28 กรกฎาคม 'วันเฉลิมพระชนมพรรษา ร.10' รู้จัก 'ดอกรวงผึ้ง' ดอกไม้ประจำรัชกาล

28 กรกฎาคม 'วันเฉลิมพระชนมพรรษา ร.10' รู้จัก 'ดอกรวงผึ้ง' ดอกไม้ประจำรัชกาล

เนื่องในโอกาส "วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10" ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ชวนรู้จัก "ดอกรวงผึ้ง" ดอกไม้ประจำรัชกาล และ "วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร" วัดประจำพระองค์

วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ในโอกาสนี้ กรุงเทพธุรกิจขอพาไปทำความรู้จัก “ดอกรวงผึ้ง” ดอกไม้ประจำรัชกาล และ “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร” วัดประจำพระองค์ ทั้งในด้านความหมายและประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับในหลวงรัชกาลที่ 10  รวมถึงบทสวดมนต์ถวายพระพร

  • “ดอกรวงผึ้ง” ดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 10

ดอกรวงผึ้ง หรือ ต้นรวงผึ้ง (Yellow star) มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาค เช่น ทางเหนือจะเรียกว่าดอกน้ำผึ้งและดอกสายน้ำผึ้ง ส่วนภาคกลาง จะเรียกว่าดอกน้ำผึ้ง เป็นต้น ดอกไม้ชนิดนี้จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Tiliaceae มีลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นใบเดี่ยว ก้านใบมีขน

สำหรับจุดเด่นของ “ดอกรวงผึ้ง” ก็คือ ดอกมีสีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นบริเวณปลายกิ่ง รูปร่างของดอกมีปลายแยกเป็น 5 แฉก คล้ายรูปดาว นอกจากนี้ยังมีผลแห้งลักษณะทรงกลม ขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร

ที่สำคัญ “ดอกรวงผึ้ง” จะผลิบานในช่วงเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พอดี นอกจากนี้ดอกไม้ดังกล่าวยังมีสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ (วันจันทร์) อีกด้วย ทั้งนี้ดอกรวงผึ้งถูกกำหนดให้เป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 10 มาตั้งแต่พระองค์ยังมีพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และในอดีตที่ผ่านมาเมื่อพระองค์เสด็จฯ กอปรพระราชกรณียกิจตามสถานที่ต่างๆ ก็จะทรงปลูกต้นรวงผึ้งพระราชทานไว้เพื่อเป็นตัวแทนแห่งพระองค์ท่านและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ราษฎร

ทั้งนี้ต้นรวงผึ้งมีข้อดีที่โดดเด่นกว่าพืชชนิดอื่นๆ ก็คือ เป็นต้นไม้ที่สามารถขึ้นได้ดีทั้งในพื้นที่แห้งแล้งและพื้นที่ค่อนข้างชื้น ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลมาก และมีระบบรากที่ดีมาก ทำให้ไม่มีการหักโค่นของลำต้น แม้ว่าจะปลูกจากกิ่งตอน (ไม่ได้ปลูกจากเมล็ด) ก็ตาม

  • “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร” วัดประจำรัชกาลที่ 10

นอกจากดอกไม้ประจำรัชกาลแล้ว ยังมีวัดประจำรัชกาลที่ 10 นั่นคือ “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร” มีชื่อเดิมว่า วัดทุ่งสาธิต ตามประวัติระบุว่าสร้างโดยคหบดีชาวลาวเมื่อประมาณ พ.ศ. 2399 และเมื่อคหบดีถึงแก่กรรมวัดก็ถูกทิ้งร้าง ต่อมาได้กลับมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2506 ในสมัยพระโสภณวชิรธรรม (สาธิต ฐานวโร) เป็นเจ้าอาวาส

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์และ ได้พระราชทานนามว่า “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร” โดยนามของวัด วชิร มาจาก วชิราลงกรณ ส่วนคำว่า “ธรรม” มาจาก คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และ สาธิต มาจากนามเดิมของพระโสภณวชิรธรรม ที่เป็นอดีตเจ้าอาวาสของวัดแห่งนี้

ลักษณะเด่นของวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหารคือ มี “พระเจดีย์จุฬามณีศรีล้านนา” ประดิษฐานอยู่ภายในวัด โดยองค์เจดีย์ ที่ มีความกว้าง 25 ศอก 9 นิ้ว ความสูง 49 ศอก จำลองมาจากพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 25 องค์ พระอรหันต์สาวกธาตุ 289 องค์ และพระพุทธรูปทองคำอีก 2 องค์ รวมถึงยังมี “หอธรรมวชิรเกล้าธรรมานุสรณ์” ที่มีความงดงามตามแบบศิลปะล้านนาอีกด้วย

  • วิธีจัดป้ายถวายพระพร โต๊ะหมู่ถวายพระพร และบทสวดมนต์ถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง ร.10

ในส่วนของกิจกรรมที่ประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนนิยมปฏิบัติในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ได้แก่ การลงนามถวายพระพร ทั้งในสถานที่หรือรูปแบบออนไลน์, การทำบุญตักบาตร, พิธีถวายเครื่องราชสักการะและพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล, การเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา และการร่วมบริจาคโลหิต เป็นต้น โดยประชาชนสามารถเลือกปฏิบัติได้ตามความสะดวกและเหมาะสม

นอกจากนี้ กิจกรรมสำคัญที่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ นิยมปฏิบัติกันทุกปีก็คือ การจัดป้ายถวายพระพร และการจัดโต๊ะหมู่ถวายพระพรตามอาคารบ้านเรือนและด้านหน้าหน่วยงานราชการทั่วประเทศ โดยวิธีจัดป้ายและวิธีตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง ร.10 มีวิธีการคร่าวๆ ดังนี้

1. จัดตกแต่งสถานที่ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ 

2. ประดับธงชาติไทยคู่กับธงอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. 

3. จัดวางเครื่องราชสักการะ พร้อมประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว

นอกจากนี้ หลายหน่วยงานยังจัดทำ “คำถวายพระพรชัยมงคล” เผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ของหน่วยงาน และจัดกิจกรรมการลงนามถวายพระพรชัยมงคลภายในหน่วยงานหรือทางเว็บไซต์ โดยดำเนินการตลอดเดือนกรกฎาคม 2566

นอกจากนี้ยังมีบทสวดมนต์ถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติที่บ้านได้ โดยมีบทสวดมนต์ดังนี้

บทสวดถวายพระพร

คาถาถวายพระพรในหลวง รัชกาลที่ 10

มหาวชิราลังกรณาภิถุติปสิทธิวรทานคาถา

มะหาวะชิราลังกะระโณ       ส๎ยามานัง ธัมมะขัตติโย

มะหาปุญโญ มะหาปัญโญ    มะหาเตโช มะหายะโส

สัมพุทธะมามะโก อัคโค      ชินะจักกุปะถัมภะโก

สะวิรีโย สะมุสสาโห          ทีฆะทัสสี วิจักขะโณ

ส๎ยามะวาสีนะมัตถายะ        หิตายะ จะ สุขายะ จะ

สัพพะกิจจานิ กาเรติ           มะหาการุณิโก วะโร

สัพเพสัง ทุกขะฆาตา จะ      สัพพัตถะ สุขะทายะโก

ตัส๎มา นะริสสะโร เสฏโฐ     ส๎ยามิกานัง มะโนหะโร

สักกะโต มานิโต โหติ         ปูชิโต วะระขัตติโย

ระตะนัตตะยานุภาเวนะ       ระตะนัตตะยะเตชะสา

มะหาวะชิราลังกะระโณ       สะหะ สัพเพหิ ญาติภิ

ทีฆายุโก สุขี โหตุ  มะหัพพะโล มะหิทธิโก

นิททุกโข จะ อะโรโค จะ     อะเวโร โหตุ นิพภะโย

อันตะรายูปะสัคคา จะ         สัตตุอีติอุปัททะวา

มา กะทาจิ สัมผุสิงสุ           ส๎ยามะรัฏฐัง จะ ภูปะติง

ปัปโปตุ สัพพะโสตถิญจะ    สัพพัญจะ ชะยะมังคะลัง

อิจถิตัง ปัตถิตัง สัพพัง         ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ

จิรัง รัชเช ปะติฏฐาตุ           สะทา ภัท์รานิ ปัสสะตุ

ส๎ยามะรัฏฐัง วิโรเจตุ           สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

อิทธิง ปัปโปตุ เวปุลลัง        วิรุฬหิง จุตตะริง สะทา

จิรัง โลเก ปะติฏฐาตุ           สัมมาสัมพุทธะสาสะนันติ ฯ

อ้างอิงข้อมูล : พระลาน, อุทยานหลวง ราชพฤกษ์, ธรรมะไทย และ วัดป่ามหาชัย