เปิด ‘10 สกิลจำเป็น’ องค์กรอยากได้ แต่พนักงานส่วนใหญ่ไม่มี
World Economic Forum เผย 10 ทักษะสำคัญสำหรับตลาดงานในอนาคต และนายจ้างต่างคาดหวังให้พนักงานพึงมี แต่ในปัจจุบันพนักงานส่วนใหญ่กลับไม่มี!
ตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานระลอกใหญ่ รวมถึงการเข้ามาของ ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดงานในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนหลายคนอาจ “รับมือ” กับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ทัน
จากรายงาน The Future of Jobs Report 2023 จัดทำโดย World Economic Forum หรือ WEF ระบุว่า ภายในปี 2570 จะมีตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นใหม่ราว 70 ล้านตำแหน่งทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันจะมีงานจำนวน 83 ล้านตำแหน่งจะถูกเลิกจ้าง นั่นหมายความว่ามีพนักงานจำนวนไม่มากนักที่จะสามารถอยู่รอดในการเปลี่ยนแปลงของตลาดงานนี้ได้ และสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขาอยู่รอดได้นั่นก็คือ “การอัปสกิล”
“ช่องว่างทางทักษะ” (Skills Gap) คือ แรงงานมีทักษะการทำงานต่ำกว่าที่นายจ้างคาดหวังไว้ ยิ่งช่องว่างระหว่างทักษะกว้างมากเท่าไหร่ จะเป็นอุปสรรคหลักที่ขัดขวางไม่ให้บริษัทก้าวหน้าและตามทันยุคสมัยขึ้นมากเท่านั้น
โดยบริษัทต่าง ๆ ให้ข้อมูลกับ WEF ว่า บริษัทจำเป็นต้องจัดการฝึกอบรมพนักงานเพื่อตามกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดงานในปัจจุบัน พร้อมยอมรับว่า พนักงานเกือบครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 44%) จำเป็นต้องพัฒนาทักษะเพิ่มเติมจากที่มีอยู่
“เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าแนวโน้มในอนาคต บริษัทต่าง ๆ ต้องการพนักงานที่มีทักษะหลายด้าน ซึ่งมากกว่าทักษะที่พนักงานมีจริง ๆ” แดน แชปพาโร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ LinkedIn เครือข่ายมืออาชีพบนอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยกับนิตยสาร Fortune พร้อมกล่าวเสริมว่าสถานการณ์ตลาดงานในปี 2022 อยู่ในสภาวะตึงตัวที่สุดในรอบ 15 ปี และระบุว่าในปีนี้ตลาดงานจะคลายตัวขึ้นเล็กน้อย แต่จะยังคงตึงอยู่พอควร
- 10 ทักษะที่ต้องมีติดตัว
สำหรับ 10 ทักษะที่นายจ้างระบุว่าเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นทักษะที่พนักงานจำเป็นต้องมีในอีก 5 ปีข้างหน้า ประกอบไปด้วย
1. ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
2. การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
3. การรู้เท่าทันทางเทคโนโลยี (Technological Literacy)
4. ความอยากรู้อยากเห็นและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Curiosity and Lifelong Learning)
5. ความยืดหยุ่น การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ และความคล่องตัว (Resilience, Flexibility, and Agility)
6. การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)
7. ปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า (A.I. and Big Data)
8. แรงจูงใจขับเคลื่อนชีวิต และความตระหนักรู้ในตนเอง (Motivation and Self-Awareness)
9. การจัดการศักยภาพของตนเอง (Talent Management)
10. การมีจิตมุ่งบริการ และการบริการลูกค้า (Service Orientation and Customer Service)
- ซอฟต์สกิลเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้ ทักษะความเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม (Leadership and Social Influence) ก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่พนักงานพึงมีด้วยเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากกับชีวิตประจำวันของเรา และหลายครั้งที่การถูกพูดถึงบันสื่อสังคมออนไลน์จะช่วยให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ ทักษะปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า การคิดเชิงระบบ และ การรู้เท่าทันทางเทคโนโลยี จะเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานมี “ภูมิคุ้มกัน” และช่วยแยกแยะเทคโนโลยีที่ซับซ้อน และปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นจนแนบเนียนขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้ง WEF ระบุว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า 1 ใน 4 ของงานทั้งหมดอาจถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์และระบบดิจิทัล
นอกจากนี้ WEF ยังเปิดเผยว่า ทักษะสำคัญที่สุดที่นายจ้างต้องการจากพนักงานคือ ซอฟต์สกิลที่ใช้ช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ความอยากรู้อยากเห็นและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนแรงจูงใจขับเคลื่อนชีวิตและความตระหนักในตนเอง
เช่นเดียวกับ “ทิม คุก” ซีอีโอ Apple Inc. บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกก็เคยกล่าวกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเนเปิลส์ เฟเดริโกที่ 2 ในอิตาลี เมื่อปีที่แล้วว่า Apple มองหาพนักงานที่มีทักษะซอฟต์สกิล 4 ด้าน คือ ความสามารถในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น และความเชี่ยวชาญ
“ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามองหาในผู้สมัคร และเป็นสูตรสำเร็จที่ดีสำหรับ Apple เรามองหาคนที่คิดต่าง ที่สามารถมองเห็นปัญหาและไม่ยึดมั่นว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ถูกเท่านั้น” คุกกล่าว
- ใคร ๆ ก็พัฒนาตนเองได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้งาน
เจฟฟ์ แม็กจิออนคัลดา ซีอีโอของ Coursera ผู้ให้บริการหลักสูตรออนไลน์ ระบุในรายงานของ WEF ว่า ผู้สมัครงานที่ไม่ได้จบปริญญาสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้ไม่ต่างจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่งานที่คนทั้ง 2 กลุ่มได้รับจะแตกต่างกันไปตามระดับการศึกษา เพราะตำแหน่งงานส่วนใหญ่ยังยึดติดกับ “วุฒิการศึกษา” มากกว่าทักษะที่มี
ดังนั้น แม้ว่าจะระบุในเรซูเม ว่า มี “ซอฟต์สกิล” เช่น ความคิดสร้างสรรค์ หรือ ความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทต้องการ แต่ก็อาจจะแพ้คนที่ผ่านหลักสูตรหรือจบจากคณะที่ตรงสายงาน ในกรณีนี้ ซาห์รา อามิรี ผู้อำนวยการฝ่ายดึงดูดและพัฒนาพนักงานของ Omnicom Media Group บริษัทสื่อสารการตลาดระดับโลก แนะนำแนวทางสำหรับผู้ต้องการสมัครงานไว้ว่า คุณควรจะแสดงให้เห็นว่าทำไมบริษัทต้องการคุณ คุณจะช่วยให้บริษัทดีขึ้นอย่างไรจากสกิลที่คุณมี เหมือนเป็นการทิ้งคำใบ้เล็ก ๆ ไว้ในเรซูเม่ของคุณ ซึ่งสามารถสร้างความประทับให้นายจ้างจนเรียกคุณไปสัมภาษณ์งานได้
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มีทักษะทั้ง 10 อยู่เสมอ เพื่อก้าวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วให้ทัน