เปิดใจ 'ศ.คลินิก นพ. ดำรัส - นพ.วิชัย' หมอสายบุ๋น - สายบู๊ รพ.หัวใจกรุงเทพ
เปิดใจ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ดำรัส ตรีสุโกศล หมอสายบุ๋น และนายแพทย์วิชัย จิรโรจน์อังกูร หมอสายบู๊ แพทย์รักษาโรคหัวใจแบบสายสวน โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เมื่อหัวใจคืออวัยวะที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ทั้งสองส่วนต้องทำงานสอดประสานกัน เฉกเช่นการทำงานของทีมแพทย์ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ที่มีทั้งมือวางอันดับหนึ่งด้านการบริหาร การวางแผน และอีกส่วนคือการลงแรง ลงมือทำอย่างไม่ย่นย่อ ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือการรักษา โรคหัวใจ ให้คนไข้อย่างดีที่สุด
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ดำรัส ตรีสุโกศล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านการสวนหัวใจผ่านข้อมือ แผลเล็ก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ดำรงตำแหน่งเป็น Chief Faculty สถาบันแห่งความเป็นเลิศด้านหัวใจและหลอดเลือด (Chief Faculty of Center of Excellence Cardiovascular Institute) กับการเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการรักษาโรคหัวใจผ่านระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรค ที่มีคุณูปการต่อผู้ป่วยโรคหัวใจมากมายในประเทศไทยที่ได้มีชีวิตใหม่ผ่านโครงการนี้
จากเด็กที่ไม่รู้จักคำว่า "ศิริราช" มาเรียนแพทย์
"นายดำรัส" เด็กหนุ่มในวัยมัธยมปลายที่เกิดและเติบโตในครอบครัวนักธุรกิจ การคิดฝันถึงการเป็นแพทย์ดูเป็นเรื่องไกลตัว กระทั่งเขาได้ศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนบดินทรเดชา บรรยากาศในห้องเรียนที่เพื่อนทุกคนต่างมีเป้าหมายสู่โรงเรียนแพทย์ หล่อหลอมให้หันมาสนใจวิชาชีพนี้บ้าง จึงเลือกศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตบเท้าเข้าโรงเรียนแพทย์เก่าแก่ที่ได้รับการยอมรับที่สุดของประเทศไทย ในปี 2518
ผู้บุกเบิกการรักษาแบบสายสวน
หลังจากใช้ทุนเสร็จก็กลับมาศึกษาต่อด้านอายุรศาสตร์ และมีอีกความสนใจเรียนด้านการผ่าตัด เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะและความรู้จากการชำแหละศพอาจารย์ใหญ่เพื่อผ่าตัดคนไข้ จนตัดสินใจผนวกทั้ง 2 ศาสตร์เข้าด้วยกัน จึงเรียนเฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน
ด้วยขีดจำกัดด้านการรักษาในยุคที่ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นายแพทย์หนุ่มจึงขอรับทุนไปฝึกอบรมด้านการรักษาผ่านสายสวน ที่ Leiden University Medical Center หรือ LUMC ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงกลายเป็นแพทย์ 1 ใน 3 คนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการฝึกอบรมที่ต่างประเทศในด้านนี้ถึง 1 ปีเต็ม
แม้จะได้รับการชักชวนจากอาจารย์แพทย์ให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่นั่น แต่การนำองค์ความรู้จากแดนกังหันมาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยก็เป็นภารกิจสำคัญกว่า นายแพทย์ดำรัสจึงเดินทางกลับมาตุภูมิพร้อมองค์ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจด้วยการใช้สายสวน ที่ทำการวิจัยกับนานาชาติมากสุดในประเทศไทย สอนใช้ขดลวดในการรักษาโรคหัวใจให้แพทย์ท่านอื่นๆ การจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจแบบครบวงจร พัฒนาระบบการรักษาแบบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ถือเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา จนนับเป็นศาสดาผู้บุกเบิกการรักษาด้วยการสวนหัวใจในประเทศไทย
นายแพทยดำรัส จึงเป็นหนึ่งในทีมวอร์รูม (War room) ตั้งกฎเกณฑ์การแบ่งเขตการรักษาในประเทศไทยเป็น 13 โซน แต่ละโซนดูแลประชาชน 5 ล้านคน และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้เกิดการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจหลายแห่งในประเทศไทยในช่วงระยะนั้น (ปี 2545-2548)
ยกระดับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
กระทั่งเกษียณอายุราชการในปี 2561 จึงได้เข้ามาร่วมงานที่ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กับบทบาทสำคัญในการพัฒนาศูนย์หัวใจ ซึ่งมีบทบาทในเชิงวิชาการและการรักษาแบบองค์รวม เพื่อก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลหัวใจแห่งความเป็นเลิศ ยกระดับการรักษาโรคหัวใจให้ทัดเทียมนานาชาติ
จากผลงานทั้งทางวิชาการ การรักษาคนไข้ และการบุกเบิกระบบการรักษา โรคหัวใจ ในประเทศไทยที่มีส่วนช่วยให้ชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วประเทศดีขึ้น ทำให้นายแพทยดำรัส ได้รับรางวัลจาก Chien Foundation Award for Outstanding Lectureship and Lifetime Achievement in Percutaneous Coronary Intervention ในการประชุม Asia-PCR ที่สิงคโปร์ ในปี 2559 และรางวัล LUMEN Global Achievement Award จาก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุม LUMEN GLOBAL Bangkok, Thailand ปี 2557
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ดำรัส ยังคงทำงานเพื่อผู้คนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังจนถึงปัจจุบัน และยังเปรียบเหมือนหัวใจของ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับอวัยวะต่างๆ ที่ทำงานได้อย่างดี ซึ่งทั้งสองส่วนต้องทำงานสอดประสานกัน
บุคคลสำคัญอีกท่านคือ นายแพทย์วิชัย จิรโรจน์อังกูร อายุรแพทย์โรคหัวใจ เชี่ยวชาญด้านการสวนหัวใจ ดำรงตำแหน่ง PCU Director of Cardiovascular Medicine โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ การทำงานของเขาเปรียบเสมือนอวัยวะที่แข็งแรงและทำงานอย่างแข็งขันเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสวนหัวใจ และ Leader Team PCU ผู้เป็นพี่ใหญ่ของทีมแพทย์ในหน่วยกว่า 30 ชีวิต กับการดูแลความเรียบร้อย ให้คำปรึกษากับทีม หรือหากมีเคสผู้ป่วยรักษาผ่านสายสวนก็จะลงเข้าไปช่วยแก้ไขด้วยตัวเอง
แต่กว่าจะได้ชื่อว่าเป็นมือต้นๆ ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสวนหัวใจที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพวันนี้ นายแพทย์วิชัย เล่าย้อนถึงชีวิตในวงการแพทย์ว่า หลังเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 ปี ชีวิตก็พลิกผันอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ซึ่งการได้ไปอยู่นอกแผ่นดินกว่า 3 ปี ทำให้เขาเห็นว่ายังมีสิ่งที่ต้องเพิ่มพูนความรู้ จึงตัดสินใจกลับมาเรียนเพิ่มเติมด้านอายุรกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 3 ปี
"คำถามแรกที่อาจารย์แพทย์ถามผมเลยก็คือ สมมุติถ้าหมอเรียนจบ หมออยากเรียนต่อเฉพาะทางด้านไหน ผมบอกไปว่าอยากเรียนด้านหัวใจ เพราะการรักษา โรคหัวใจ เป็นสิ่งที่ท้าทาย บางครั้งเรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ชี้เป็นชี้ตายต่อชีวิตคนไข้ และยิ่งเราแก้ปัญหาได้ถูกจุด คนไข้ก็มีอัตราการรอดชีวิตสูง" นายแพทย์วิชัย กล่าว
มือวางต้นๆ "การใส่สายสวนหัวใจ"
เมื่อถามถึงระยะเวลาในการรักษาหลอดเลือดหัวใจ นายแพทย์วิชัย กล่าวว่า นับรวมระยะเวลากว่า 23 ปี โดยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมแพทย์โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ตั้งแต่ปี 2547 กว่า 20 ปี ในความเชี่ยวชาญดูแลคนไข้หลอดเลือดหัวใจที่แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อายุที่ตรวจพบเริ่มน้อยลงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
"คนไข้ที่มาปรึกษาส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย โดยกระบวนการดูแลคนไข้ เริ่มจากการประเมินการตรวจวินิจฉัยที่มีหลายทางเลือก อาทิ การเดินสายพาน การอัลตร้าซาวด์ เข้าอุโมงค์สแกนหลอดเลือดหัวใจ และการฉีดสี"
นายแพทย์วิชัย กล่าวต่อไปว่า กระบวนการรักษาที่เป็นจุดเด่นของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพคือ การใส่สายสวนหัวใจ เพื่อขยายหลอดเลือดที่ตีบแคบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย (Stent) ซึ่งในอดีตทำที่บริเวณขาหนีบแต่ปัจจุบันทำได้ที่บริเวณข้อมือ ทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้ไว ดูแลแผลง่าย และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวสามารถรักษาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจได้ทุกรูปแบบ ทั้งหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง หลอดเลือดหัวใจตัน มีหินปูนเกาะ โดยต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการเจอคนไข้จำนวนมาก อุปกรณ์และเครื่องมือที่ดี ช่วยทำให้โอกาสในการรักษาสำเร็จมีสูง
ทำในแต่ละวัน ดูแลคนไข้แต่ละคนให้ดีที่สุด
"เวลาดูซีรีส์ เรื่อง Good Doctor หรือ ER ในด้านการทำงานของหมอก็มีความคล้ายในซีรีส์ แต่ไม่ได้จบแบบ happy ending คือตอนจบของซีรีส์เราไม่ได้ตามต่อว่าเหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นอย่างไร แต่ในการทำงานจริง จะต้องตามชีวิตของคนไข้ต่อแม้ว่าเขาจะผ่านการรักษาจากเราไปแล้ว" หมอผู้เชี่ยวชาญการใส่สายสวนหัวใจกล่าวขึ้น เมื่อมีคำถามถึงการทำงานแพทย์หัวใจเมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้คนเห็นผ่านจอ แต่นั่นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งความเป็นจริง เพราะการดูแลคนไข้จะต้องดูแลในระยะยาว เพื่อให้คนไข้ไม่กลับมาป่วยซ้ำซ้อนอีก
นายแพทย์วิชัย กล่าวต่อไปว่า อีกกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดได้ดีที่สุดคือ การได้ไปพูดคุยกับคนไข้หรือครอบครัวของพวกเขา เนื่องจากหลายเคสดูแลกันมานานจนเกิดความผูกพัน การได้พูดคุยกับคนไข้หรือแม้แต่ญาติไม่เพียงทำให้พวกเขาสบายใจขึ้น แต่ตัวหมอเองก็ได้รับกำลังใจกลับมาเช่นกัน
สูงวัยก็ผ่านโรคหลอดเลือดหัวใจได้
นายแพทย์วิชัย เล่าถึงเคสการรักษาที่ประทับใจว่า ไม่ว่าเคสแบบใด ก็ประทับใจทุกเคส เพราะถือเป็นการเรียนรู้ซึ่งมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่ก็มีบางเคสที่ติดในความทรงจำชัดเจน
"มีคนไข้เป็น ตาอายุ 93 ปี ที่มีความผิดปกติในหลอดเลือดถึง 3 เส้น และในขณะนั้นหัวใจบีบตัวอยู่เพียงแค่ 30% มีลิ้นหัวใจรั่วอยู่ระดับกลางถึงค่อนข้างรุนแรง ซึ่งคนไข้ไม่ยอมผ่าตัด เราก็จัดการแก้ไขปัญหาทำบอลลูนขดลวดให้ทีละเส้น การรักษาที่ผ่านไปทำให้ตาสามารถฉลองอายุ 100 ปี ไปเมื่อไม่นานนี้"
ส่วนหลักคิดในการทำงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลชีวิตผู้คน นายแพทย์วิชัย บอกว่า สิ่งที่พยายามทำในแต่ละวันให้ดีที่สุดคือ การมีสติในการดูแลคนไข้ ทำในแต่ละวัน แต่ละคนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้เวลากับคนไข้ให้เต็มที่ และหากมีปัญหาค้างคาต้องวางแผนเตรียมการณ์ล่วงหน้าเสมอ
"สิ่งที่ยึดถือมาตลอดก็คือ คำของครูบาอาจารย์ รวมถึงคำของพระบรมราชชนกด้วยว่าให้เอาคนไข้ก่อนเดี๋ยวที่เหลือมันจะตามมาเอง ถ้าเราทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่รอดจากความเจ็บป่วยที่รุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทำให้เขามีชีวิตยืนยาวต่อไป ตรงนี้เป็นความสุขแล้ว ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับผม" นายแพทย์วิชัย กล่าวสรุปถึงความสุขในการทำงานเพื่อดูแลผู้คนมาตลอดชีวิต
และนี่คือเรื่องราวของสองนายแพทย์มืออันดับต้นๆ ในการรักษาโรคหัวใจด้วยสายสวน โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ที่ยืนหยัดอุทิศชีวิตเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพหัวใจที่ดี