'นพ.ยศวีร์ อรรฆยากร' ชีวิต น้ำตา และหยาดเหงื่อ สู่แพทย์สรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
เปิดใจ "นพ.ยศวีร์ อรรฆยากร" แพทย์เฉพาะทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กับเส้นทางที่แลกมาด้วยชีวิต เวลา น้ำตา และหยาดเหงื่อ
อาชีพหมอกับการใส่เสื้อกาวน์ ห้อยสเต็ทที่คอ (สเต็ทโตสโคป หรือหูฟังแพทย์) หลายคนอาจมองว่าเป็นอาชีพที่น่าอิจฉา แต่ถ้าได้รู้จักกับ "นายแพทย์ยศวีร์ อรรฆยากร" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการตรวจ สรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ และใช้การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จะรู้ว่ากว่าจะมีภาพรอยยิ้มกว้างบนใบหน้า เส้นทางในวงการแพทย์ต้องแลกมาด้วยชีวิต เวลา น้ำตา และหยาดเหงื่อ ที่ความสำเร็จไม่ได้มาโดยง่าย
นายแพทย์ยศวีร์ อรรฆยากร เล่าย้อนกลับไปในวันที่เขายังเป็นเพียงเด็กชายยศวีร์ แถมพ่วงด้วยตำแหน่งพี่ใหญ่ของบ้านในบรรดาพี่น้อง 4 คน ในครอบครัวที่ทำธุรกิจ ซึ่งพ่อแม่เคยฝันอยากเป็นแพทย์ จึงปลูกฝังอยากเห็นเขาเติบโตในสายอาชีพแพทย์ในอนาคต
"ตอนเด็กๆ เราคิดว่าเป็นหมอแล้วเท่ เวลาเห็นหมอใส่แว่น คล้องสเต็ท แต่พอได้เรียนก็พบว่าเรียนหนักกว่าที่คิดมาก โดยเฉพาะพวกวิชากลอส อนาโตมี (Gross anatomy) โอ้โห ท่องอะไรก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ต้องเอาโครงกระดูกมานั่งท่อง มานั่งดูว่าตรงนี้เรียกว่าอะไร กะโหลกบ้าง กระดูกแขน กระดูกขา เอามาท่องในห้องนอนทุกคืน"
เมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2544 "นายแพทย์ยศวีร์" ได้ทำงานแพทย์ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี เป็นอีกช่วงหนึ่งของการเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ทำให้เจอเคสการรักษาผู้ป่วยที่หลากหลาย เป็นหน้าด่านส่งต่อเคสให้กับแพทย์เฉพาะด้าน แต่ไม่ได้ดูไปจนสุดทาง เขาจึงโบกมือลาห้อง ER เพื่อทุ่มเทเวลาเตรียมตัวไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นในระหว่างที่รอการตอบรับจากมหาวิทยาลัย เขาได้พบกับนายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร อดีตประธานคณะผู้บริหาร ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ชวนให้มาทำงานใน โรงพยาบาลกรุงเทพ ในตำแหน่ง Medical Coordinator ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Email Team ทำหน้าที่ตอบรับและส่งอีเมลคนไข้ต่างชาติ หรือสถานทูตที่ต้องการจะส่งตัวคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาในโรงพยาบาล
คำพูดเปลี่ยนชีวิต "อยากเป็นหมอเพราะอะไร?"
ไม่เพียงแต่การคว้าโอกาสไว้ เขายังไม่ลืมที่จะสร้างทางเลือกให้ตัวเองด้วยการไปสมัครเรียนอายุรกรรมที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลไว้ (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช) เป็นการเรียนแบบแพทย์ประจำบ้าน 5 ปี แต่การเรียนต่อทันทีโดยไม่ได้ไปใช้ทุนทำงานที่โรงพยาบาล ทำให้ขาดประสบการณ์ ไม่รู้ว่าต้องดูราวด์คนไข้อย่างไร เป็นอีกหนึ่งความยากลำบากที่ทำให้รู้สึกท้อจนแทบอยากจะลาออก
อยากเป็นหมอเพราะอะไร? คำพูดของแฟนสาว "เปลี่ยนชีวิต" ทำให้เขากลับมาตั้งใจฮึดสู้อีกครั้ง จึงใช้วิธีไปเกาะติดการอยู่เวรกับรุ่นน้อง Extern ซึ่งต้องโดนตามตัวก่อนก็จะขอออกไปด้วย เพื่อไปดูว่าแพทย์คนอื่นดูคนไข้อย่างไร ทำอย่างนี้ทุกครั้งตลอดเวลาที่อยู่เวร จนกระทั่งผ่านมันมาได้ และพอครบ 5 ปี เขาก็สอบบอร์ดอายุรกรรมได้ที่ 1 ของรุ่น ลบล้างความกลัวและความกังวลที่ค้างคาใจไปได้
เส้นทางสู่แพทย์สรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
หลังเรียนอายุรกรรม 5 ปีจบ เขาตัดสินใจเรียนต่อด้านอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือดอีก 2 ปี รวมระยะเวลา 7 ปี ที่วชิรพยาบาล ด้วยเหตุผลที่แม่อยากให้เป็นหมอหัวใจ ประกอบกับความตั้งใจของตัวเองที่อยากให้คนไข้ดีขึ้น เขาจึงกลับมาเป็นแพทย์อายุรกรรมหัวใจทั่วไป ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ตามที่ได้รับปากกับอาจารย์ชาตรีไว้ว่า ถ้าเรียนจบแล้วจะกลับมาช่วยงาน ได้เข้ามาช่วยดูแลด้าน CCU, Mobile CCU รวมถึง check up
กระทั่งได้รับโอกาสครั้งที่ 2 ที่ถือเป็นความท้าทายใหม่จากอาจารย์ชาตรีอีกครั้ง เมื่ออาจารย์เล็งเห็นถึงศักยภาพและต้องการให้เรียนเฉพาะทางด้านสรีระไฟฟ้าหัวใจ หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อันเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันที่เร่งรีบ เผชิญความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ นอนดึก นอนน้อย หรือการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม ทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากเกินไป
"ผมมีไอดอลเป็นอาจารย์ที่เคยสอนผมที่วชิรพยาบาล ก็คืออาจารย์ทวีเกียรติ เป็นอาจารย์ด้านหัวใจและสรีระไฟฟ้าหัวใจอยู่แล้ว ที่ทำให้ผมอยากเรียนด้านนี้ ผมจึงขอทุนโรงพยาบาลกรุงเทพไปเรียนสรีระไฟฟ้าหัวใจที่โรงพยาบาลศิริราช เรียกว่าเป็นโอกาสครั้งที่ 2 จากอาจารย์ชาตรี ที่ผมตัดสินใจคว้าไว้ แล้วทำมันอย่างเต็มที่"
"You save my life" เติมเต็มคุณค่าของการทำงาน
การทำงานที่ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ทำให้ "นายแพทย์ยศวีร์" ได้รักษาเคส โรคหัวใจ ต่างๆ มากมาย แต่สำหรับเคสที่ท้าทายและหนักที่สุดคือ เคสเด็กผู้หญิงลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย อายุ 15 ปี ที่รับตัวมารักษาด้วยอาการ Heart Failure หรือหัวใจล้มเหลว
นายแพทย์ยศวีร์ เล่าว่า เด็กสาวมีอาการเหนื่อยและท้องโต เหมือนมีน้ำในท้อง แต่เมื่อได้อัลตราซาวด์ที่ท้องและที่หัวใจ จึงพบว่าเป็นหัวใจโต หัวใจล้มเหลว มาถึงก็เป็น Short run VT คือหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะรุนแรงแบบชั่วคราว หรือมาเป็นระยะๆ (Nonsustained VT) แล้วก็ห้องบนเต้นผิดจังหวะรุนแรง (Atrial fibrillation) คือมี 2 แบบ ทั้ง VT ทั้ง AF หัวใจโตมาก หัวใจล้มเหลวเนื่องจากมียีนที่ผิดปกติ ไม่ค่อยเจอในเมืองไทย ทำให้เกิด Cardiomyopathy เรียกว่า Lamin A/C Cardiomyopathy หรือหัวใจพิการ หรือหัวใจล้มเหลวตั้งแต่เด็ก
"เคสนี้ต้องเข้าไปทำหัตถการช็อกไฟฟ้าหัวใจก่อนเพื่อปรับจังหวะ Atrial fibrillation ให้กลับมาเป็นปกติ ปรากฏว่าปรับจังหวะไม่ได้เพราะหัวใจโตมาก เราก็ใส่เครื่องกระตุกหัวใจ AICD ให้เธอ ใส่ได้ 3-4 เดือน เธอก็เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลตลอด Heart Failure ตลอด จนกระทั่งสุดท้ายจบลงด้วยการทำ Heart transplantation คือเปลี่ยนหัวใจเลย เคสนี้หนักสุดที่เคยเจอมา"
หรืออีกเคสหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเคสที่ประทับใจและเติมเต็มเป้าหมายความต้องการช่วยเหลือคนไข้ของ "นายแพทย์ยศวีร์" อย่างแท้จริง เป็นเคสของนักกีฬาชายชาวเนเธอร์แลนด์ อายุ 53 ปี ผู้เป็นนักวิ่งมาราธอน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานได้ ดูแลสุขภาพอย่างดีมาโดยตลอด
"เขาบอกว่าเขาเหนื่อยง่าย เป็นมา 2-3 อาทิตย์ จนกระทั่งมาโรงพยาบาลกรุงเทพ มาเจอผมพอดี เลยได้แอดมิท ปรากฏว่าเป็น Sick Sinus Syndrome หรือหัวใจห้องบนเต้นช้าผิดปกติ จึงใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ Pacemaker ให้ เขาก็บอกว่ามีพละกำลังกลับมาเลย แล้วก็ร้องไห้เข้ามากอดผม แล้วบอกว่า You save my life เราก็กอดกับเค้า ร้องไห้ไปกับเขาด้วย ดีใจที่เขากลับมาแฮปปี้"
สิ่งที่ได้มากกว่า เมื่อมาดูแลหัวใจที่โรงพยาบาลกรุงเทพ
ความประทับใจของคนไข้เหล่านี้ มาจากการรักษาระดับเวิลด์คลาส ด้วยความพร้อมทั้งทีมบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ ตลอดจนการวางโปรโตคอลในการรักษาคนไข้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลกรุงเทพให้ความสำคัญ
"เรามีเครื่องมือพร้อม อย่างเครื่องจี้ไฟฟ้าหัวใจ มี Carto 3D mapping เป็นการจี้ไฟฟ้าโดยจำลองภาพ 3 มิติ ช่วยในการจี้ไฟฟ้าหัวใจให้ตรงจุดมากขึ้น แล้วก็ป้องกันไม่ให้จี้พลาดไปจุดสำคัญ ใช้รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจสั่นพลิ้ว และมีการมอนิเตอร์ติดตามความความเรียบร้อยหรือความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น มีการทำ occurence ขึ้นไป มีการวางโปรโตคอลไว้ว่าถ้าทำหัตถการเสร็จแล้ว หลังจากทำหัตถการจะเป็นอย่างไร จะมีแพทย์เข้าเยี่ยมภายในกี่ชั่วโมง เป็นมาตรฐานที่สร้างให้กับองค์กร"
ชีวิต เวลา และการเติบโตโลกภายใน
เมื่อทุกวินาทีมีค่า โดยเฉพาะกับคนที่ทำงานกับชีวิตของผู้คน จึงไม่น่าแปลกใจที่ "นายแพทย์ยศวีร์" จะมีงานอดิเรกเป็นการสะสมนาฬิกา
ไม่เพียงความชื่นชอบนาฬิกา แต่เขายังมีกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจคือ การไปปฏิบัติธรรม ช่วยสร้างการเจริญสติ ทำให้มีสมาธิในการดูแลคนไข้ การวางแผนรักษาผู้ป่วย และทำให้ใจเย็นที่จะรับฟังคนไข้ ใจเย็นที่จะตอบคำถาม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานราบรื่น ช่วยยกระดับจิตใจ เป็นการผสมผสานชีวิตทั้งภายนอกและโลกภายในให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน
จากคำถามของแฟนสาวในวันนั้น ความเชื่อมั่นในตัวเขาจากอาจารย์ชาตรี บวกกับความไม่ยอมแพ้ เรียนรู้ความผิดพลาด ลุกให้ไว และไม่หยุดเรียนรู้ จึงทำให้ "นายแพทย์ยศวีร์ อรรฆยากร" เป็นมือหนึ่ง สรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ของ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ในปัจจุบัน