สมัครงาน ระวังเจอ “ตำแหน่งผี” อยากได้งาน แต่ดันไม่มีจริง

สมัครงาน ระวังเจอ “ตำแหน่งผี” อยากได้งาน แต่ดันไม่มีจริง

เคยไหม? ส่งใบสมัครงานไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับเสียที แต่ผ่านไปเป็นเดือน ๆ ตำแหน่งงานนั้นก็ยังเปิดรับสมัครอยู่ตลอด 

อย่าเพิ่งนอยด์ว่า เราไม่ดีพอหรือเปล่า หรือเพราะเลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า เพราะที่จริงมันอาจมีเหตุผลอื่น นั่นคือ คุณเจอ “ตำแหน่งผี” หรือ “งานทิพย์” เข้าแล้ว!

สำหรับ “ตำแหน่งผี” หรือ Ghost Jobs เป็นคำศัพท์ใหม่ใช้อธิบายตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครทิ้งไว้ทางออนไลน์เฉย ๆ เป็นเวลาหลายเดือนและไม่มีทีท่าว่าจะปิดรับสมัคร โดยมีโอกาสมากที่ตำแหน่งงานเหล่าอาจไม่มีอยู่จริงด้วยซ้ำ 

 

  • ตำแหน่งงานผีหลอกหลอนผู้สมัครงาน

จากการสำรวจของ Clarify Capital บริษัทสินเชื่อออนไลน์ ที่ทำการสอบถามผู้จัดการฝ่ายจ้างงานของบริษัทต่าง ๆ กว่า 1,000 คน เกี่ยวกับการรับสมัครงาน พบว่า 68% ของประกาศรับสมัครงานออนไลน์มีอายุมากกว่า 1 เดือน โดย 40% มักจะทิ้งโพสต์สมัครงานเอาไว้ประมาณ 2-3 เดือน และอีก 10% ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนในการเปิดรับสมัครงาน

แม้ว่า 50% ของผู้จัดการจะระบุว่า สาเหตุหลักที่ปล่อยประกาศรับสมัครพนักงานไว้บนโซเชียลนาน ๆ เพราะต้องการพนักงานจริง ๆ แต่ยังไม่ได้ผู้สมัครที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน แต่ก็มียังมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งระบุว่า ตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัครเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง 

พวกเขาทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร? 

จากการสำรวจซึ่งสามารถตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อพบว่า 43% ระบุว่า การโพสต์ตำแหน่งงานออนไลน์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท โดยให้คนทั่วไปเห็นว่าบริษัทกำลังเติบโตขึ้น ขณะที่อีก 43% กล่าวว่า การประกาศรับสมัครงานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงานปัจจุบัน และอีก 34% เปิดเผยว่าเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงานที่ทำงานหนัก ว่าจะมีคนเข้ามาช่วยงาน แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้รับคนเข้ามาเพิ่ม 

“ความจริงแล้วบริษัทที่ลงประกาศรับสมัครงาน ก็คงตั้งใจจะจ้างงาน เพียงแต่ยังไม่ได้ต้องการจะจ้างงานในตอนนี้ จนกว่าจะถึงช่วงครึ่งปีหลัง” วินเซนต์ เบบค็อก นายหน้าจัดหางานในรัฐเทนเนสซีกล่าว

ทางด้าน เอลเลียต การ์ล็อค ผู้ก่อตั้ง Stella Talent Partners บริษัทจัดหางานในบอสตัน ระบุว่าหลายบริษัทเลือกประกาศรับสมัครงานทุกตำแหน่ง ทั้งที่มีงานว่างไม่กี่ตำแหน่งและได้คนไปหมดแล้ว เพราะแผนและงบประมาณเปลี่ยนแปลงตลอด แถมมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากในกระบวนการจ้างงาน จึงเป็นเรื่องยากที่จะอัปเดตตำแหน่งงานที่ว่างในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การ์ล็อคเผยว่า บางบริษัทไม่อยากจะลบโพสต์สมัครงานทิ้ง เนื่องจากไม่ต้องการส่งสัญญาณว่าบริษัทกำลังชะลอตัว ดังนั้นจึงเลือกให้ประกาศดังกล่าวคาอยู่บนเว็บไซต์ต่อไป

การศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2021 อธิบายถึงปรากฏการณ์ตำแหน่งผีนี้ว่าเป็นผลมาจากการลาออกครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทำให้นายจ้างส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในอนาคต หลายบริษัทที่มีการงดจ้างงานที่ไม่จำเป็น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย หรือ Hiring Freeze ก็ยังคงประกาศรับสมัครงานใหม่อยู่ สำหรับใช้เปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้สมัครใหม่กับพนักงานเดิม ว่าสมควรจะเปลี่ยนพนักงานแล้วหรือยัง

  • หลีกเลี่ยงจากตำแหน่งงานผีได้อย่างไร ?

Monster เว็บไซต์สมัครงานเปิดเผยว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการหางาน คือระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีคนจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Meta, Amazon และ Twitter ทำให้มีกลุ่มผู้หางานเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น

ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น การเจอตำแหน่งผีจึงเป็นเรื่องที่เสียเวลาเป็นอย่างมากและตัดโอกาสของผู้สมัครงาน เพื่อหลีกเลี่ยงประกาศหางานจอมปลอม สกอตต์ โดบรอสกี รองประธานฝ่ายสื่อสารของ Indeed เว็บไซต์หางานของสหรัฐ แนะนำให้ผู้หางานเลือกดูโพสต์ประกาศรับสมัครงงานที่มีรายละเอียดของงาน เช่น รูปแบบการทำงาน ขอบเขตงานที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่านายจ้างต้องการแรงงานจริง ๆ มากกว่าการประกาศแค่ตำแหน่งลอย ๆ ไม่ระบุอะไร รวมถึงควรตรวจสอบระยะเวลาโพสต์ด้วยว่าผ่านมานานหรือยัง เพราะหากนานเกินไปมีความเป็นไปได้ว่าเป็นตำแหน่งผี

โดบรอสกียังระบุว่าในทุกเดือน Indeed จะลบประกาศรับสมัครงานที่ไม่ตรงตามมาตรฐานออกจากเว็บไซต์ และประกาศรับสมัครงานที่ไม่ได้ใช้งานหลายล้านโพสต์ต่อเดือน พร้อมกล่าวว่าตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา มีประกาศจ้างงานลดลงจากปีที่แล้ว 11%

นอกจากจะดูตำแหน่งว่างงานจากเว็บไซต์หางานทั่วไปแล้ว ควรตรวจสอบจากเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของบริษัทนั้น ๆ ด้วยว่ายังรับสมัครตำแหน่งที่คุณสนใจอยู่หรือไม่ หรือลองโทรเข้าไปถามที่บริษัทก่อน ก็จะช่วยลดโอกาสโดนหลอกจากประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งผีได้เช่นกัน

 

ที่มา: FortuneMashableMonsterThe Wallstreet Journal