‘สงกรานต์ 2566’ เปิดปฏิทินวันที่ 13-14-15 เมษายน คือวันสำคัญอะไรบ้าง?
เปิดปฏิทิน “สงกรานต์ 2566” วันที่ 13-14-15 เมษายน คือวันสำคัญอะไรบ้าง รวมถึงรู้จักประเพณี “วันไหลสงกรานต์” ที่มีจัดขึ้นเฉพาะในบางพื้นที่ในไทยเท่านั้น แล้ววันไหลตรงกับวันที่เท่าไร?
สงกรานต์ 2566 คึกคักแน่นอน! หลังจากซบเซาจากโควิด-19 ไปหลายปี โดยปีนี้ภาครัฐไฟเขียวจัด “เทศกาลสงกรานต์” ยิ่งใหญ่อลังการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วไทย ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงแนวทางการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 ว่าประกอบด้วย 9 แนวทางสำคัญ ดังนี้
- ให้ร่วมกันจัดงานเทศกาลสงกรานต์ มุ่งเน้นสืบสานคุณค่าประเพณีอันดีงาม สู่การรับรู้ของชาวต่างชาติ
- ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมไทยผ่านประเพณีสงกรานต์อย่างเหมาะสม
- รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกิจกรรมวันสงกรานต์ สรงน้ำพระพุทธรูป ขอพรผู้สูงอายุ ทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ทำบุญตักบาตร
- รณรงค์ให้แต่งกายด้วยใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทยย้อนยุค หรือชุดสุภาพ เข้าร่วมกิจกรรมวันสงกรานต์
- สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรมในเทศกาลสงกรานต์ 2566
- เจ้าหน้าที่ให้บริการด้านความปลอดภัย และรักษามาตรการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
- ขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
- การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม 608 (กลุ่มเสี่ยง) ให้รักษามาตรการการป้องกัน การแพร่ระบาดของ COVID-19
- ส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีสงกรานต์ระดับนานาชาติ เนื่องในโอกาสที่สงกรานต์ในประเทศไทย เข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลกของยูเนสโก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
แต่ก่อนจะถึงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ลองมาทบทวนกันสักนิดว่าวันสำคัญในช่วงสงกรานต์ ซึ่งตรงกับวันที่ 13-14-15 เมษายน 2566 ประกอบไปด้วยวันอะไรบ้าง และแต่ละวันมีความสำคัญอย่างไร?
13 เมษายน "วันผู้สูงอายุ" พร้อมสัญลักษณ์ "ดอกลำดวน"
ปฏิทินยุคปัจจุบันกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และนับเป็นวันหยุดราชการ แต่หลายคนอาจจะหลงลืมว่าวันสงกรานต์แต่ละวันมีความสำคัญซ่อนอยู่
เริ่มจากวันที่ 13 เมษายน นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์วันแรกแล้ว ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุด้วย โดยเริ่มมีขึ้นในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีการกำหนด "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" ขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่บุพการี ผู้อาวุโส หรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคม
ต้นกำเนิดเริ่มมาจากในสมัยนั้นได้มีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยได้มอบให้ "กรมประชาสงเคราะห์" จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้นในปี 2496 เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เดือดร้อน ประสบปัญหาในการทำมาหากินและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีการสานต่อความสำคัญของ "วันผู้สูงอายุ" โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืนยาว
14 เมษายน "วันครอบครัว" วันรวมญาติปีใหม่ไทย
ถัดมาคือวันที่ 14 เมษายน รัฐบาลกำหนดให้เป็น “วันครอบครัว” ของทุกปี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว และใช้เวลาว่างในวันหยุดยาวช่วงเทศกาล "สงกรานต์" ให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว
อีกทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อรวมญาติ พบปะครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว รดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ความอบอุ่น และความสุขของครอบครัวตามประเพณีไทย
สำหรับที่มาของ “วันครอบครัว” นั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสเดินทางกลับภูมิลำเนาได้โดยสะดวก
15 เมษายน “วันเถลิงศก” หรือวันเปลี่ยนศักราชใหม่
ตามปกติในทุกๆ ปี วันที่ 15 เมษายน ถือเป็นวันเถลิงศกหรือวันขึ้นปีใหม่ไทย แต่หากดูตามการคำนวณวัน-เวลาแบบเป๊ะๆ ตามปฏิทินทางจันทรคติในตำราโบราณ (ซึ่งจะทำการคำนวณใหม่ทุกๆ ปี) ปรากฏว่าสงกรานต์ปีนี้ วันเถลิงศกตรงกับวันที่ 16 เมษายน 2566 ณ เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที ซึ่งถือเป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่นั่นเอง
"วันไหลสงกรานต์" จัดขึ้นบางจังหวัดเท่านั้น ตรงกับวันไหนบ้าง?
อย่างไรก็ตาม หากดูตามปฏิทินยุคปัจจุบัน ปกติแล้วส่วนใหญ่เกือบทุกพื้นที่ทั่วไทยจะจัดงานเทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-14-15 เมษายน แต่ในบางพื้นที่ บางจังหวัด ไม่ได้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ตรงกับทั้งสามวันดังกล่าว แต่จะมีประเพณีสงกรานต์ในช่วงเวลาที่ถัดออกไปอีก (ส่วนใหญ่พบได้ในภาคตะวันออกและภาคกลางบางพื้นที่) โดยเรียกกันว่า “วันไหลสงกรานต์” ได้แก่
- 16-23 เมษายน “วันไหลสงกรานต์ จ.ชลบุรี”
จังหวัดชลบุรี จะมีการจัดงานวันไหลสงกรานต์ในช่วงวันที่ 16-23 เมษายน ไล่เรียงกันไปตามแต่ละพื้นที่ โดยจะแบ่งตามวันที่แตกต่างกันไป เช่น วันที่ 16-17 เมษายน ประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน, วันที่ 18-19 เมษายน ประเพณีวันไหลนาเกลือพัทยา, วันที่ 19-21 เมษายน ประเพณีกองข้าว สงกรานต์ศรีราชา, วันที่ 21-23 เมษายน ประเพณีวันไหลสงกรานต์บ้านบึง
- 16-29 เมษายน “วันไหลสงกรานต์ จ.ระยอง”
จังหวัดระยอง ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคตะวันออกที่มีประเพณีวันไหลสงกรานต์เช่นกัน โดยจะมีขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 16-29 เมษายน ไล่เรียงกันไปตามแต่ละพื้นที่ ได้แก่ วันที่ 16 เมษายน วันไหลสงกรานต์บ้านเพ, วันที่ 17 เมษายน วันไหลสงกรานต์ปลวกแดง บ้านฉาง, วันที่ 18 เมษายน วันไหลสงกรานต์นิคมพัฒนา, วันที่ 19 เมษายน วันไหลสงกรานต์ห้วยโป่ง, วันที่ 21 เมษายน วันไหลสงกรานต์มาบตาพุด บ้านค่าย, วันที่ 29 เมษายน วันไหลสงกรานต์ปากน้ำระยอง
- 22-24 เมษายน “วันไหลสงกรานต์ จ.สมุทรปราการ”
เมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ชุมชนคนมอญเก่าแก่อาศัยอยู่ ซึ่งเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ พื้นที่นี้จะมีประเพณีสงกรานต์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากพื้นที่อื่น และกำหนดจัดงานวันสงกรานต์ก็แตกต่างจากพื้นที่ส่วนใหญ่ด้วย นั่นคือ จัดขึ้นช่วงวันที่ 22-24 เมษายน หรือช่วงปลายเดือนเมษายนเป็นหลัก
ทั้งนี้ เทศกาล “สงกรานต์” เป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่และถูกสืบทอดกันมานานตั้งแต่โบราณ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีประเพณีวันสงกรานต์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นในกฎมณเฑียรบาล รวมถึงมีบันทึกเกี่ยวกับ "พระราชพิธีเผด็จศก" ซึ่งเป็นพิธีการเกี่ยวกับการตัดจากปีเก่าและการขึ้นสู่ปีใหม่
ในยุคสมัยนั้นคนไทยโบราณจะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งจะตรงในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนมากำหนดใหม่ โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ผ่านมาจนถึงยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2483) ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นสากล จึงได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่นับแต่นั้นมา
--------------------
อ้างอิง: silpa-mag, dmc.tv, หอสมุดกลาง ม.รามคำแหง, สงกรานต์ในประเทศไทย