“Burn On” หมดไฟไม่รู้ตัว ทำงานได้ แต่ตายซาก ชีวิตไม่สนุก หาความสุขไม่ได้
ทำความรู้จัก ภาวะ “Burn On” อาการใหม่ที่คล้าย “Burn Out” หรือ “ภาวะหมดไฟ” แต่ต่างกันที่ผู้ป่วยภาวะนี้ไม่รู้ตัว และทนทำงานต่อไปเรื่อย ๆ จนหาความสุขในชีวิตไม่ได้
Key Points;
- Burn On เป็นภาวะที่มีความทุกข์จากกการทำงาน แต่ต้องทนทำงานต่อไป โดยไม่มีความสุข หรือหาความเพลิดเพลินให้แก่ชีวิต
- หลายครั้งผู้ที่มีสภาวะ Burn On ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอาการเหล่านี้มาจากการทำงานที่มากเกินไป จะรู้ก็ต่อเมื่อมีปัญหาในชีวิต
- วิธีบรรเทาภาวะนี้คือ ลงมือทำสิ่งที่อยากทำสลับระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อการผ่อนคลาย
เลยเวลาเลิกงานไปนานแล้ว แต่คุณยังคงนั่งจมกับกองงานบนโต๊ะ แถมวันหยุดไม่ได้หยุด ต้องตอบอีเมลลูกค้า นั่งทำสไลด์เตรียมพรีเซ็นต์วันจันทร์
ถ้าคุณทำงานหนักแบบนี้เป็นประจำ อยากเทงานแทบตาย แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะถึงเทไป มันก็รอให้กลับมาจัดการอยู่ดี
เมื่องานถาโถมจนทำไม่ทัน ไฟลนก้นไปหมด จะหยุดทำก็ไม่ได้ คุณอาจจะกำลังเผชิญภาวะ “Burn On” อยู่โดยที่ไม่รู้ตัว
“Burn On” ถูกบัญญัติตั้งขึ้นโดย ทิโม ชีล จิตแพทย์ และดร.เบิร์ต เต ไวลด์ นักจิตบำบัด โดยพวกเขาอธิบายว่า “Burn Out” หรือ “ภาวะหมดไฟ” เป็นความเหนื่อยล้าจากการทำงานที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันรุนแรง แต่ Burn On เป็นความเหนื่อยล้าเรื้อรัง
“เราจำเป็นต้องมีคำศัพท์สำหรับอธิบายกลุ่มอาการต่าง ๆ เช่น ความเหนื่อยล้าจากภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง เพื่อจัดหมวดหมู่ผู้ป่วยได้แม่นยำยิ่งขึ้น” เต ไวล์ดท์กล่าว
บัญชีจําแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพ (ICD) ที่เกี่ยวข้องฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า การหมดไฟเป็นปรากฏการณ์ในการทำงาน และไม่ถือว่าเป็นภาวะทางการแพทย์ ต่างจาก “โรคซึมเศร้า” แม้ว่าอาการของทั้งคู่จะคล้ายคลึงกันก็ตาม
- “Burn On” หมดไฟไม่รู้ตัว
Burn Out เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากความเครียดสะสมในการทำงาน แล้วไม่ได้จัดการอย่างถูกวิธี แตกต่างจาก Burn On เป็นภาวะซึมเศร้าที่สวมหน้ากากเอาไว้ อาการของพวกเขาทรุดลงเรื่อย ๆ แต่ก็ยังต้องพยายามฝืนยิ้ม ทำทุกอย่างให้เป็นปรกติ ทั้งที่ในใจอัดแน่นไปด้วยความอ่อนล้าและความเศร้าหมอง
นอกจากนี้เต ไวลด์ ยังระบุว่า ผู้ที่มีอาการหมดไฟจะรู้ตัว หาทางหยุดพักและลางาน แต่ผู้ที่มีอาการ Burn On จะทนก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะเป็นภาวะที่มีความทุกข์มหันต์ซุกซ่อนไว้อยู่ในจิตใจ แม้พวกเขาจะสามารถทำงานต่อไปได้ แต่เขากลับไม่มีความสุข หรือหาความเพลิดเพลินให้แก่ชีวิตของพวกเขาได้เลย เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอาการเหล่านี้มาจากการทำงานที่มากเกินไป ต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะรู้ว่าตนเองกำลัง “มีปัญหา”
ในหลายสังคมยังคงใช้ผลงานและความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นเครื่องชี้วัดสถานะทางสังคมของบุคคล จึงทำให้ผู้คนที่อุทิศเวลาและทำงานอย่างหนัก เพื่อต้องการความสำเร็จในชีวิต เกิดอาการหมดไฟและ Burn On ได้ง่าย นอกจากนี้กลุ่มอาการเหล่านี้ยังพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่ไม่มีเวลากการทำงานที่แน่นอน ส่วนมากเป็นงานที่เน้นช่วยเหลือคนอื่น เช่น การพยาบาล การแพทย์ การบำบัด และการสอน
ฟลอเรียน เบคเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาธุรกิจ ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นจุดอ่อนของผู้ป่วยที่มีอาการ Burn On “พวกเขาไม่ได้กำหนดขอบเขตการทำงานของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น”
- ชีวิตไม่สนุก หาความสุขไม่ได้
ขณะที่ เต ไวลด์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่ไวต่ออาการ Burn On มักพบได้ในคนที่ผู้ที่ประสบความสำเร็จเหนือผู้อื่นแต่กลับไม่มั่นคงทางอารมณ์
คนที่อยู่ในภาวะหมดไฟจะมีความอ่อนล้าและเกลียดชังงานของตนอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มอาการนี้ แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะ Burn On นั้นมักถูกจำกัดให้มีชีวิตอยู่แต่ในงานของตน พวกเขาจะสนใจแต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน
อย่างไรก็ตาม หากภาวะซึมเศร้าเข้าครอบงำพวกเขาแล้ว แม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จและทำผลงานงานได้ดีขนาดไหน แต่พวกเขากลับไม่ภูมิใจในความสำเร็จของพวกเขาและรู้สึกว่าตนเองยัง “ดีไม่พอ” พวกเขากลับรู้สึกละอายใจและรู้สึกผิด แม้ว่าพวกเขาจะอยู่เคียงข้างเพื่อนร่วมงาน และอุทิศตัวเพื่องานอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา คือ เกิดความว่างในจิตใจ มีแต่ความสิ้นหวัง ไร้ความสุข รู้สึกไร้ความหมาย “พวกเขาหลายคนไม่รู้สึกถึงความหลงใหล ไม่มีความสนใจอีกต่อไป ราวกับว่าพวกเขาไม่สามารถประสบความสำเร็จได้อีกแล้ว” เบคเกอร์กล่าว
พวกเขารู้สึกเหนื่อยและกระสับกระส่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถผ่อนคลายได้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในช่วงวันหยุด แต่งานของพวกเขายังคงรบกวนใจอยู่เสมอ ทำให้ร่างกายของพวกเขาอยู่ในสภาวะเครียดตลอดเวลา ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง ปวดหลังและปวดศีรษะ ไปจนถึงหูอื้อและนอนไม่หลับ
ผู้ที่เกิดภาวะ Burn On จำเป็นต้องยอมรับว่าตนมีปัญหาให้ได้ก่อน แล้วจึงหาทางออก เต ไวลด์แนะนำว่า “ให้ถามตัวเองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำแล้วเกิดผลดีกับตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่คุณเคยชอบทำ สิ่งที่คุณอยากทำมาตลอด รวมถึงสิ่งที่คุณรู้สึกหลงใหล คุณควรลงมือทำสิ่งเหล่านั้นสลับระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อการผ่อนคลาย หรือทำกิจกรรมกีฬาที่ต้องใช้แรงมาก จะทำให้ร่างกายอ่อนล้าตามธรรมชาติ และรู้สึกดีขึ้น”
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องรู้จักพูดคำว่า “ไม่” ให้เป็น คุณสามารถปฏิเสธคนอื่นได้ คุณต้องถามตัวเองว่าขีดจำกัดของตัวเองอยู่ตรงไหน ประเมินว่าคุณทำได้แค่ไหน อะไรที่เกินตัวไปไม่จำเป็นต้องทำ พร้อมทั้งสำรวจตนเองว่า พฤติกรรมใดที่ก่อให้เกิดความกดดันและความไม่พอใจในตนเอง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องเข้ารับการปรึกษาจากนักบำบัด
ที่มา: South China Morning Post