สถาบันมวยไทยแห่งชาติ หมากสำคัญของ Soft Power | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
มวยไทยเป็นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับระดับสากล
สิ่งที่ทำให้มวยไทยแตกต่างจากทุนทางวัฒนธรรมอื่นของประเทศ คือ การหลอมรวมกันระหว่างกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม และมิติทางเศรษฐกิจ ทุนทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าระดับสมควรได้รับการยกระดับเป็น Soft Power หลักของประเทศ
แต่การจะเดินหน้าเพื่อให้ Soft Power เรื่องนี้เกิดขึ้นต้องมีแม่งานในการขับเคลื่อนและประสานสิบทิศ การจัดตั้งสถาบันมวยไทยแห่งชาติ จึงเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับมวยไทยให้กลายเป็นสมบัติของคนทั้งโลกอย่างแท้จริง
ด้านกีฬา มวยไทยเป็นกีฬาที่อยู่ในเวทีระดับนานาชาติมานานแล้ว ทั้งในด้านการแข่งขัน การฝึกเพื่อป้องกันตัว หรือการแปลงรูปไปสู่การออกกำลังรักษาสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม หากถอดบทเรียนของการสร้าง Soft Power ของประเทศต่างๆ มาใช้เป็นแนวทางของการพัฒนาสถาบันมวยไทย มีเรื่องสำคัญที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องทำให้สำเร็จอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่
1.การตอกย้ำความเป็นเจ้าของ “มวยไทย” ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลด้วยการเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน (Standard Setter) สถาบันมวยไทยแห่งชาติ “ต้อง” ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรฐานและพัฒนาผู้ประเมินมาตรฐานของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย
ด้วยการให้ใบรับรองการเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทย (Certified Thai Boxing Trainer) ที่มีการแบ่งระดับและประเภทการฝึกสอนที่ชัดเจน ว่ามีผู้ฝึกสอนระดับใดบ้าง แต่ละระดับต้องมีสมรรถนะด้านไหน
รวมถึงการแบ่งประเภทผู้ฝึกเป็นผู้ฝึกสอนเพื่อการแข่ง (Competition Trainer) ผู้ฝึกสอนเพื่อการป้องกันตัว (Self-Defense Trainer) ผู้ฝึกสอนเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ (Health Promotion Trainer) และผู้ฝึกสอนด้านศิลปะการแสดง (Performing Art Trainer)
นอกจากนี้แล้ว สถาบันฯ ยังต้องทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฝึก และอาจไปถึงกับมีการตรวจสอบคุณภาพของอุปกรณ์เหล่านี้ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนด (Quality Audit)
2.การออกแบบโครงสร้างของสถาบันฯ ให้มีความเป็นสากลตั้งแต่เริ่ม (Internationally Designed to be an International Body) ด้วยการมีคณะทำงานที่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนในระดับนานาชาติ
ที่ครอบคลุมทั้งด้านการบริหาร การส่งเสริมวัฒนธรรม การสร้างเครือข่ายการทำงาน และเครือข่ายทางธุรกิจ สิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือ การใช้กรอบคิดว่าสถาบันมวยไทยแห่งชาติ คือ สถาบันของคนไทย เพราะเป็นการมองจากภายในไปสู่ภายนอก (Inside-Out) จะทำให้การผลักดันมวยไทยให้กลายเป็น Soft Power เกิดขึ้นได้ยาก
กรอบคิดของการจัดตั้งต้องเป็นการจัดตั้งสถาบันระดับสากล (Outside-In) กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกการเดินทางไปข้างหน้าย่อมทำได้ง่ายกว่ามาตามแก่ไปทีละเปลาะเอาทีหลัง
3.การเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐกิจ (Economic-Driven Organization) เป้าหมายสำคัญของการสร้าง Soft Power คือ การใช้พลังทางเศรษฐกิจในการกรุยทางไปสู่การเผยแพร่ทุนทางวัฒนธรรม ความสำเร็จของภาพยนตร์อเมริกัน ซีรีส์เกาหลี นักร้องจากจีน นักออกแบบจากอิตาลี ล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้
เพราะหากไม่ใช้มิติทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจหลักในการเดินหน้า ก็จะไม่มีทรัพยากรและขีดความสามารถในการแข่งขันไปต่อกรกับ Soft Power อื่นในระดับนานาชาติได้
นักมวยไทยนั้น ไม่ว่าขึ้นสู้บนเวทีไหนในโลกนี้ก็เป็นที่ครั่นคร้ามของคู่แข่ง การสร้างสถาบันมวยไทยแห่งชาติก็ต้องใช้จิตวิญญาณเดียวกันในการก่อตั้ง เพราะเวที Soft Power โลกไม่ใช่ทุ่งลาเวนเดอร์ ใครไม่เก่งจริง หรือชักธงรบตอนไม่พร้อม ก็มีหวังโดนหมัดน็อคหามลงมาจากเวทีตั้งแต่ยังไม่หมดยกแรกเสียด้วยซ้ำ