนเริ่มหันมาใช้ “แอปพลิเคชันหาคู่” ทำให้พฤติกรรมและภาษาของเราในการระบุความสัมพันธ์เปลี่ยนไปรวมถึงเกิด “ทางเลือก” มากมาย 

กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวมคำนิยามของความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่กำลังแพร่หลายในหมู่ชาวเจน Z ในปัจจุบัน ผ่านการให้ความหมายของ นาตาลี โจนส์ นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์และการหลงตัวเอง และ ชาน บูแดรม ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศและความสัมพันธ์ของแอปหาคู่ Bumble ซึ่งให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The New York Times

“เมื่อคุณมีคนให้เลือกมากมาย คุณสามารถทำอะไรก็ได้ คุณสามารถซ่อนตัวตนที่แท้จริงของคุณผ่านการหาคู่ออนไลน์ คุณสามารถหลอกคนนั้น คุณโทรหาคนนี้ได้ พฤติกรรมและตัวเลือกมากมายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของรูปแบบความสัมพันธ์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” โจนส์กล่าว

สำหรับความสัมพันธ์ในยุคปัจจุบันที่โจนส์ และ บูแดรมได้หยิบยกมานั้นมีด้วยกัน 12 รูปแบบความสัมพันธ์ ดังนี้

1. Breadcrumbing - หว่านเสน่ห์ไปเรื่อย ไม่จริงจังกับใคร

หลายคนที่เล่นแอปหาคู่ อาจไม่ได้ต้องการจะเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใคร แต่เล่นเพราะแค่อยาก “เช็กเรตติ้ง” ด้วยการหว่านเสน่ห์ไปเรื่อย เต๊าะคนนั้น จีบคนนี้ หยอกคนโน้น ไม่ได้หวังจะจริงจัง ซึ่งเปรียบได้กับ การโปรยขนมปังลงพื้น แบบที่ “ฮันเซลและเกรเทล” โรยไว้ตามทางเพื่อหวังใช้เดินตามทางกลับบ้านจากการถูกทิ้งในป่า แต่แตกต่างที่เหล่า “Breadcrumbing” โปรยเสน่ห์ไปทั่ว เพื่อให้คนมาสนใจเท่านั้นเอง

 

2. Cobwebbing - ทิ้งของคนเก่าและพร้อมมูฟออน

“Cobwebbing” หมายถึง คนที่พร้อมจะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ พร้อมจะ “มูฟออน” พวกเขาจึงทำการลบล้างความทรงจำทั้งหมดที่มีกับคนเก่าทิ้งให้หมด ไม่ว่าจะเป็น ของขวัญที่เคยได้มา รูปภาพแสนหวานในโทรศัพท์ ข้อความซึ้ง ๆ เพื่อไม่ให้กลับไปคิดถึงเรื่องราวเก่า ๆ หรือ หวังให้ “ถ่านไฟเก่า” ปะทุอีกครั้ง โดยการทิ้งของและความทรงจำเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรู้สึกมีพลัง มั่นใจ และเปิดรับคนใหม่ได้ง่ายขึ้น

 

3. Cuffing - คนที่จริงจังกับความสัมพันธ์

หลายคนอาจจะคุ้นหูกับคำว่า “Cuffing Season” ที่แปลว่าฤดูหาคู่ ซึ่งหมายถึงช่วงฤดูหนาวที่มนุษย์เกิดความเหงาและต้องการหาใครสักคนมาอยู่ด้วย และเมื่อนำคำว่า “Cuffing” ออกมาใช้เดี่ยว ๆ โดยไม่อิงกับฤดู สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี จึงหมายถึง คนที่จริงจังในความสัมพันธ์ ผูกติดกับใครคนใดคนหนึ่ง เหมือนกับ “ถูกใส่กุญแจมือ” ซึ่งเป็นความหมายเดิมของ Cuffing นั่นเอง

4. Cyberflashing - ส่งภาพโป๊ โดยไม่ได้ขอ

ในยุคปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่า การส่งภาพลับของตัวเองให้กับคนที่เราคุยด้วยอาจไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าทั้งคู่ต่างยินยอมพร้อมใจ แต่ถ้าเป็นการส่งภาพไปให้คนอื่นที่ไม่ได้ร้องขอ ไม่ว่าจะส่งทางข้อความส่วนตัวก็ดี หรือจะทาง Airdrop ก็ดี แน่นอนว่า นี่ถือเป็นเรื่องกระอักกระอ่วน และสร้างความไม่พอใจไม่น้อยเลยทีเดียว 

ทั้งนี้ ในบางพื้นที่เริ่มมีการออกกฎหมายเอาผิดกับการกระทำนี้โดยตรงแล้ว อย่างเช่นแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส ที่ออกกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว ให้เหยื่อได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย และเป็นจุดจบของพวกขี้โชว์ไปโดยปริยาย

 

5. Cookie-jarring - มีตัวจริงอยู่แล้ว แต่คบเผื่อเลือก

เมื่อเรายังไม่ได้คบกับใครเป็นจริงเป็นจัง เรายังมีสิทธิ์คุยกับใครหลายคนพร้อมกัน เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ตามสัญชาตญาณของมนุษย์ แต่คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ ถ้าคุณมี “ตัวจริง” อยู่แล้ว ยังไปจีบคนอื่นไว้เพื่อเอาไว้เป็น “ตัวสำรอง” เผื่อโดนเทจากเบอร์ 1 ก็ยังมี “ของตาย” ไว้ปลอบใจ ซึ่งเปรียบเทียบเหล่าของตายที่ยังมีลมหายใจเป็น “Cookie-jarring” คุกกี้ที่นอนรออยู่ในโหล รอคนมาหยิบกินยามหิว

 

6. Ghosting - อยู่ดี ๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ

คงจะไม่มีคำนิยามใดเหมาะสมกับ “Ghosting” ไปกว่า “อยู่ดี ๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ยังคุยกันอยู่ดี ๆ แต่บทจะเทก็เทกันดื้อ ๆ ทำให้หลายคนโดนทิ้งท้ายบทสนทนาไว้ที่ “ไปกินข้าวก่อนนะ” หรือ “ไปอาบน้ำก่อนนะ” ไม่มีการบอกกันดี ๆ ว่าไม่อยากคุยด้วยแล้ว คนรอก็ได้แต่คิดว่าไปกินข้าวถึงไหน อาบน้ำนานจัง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างมาก อาจทำให้ผู้คนตั้งคำถามถึงคุณค่าในตนเองและคุณค่าของตนเองในฐานะมนุษย์ พร้อมสร้างบาดแผลภายในใจให้อีกด้วย

 

7. Love Bombing - รักเกินรักมักทำลาย

คลั่งรัก” เป็นอาการตกหลุมรักจนหัวปักหัวปำ ซึ่งฟังดูเป็นคำที่น่ารัก และใคร ๆ ก็อยากมีบ้าง แต่ถ้าหากคลั่งรักมากเกินไปอาจจะผันเปลี่ยนไปเป็น “รักเกินรักมักทำลาย” หรือ “ระเบิดแห่งรัก” (Love Bombing) ซึ่งเป็นการพยายามควบคุมอีกฝ่ายให้เป็นในทิศทางที่ต้องการ ทั้งไม่ให้ไปเจอครอบครัวและเพื่อนฝูง, คุมความประพฤติ, รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว ฯลฯ เหมือนตกอยู่ในฐานะ “นักโทษ” ไม่ใช่ “คนรัก”

 

8. Orbiting - เลิกไปแล้ว แต่ยังตามส่องโซเชียล

หลายครั้งที่เมื่อเลิกกันไปแล้ว แต่ยังทำใจไม่ได้ เรามักจะแอบไปส่องโซเชียลมีเดียของเหล่าบรรดาแฟนเก่า หรือ คนเคยคุย เพื่อติดตามดูว่าชีวิตที่ไม่มีเรานั้นเขาสบายดีหรือไม่ บางทีเผลอมือลั่นไปกดไลก์จนเขาบล็อกเรา แต่ยังไม่ลดความพยายามยืมแอคเคาท์ของเพื่อนไปตามสืบ 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคนที่ตามไปกดไลก์รัว ๆ หรือตามคอมเมนต์ทุกรูป เพื่อจะได้คิดว่าเขาสนใจ และกลับมาคุยกันเหมือนเดิม แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย เป็นเพียงแค่ “ดาวบริวาร” ที่โคจรอยู่รอบตัวเขาอยู่ห่าง ๆ เท่านั้นเอง

 

9. Rizz - ใช้หน้าตาหว่านเสน่ห์ให้คนตกหลุมรัก

“Rizz” เป็นคำศัพท์ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในชาวเจน Z ที่ใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok โดยคำนี้นั้นย่อมาจากคำว่า Charisma ที่แปลว่า เสน่ห์ ดังนั้นคำนี้จึงมีความหมายว่า เป็นการใช้หน้าตา เสน่ห์ทำให้คนตกหลุมรัก ซึ่งความหมายดังเดิมตามที่ ไค ซีแนต สตรีมเมอร์และอินฟลูเอนเซอร์ของ Twitch ผู้บัญญัติศัพท์นี้ ระบุว่า  คำนี้ หมายถึงความสามารถในทำให้คนที่ไม่สนใจคุณในตอนแรก หันมาสนใจคุณได้

 

10. Situationship - มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน

“Situationship” เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันแล้วว่าไม่มุ่งหวังที่จะผูกมัดหรือครอบครองด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นคนรัก โดยไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน ปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงความสัมพันธ์ในเชิงโรแมนติก หรือมีเรื่องของเซ็กส์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ เป็นความสัมพันธ์ที่คลุมเครือ ให้มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน ซึ่งต้องพึงระวังหากวันใดที่มีคนหนึ่งต้องการสถานะที่ชัดเจน ความสัมพันธ์นี้อาจจะจบลงแบบไม่สวยเท่าใดนัก

 

11. Soft-Launching - อยากอวดแฟน แต่โพสต์อวัยวะบางส่วน ให้คนลุ้น ๆ

เวลาที่เรามีความรัก เราย่อมอยากจะประกาศให้โลกได้รับรู้ถึงความน่ารักของคนรัก ทั้งนี้มีบางคนที่อยากจะเปิดตัวให้รู้ว่ามีคนคุยแล้ว แต่ก็ไม่กล้าออกตัวแรง เพราะกลัวว่าสุดท้ายแล้วคนนี้อาจจะยังไม่ใช่ เลยขอ “เพลย์เซฟ” ไว้ก่อนด้วยการลงรูป “คนนั้น” แบบวับ ๆ แวม ๆ เช่น ลงรูปมือ หลังหู ติดชายเสื้อบ้าง นาฬิกาบ้าง เพื่อให้คนได้พอสงสัยว่าเขาคนนั้นเป็นใคร ชวนให้ลุ้น ๆ ไปพร้อมกัน และเมื่อมั่นใจว่าคนนี้คือ “คนที่ใช่” แล้วค่อยเปิดตัวแบบจัดเต็ม

 

12. The Three Flags - ธง 3 สี แทนสัญญาณของคู่เดท 

เมื่อเราได้ลองคบกับใครไปสักระยะหนึ่ง เราย่อมประเมินว่าเราอยากจะเดินไปต่อกับเขา หรือหยุดอยู่แค่ตรงนี้ ซึ่งเกณฑ์ในการประเมินนี้ เรียกว่า “ธง 3 สี” (The Three Flags) ประกอบไปด้วย

“สีแดง” แทนถึง อันตราย หนีไปให้ไกล ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับคนนี้อีก ส่วน “สีเขียว” แสดงถึง ความน่ารัก มีเสน่ห์ แสนดี คนนี้ผ่าน คบต่อได้ ขณะที่ “สีเบจ” เป็นสัญลักษณ์ของ ความน่าเบื่อ เฉื่อยชา ไม่ได้แย่แต่ก็ไม่ได้ดี และไม่มีลูกเล่นอะไรที่จะมัดใจ ซึ่งเกณฑ์ของแต่ละคนนั้นก็ไม่เหมือนกัน บางคนธงสีแดงขึ้นจนกลายเป็นสีเลือดหมูแล้วแต่อาจจะยังเห็นเป็นสีเขียวอยู่ก็ได้เช่นกัน

 

โซเชียลมีเดียเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแสดงให้เรารับรู้ได้ว่าแต่ละคนนั้นคิดอย่างไรกับเรา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการตกลงกันของคน 2 คน (หรือตัวคุณคนเดียวสำหรับ Orbiting) ว่าจะโอเคกับสถานะที่เป็นอยู่หรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกคนล้วนมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง แต่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ขอให้ทุกคนไม่ทุกข์จนเกินไปกับความสัมพันธ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในวันแห่งความรักนี้

ที่มา: BBCMashableThe New York Times

กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง

\"วาเลนไทน์\" ชวนอัปเดต 12 รูปแบบความสัมพันธ์ รู้กันในหมู่ \"เจน Z\"