ศิลปะไทยไปไกลได้อีก! ชวนปล่อยไอเดียพลังศิลป์ กับเวทีประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 38
งานศิลปะไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่การจะต่อยอดงานศิลป์ฝีมือคนไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติจะต้องสร้างความร่วมมือร่วมใจทั้งจากภาครัฐและเอกชน หนึ่งในหน่วยงานที่มีส่วนส่งเสริมศิลปกรรมไทยเสมอมา นั่นคือ "เวทีการประกวดศิลปกรรม ปตท." ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 38 แล้ว
สถานการณ์การระบาดของโควิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนทั้งโลกไปโดยสิ้นเชิง แต่หลังจากวิกฤติโควิดได้ผ่านพ้นไป ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังโควิด
คนทุกรุ่น ทุกสาขาอาชีพ และทุกภาคส่วน เริ่มกลับมามีพลังกายและพลังใจ ปรับตัว ลุกขึ้นใหม่พร้อมความหวังอีกครั้ง และทำให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักได้ว่า ความท้าทายของโลกอนาคต คือการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดในทุกมิติ
แม้ว่าคำถามและข้อสงสัยเรื่องการดำเนินชีวิต การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ บริบทของประเทศ รวมถึงการขับเคลื่อนอนาคตของตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศ และโลกหลังวิกฤติโควิด จะไม่ได้มีคำตอบที่สมบูรณ์แบบ และไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับวิกฤติอีกเมื่อไร แต่เชื่อว่าทุกคนพร้อมเผชิญกับความท้าทายและเดินหน้าต่อไปด้วยความหวัง
ในปี 2566 ปตท. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่อยู่เคียงข้างคนไทยข้ามผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง ครั้งนี้ถือเป็น "ความท้าทาย" และ "โอกาส" ในการพัฒนาธุรกิจพลังงานและริเริ่มธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อ "จุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต" โดยมุ่งสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มอบคุณค่าตอบแทนสังคม พัฒนาศักยภาพความยั่งยืนของธุรกิจ
พร้อมกันนี้ ถือเป็นโอกาสดีอีกครั้ง ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดให้มีการ "ประกวดศิลปกรรม ปตท." ครั้งที่ 38 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ "จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต" เพื่อส่งเสริมให้ศิลปินทุกระดับมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสนับสนุนการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยให้ก้าวไกลไปมากกว่าที่เคย
สำหรับการประกวดครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยทุกระดับอายุได้เข้ามาโชว์ไอเดียสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นระดับเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ทุกคนสามารถร่วมถ่ายทอดเล่าความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ชีวิตในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมาไปด้วยกัน พร้อมความหวังในการขับเคลื่อนไปสู่อนาคต ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจดหมายเหตุของประเทศ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประกวดสามารถส่งผลงานศิลปะได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผลงานประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และผลงานสร้างสรรค์ทางด้านทัศนศิลป์อื่นๆ โดยสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 5 - 21 มิถุนายน 2566 (ผลงานจะต้องส่งถึงจุดรับผลงานไม่เกินวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เท่านั้น)
ส่วนการตัดสินผลงานการประกวด ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 ท่าน จะร่วมกันตัดสินผลงานทั้งหมดในวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2566 จากนั้นจะมีการประกาศผลการตัดสินอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ทางเว็บไซต์ pttplc หลังจากนั้นจะมีพิธีมอบรางวัลและการแสดงผลงานระหว่างเดือน กันยายน - ตุลาคม 2566 ณ สถานที่ตามที่ ปตท. กำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ โดย คลิกที่นี่