เลิกคบ! 'Frenemy' ฉากหน้าคือ 'เพื่อน' ผู้หวังดี แต่ลับหลังนินทาขี้อิจฉา
30 กรกฎาคม "วันมิตรภาพสากล" เมื่อมิตรภาพดีๆ ทำให้ชีวิตมีความสุข แต่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีแบบนั้น บางคนอาพบเจอกับ "Frenemy" หรืองูพิษที่แฝงมาในรูปของเพื่อนผู้หวังดี แต่ลับหลังนินทา ขี้อิจฉา เอาเปรียบ
ในช่วงชีวิตของทุกคน "เพื่อน" คือบุคคลสำคัญที่คนเราขาดไม่ได้ มิตรภาพดีๆ ช่วยพัฒนาทักษะชีวิตในหลายด้าน ทั้งทางสังคม อาชีพการงาน และสุขภาพจิต แต่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีได้เจอเพื่อนที่จริงใจอยู่รอบตัว ก่อนจะถึง "วันมิตรภาพสากล" ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 กรุงเทพธุรกิจ ชวนมารู้จัก "เพื่อน" ในอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า "Frenemy" เพื่อนผู้หวังดีประสงค์ร้าย
Frenemy เป็นการผสมคำระหว่างคำว่า Friend (เพื่อน) + Enemy (ศัตรู) หมายถึง บุคคลที่เข้ามาคบหาคุณเหมือนเป็นมิตรสหายคนหนึ่ง ต่อหน้าก็ดูเป็นเพื่อนที่ดีไม่มีพิษภัย แต่ลับหลังจะแก่งแย่งชิงดี อิจฉาตาร้อน นินทา เอารัดเอาเปรียบ หลอกใช้คุณโดยแกล้งทำเป็นสนิทสนมแต่แอบแทงข้างหลัง หรือมักทำให้คุณอับอายขายหน้าแล้วค่อยเนียนขอโทษทีหลัง เป็นต้น
- Frenemy มีลักษณะเบื้องต้นเป็นแบบไหน ?
มีข้อมูลจาก The Psychology Of Frenemies อธิบายพฤติกรรมนี้ในทางจิตวิทยาไว้ว่า พวกเขาไม่ใช่เพื่อนที่คุณ "เลือกคบ" ด้วยตัวเองเสมอไป แต่พวกเขามักจะแฝงตัวมาเป็นเพื่อน โดยต้องการผลประโยชน์บางอย่างจากคุณหรือเพื่อสนองตอบความพอใจบางอย่าง
โดยพฤติกรรมของกลุ่มคนประเภท Frenemy มีความสอดคล้องกับนิยามทางจิตวิยาของทฤษฎี “Crab mentality” หมายถึง กลุ่มคนที่มีทัศนคติว่า “ถ้าฉันทำไม่ได้/ไม่ได้สิ่งนี้มา เธอก็ต้องทำไม่ได้ด้วย/ไม่ได้สิ่งนี้ด้วยเช่นกัน”
ลักษณะเด่นของ Frenemy คือ พวกเขาจะรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งเวลาเห็นคุณประสบความสำเร็จ และมันเกินความสามารถของพวกเขาที่จะทำได้เช่นคุณ พวกเขามักจะเป็นคนอ่อนแอและขี้ขลาด พยายามสร้างตัวตนขึ้นมาด้วยการทำลายผู้อื่นให้ต่ำลง
อีกพฤติกรรมหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า Frenemy ไม่น่าคบเอาเสียเลยก็คือ พวกเขามักจะรู้สึกดีเมื่อทำลายคุณได้สำเร็จ เมื่อคุณล้มหรือพลาด พวกเขาจะมีความสุข ขณะที่จะเป็นคนแรกที่ยื่นมือช่วยเหลือคุณด้วย ไม่ใช่เพราะสงสารโดยบริสุทธิ์ใจ แต่เป็นเพราะตอนนี้พวกเขารู้สึกเหนือกว่าคุณ การทำให้คุณผิดหวังคือ “ความสำเร็จ” ของ Frenemy
- ทำไม Frenemy ถึงมีพฤติกรรมไม่น่ารัก?
Frenemy มักคิดว่าคุณคือศัตรูหรือคู่แข่ง แม้หน้าฉากจะทำตัวเป็นเหมือนเพื่อนที่ดี แต่ในใจเชื่อว่าพวกเขาควรจะได้ดีกว่าคุณในทุกๆ ด้าน และนี่คือเหตุผลที่พวกเขาเกลียดคุณตั้งแต่แรก พวกเขามักจะแอบทำร้ายคุณเนียนๆ โดยซ่อนตัวอยู่ภายใต้หน้ากากของ "เพื่อนที่ซื่อสัตย์" แต่คุณจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขามีเจตนาร้าย
พฤติกรรมที่ไม่น่ารักเหล่านี้ เกิดจากจิตใต้สำนึกของ Frenemy ที่เผลอแสดงออกมาเองโดยไม่รู้ตัว บ่อยครั้งพวกเขาไม่ได้ตั้งใจวางแผนร้ายกับคุณ พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาเป็นเพื่อนแท้ของคุณ ขณะเดียวกันพวกเขาก็เกลียดคุณ แต่ไม่อยากยอมรับ
เนื่องจากการยอมรับว่าเกลียดคุณ จะทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในชีวิตและจิตใจ เช่น ความขี้อิจฉา ความอยากได้อยากมีในสิ่งที่คุณมี หรือความทะเยอทะยานที่มากเกินพอดี ส่วนสาเหตุที่ทำให้บุคคลประเภท Frenemy มีพฤติกรรมแบบนี้ ในเชิงจิตวิทยาอธิบายว่า ส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกผิดในอดีต ความกลัวต่อความขัดแย้ง หรือการขาดความตระหนักรู้ขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถคิดวิเคราะห์แบบเป็นเหตุเป็นผลได้
- ใครมีคนใกล้ตัวเป็น Frenemy อาจส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
มีการศึกษาวิจัยในเชิงจิตวิทยาพบว่า การมีเพื่อนจอมปลอมเข้ามาอยู่ในชีวิตคุณ อาจเพิ่มระดับความเครียด ความดันโลหิตสูง เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และระดับความวิตกกังวลให้มากขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
Julianne Holt-Lunstad ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริคแฮม ยัง (Brigham Young University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานเกือบ 10 ปี ระบุว่า ผลกระทบของมิตรภาพที่คลุมเครือ หรือการการมีปฏิสัมพันธ์กับพวก Frenemy สามารถเพิ่มการตอบสนองต่อความเครียดของคุณได้ และในระยะยาวดูเหมือนว่าจะกระตุ้นให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดแย่ลง
ก่อนหน้านี้ในปี 2014 Holt-Lunstad เคยเผยแพร่งานวิจัยสมัยเรียนผ่านบทความชิ้นหนึ่งไว้ว่า เขาได้ทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีของ Frenemy มีมากกว่าพฤติกรรมที่เลวหรือไม่? โดยผลการทดสอบพบว่า ความดันโลหิตของผู้ร่วมทดสอบพุ่งขึ้นสูงสุด รวมถึงภาวะเครียด และวิตกกังวลก็เพิ่มขึ้น เมื่อพบปะกับคนที่ "ไม่ชอบใจ" หรือ Fremeny (เปรียบเทียบกับความดันโลหิตของผู้ร่วมทดสอบที่ลดลง เมื่อพบปะกับเพื่อนที่เข้าใจและคอยช่วยเหลืออย่างจริงใจ)
- คนแบบไหนเข้าข่าย Frenemy และเราควรระมัดระวังตัวเองอย่างไร?
Frenemy มักเป็นผู้คนจากแวดวงสังคมที่ใกล้ชิดกับคุณ อาจเป็นเพื่อนของเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คนในครอบครัว หากพบว่าตนเองมีคนใกล้ชิดที่เข้าข่ายลักษณะ "เพื่อนผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้าย" วิธีการแก้ไขเพื่อไม่ให้ตัวเองได้รับผลกระทบก็คือ การค่อยๆ ถอนตัวออกห่างจากพวกเขาและเธอ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากเป็นคนใกล้ชิดที่ไม่สามารถจะถอยห่างออกมาได้ (เช่น คนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทในกลุ่มเดียวกัน) ก็อาจจะต้องคอยระมัดระวังการแสดงออกของตัวเอง อย่าเผยความลับของตนเองอย่างโจ่งแจ้ง และพยายามทำความเข้าใจพวกเขาในฐานะคนๆ หนึ่งให้มากขึ้น แม้จะไม่อนุญาตให้พวกเขาใช้คำว่า "เพื่อนแท้" กับคุณแล้วก็ตาม
สำหรับวิธีคัดกรองเหล่างูพิษที่แฝงมาในรูปของเพื่อน เราสามาระมองเห็นได้จากสัญญาณหลายอย่าง ได้แก่
- คนที่จะไม่มีความสุขเมื่อคุณทำอะไรสำเร็จ แต่จะมีความสุขเมื่อคุณแพ้หรือทำพลาด
- คนที่จะทำลายคุณด้วยคำพูดหรือการกระทำ เช่น พูดใส่ร้ายคุณลับหลัง
- คนที่ทำเหมือนหวังดี ตักเตือนคุณ แต่การแสดงออกไม่ตรงกับคำพูด
- คนที่ตำหนิคุณเมื่อคุณทำพลาดหรือล้มเหลว พร้อมชี้ว่าตนเองทำได้ดีกว่า
- คนที่จะไม่โต้ตอบและก้าวร้าวใส่คุณตรงๆ แต่จะทำร้ายความรู้สึกคุณแบบอ้อมๆ เช่น ชมคนอื่นที่ทำร้ายคุณ
- คนที่เมื่อเห็นคุณโพสต์ชีวิตดีๆ หรือความสำเร็จต่างๆ ในโซเชียล แล้วเข้ามาแสดงความคิดเห็นในทางลบ แต่พอตัวเองทำอะไรสำเร็จมักจะมาอัปเดตให้คุณรู้เสมอ
- คนที่ตั้งใจชี้ให้เห็นว่าคุณผิดพลาดโดยเจตนา เพื่อทำให้คุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าอับอาย
ส่วนใครที่ได้เจอแต่เพื่อนดีๆ มีความจริงใจ และคอยช่วยเหลือกันและกันให้เจริญก้าวหน้า นั่นถือว่าเป็นโชคดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว
-------------------------------------------
อ้างอิง : bbc.com/workplace-frenemy, Foresightseen, bbc.com/love-to-hate-friends, EngWithAttitude.ByDidi