‘จนแต่มีความสุข’ วาทกรรมหลอกตัวเองที่มาจากความเชื่อและแนวคิดทางการเมือง
ย้อนดูที่มาวาทกรรม “จนแต่มีความสุข” มีที่มาจากแนวคิดทางการเมืองและความเชื่อทางศาสนา และทฤษฎีจัดระเบียบทางสังคม ที่ทำให้คนหาข้ออ้างเข้าข้างตนเอง สร้างภาพลวงตาขึ้นมาเพื่อทำให้ตนเองพึงพอใจ โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว “ปัญหาความยากจน” มีที่มาจากที่ไหน
Key Point:
- วาทกรรม “จนแต่มีความสุข” และ “เงินซื้อความสุขไม่ได้” ถูกใช้มาหลายสิบปีทั่วโลก แต่งานวิจัยส่วนใหญ่ชี้ตรงกันว่าคนจนไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนรวย
- ทฤษฎีการให้เหตุผลระบบ ระบุว่า มนุษย์ต้องการปกป้องสภาพความเป็นอยู่ ระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการสร้างภาพเหมารวมให้แก่กลุ่มคนจนและคนรวย เพื่อสะท้อนความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์
- แนวคิดทางการเมืองส่งผลต่อทัศนคติแบบเหมารวม โดยฝ่ายซ้ายจะหาข้ออ้างให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และโทษว่าเป็นเพราะคนขยันไม่เพียงพอ ต่างจากฝ่ายขวาที่บอกว่าต้องปรับระบบ แต่ขณะเดียวกันก็ยังโทษคนยากจนเช่นกัน
ความจนมักถูกนำเสนอผ่านสื่อออกมาให้ “ดูดี” กว่าความเป็นจริง จนเกิดเป็นวาทกรรม “จนแต่มีความสุข” ที่ได้ยินกันมาตลอดหลายสิบปี พร้อมการสร้างภาพลักษณ์ ให้แก่คนหาเช้ากินค่ำ คนเร่ร่อน คนด้อยโอกาส ตลอดจนคนชายขอบว่าพวกเขาล้วนมีความสุขดี แม้ว่าจะไม่ได้มีเงินมากก็ตาม จนหลายคนหลงซาบซึ้งใจกับภาพรอยยิ้มและเรื่องราวการสู้ชีวิต ทั้งที่พวกเขาต้องอดมื้อกินมื้อ ชักหน้าไม่ถึงหลัง มีโรครุมเร้า แถมไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับด้วยซ้ำ
ขณะที่คนรวยกลับถูกสื่อมอบภาพลักษณ์เป็นคนเจ้าเล่ห์ โลภมาก ทะเยอทะยาน ไม่รู้จักพอ ขี้โกง ไม่มีความสุขในชีวิต บางทียังมีคอนเทนต์คนรวยปลอมตัวเป็นคนจนเพื่อหาจุดมุ่งหมายในชีวิต หรือออกตามหาความสุขที่แท้จริง จนกลายเป็นที่มาของวาทกรรมสุดคลาสสิคอย่าง “เงินซื้อความสุขไม่ได้”
- วิจัยชี้ชัด “เงิน” สัมพันธ์กับ “ความสุข”
รายงานประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก (World Happiness Index) ฉบับปี 2023 พบว่า “ฟินแลนด์” คว้าตำแหน่งประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก 6 ปีซ้อน ตามมาด้วย เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สวีเดน นอร์เวย์ อิสราเอล และนิวซีแลนด์ ซึ่งทั้ง 10 อันดับล้วนเป็นประเทศที่ “ร่ำรวย” ทั้งสิ้น
ขณะที่กลุ่มประเทศที่ “ยากจน” ทั้งกลับถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุด ล้วนเป็นกลุ่มประเทศในแอฟริกา และตะวันออกกลางที่กำลังเผชิญสงคราม ไม่ว่าจะเป็น แซมเบีย มาลาวี แทนซาเนีย เซียร์ราลีโอน เลโซโท บอตสวานา รวันดา ซิมบับเว เลบานอน และอันดับสุดท้าย คือ อัฟกานิสถาน
สอดคล้องกับงานวิจัยของ แดเนียล ดับเบิลยู แซคส์ เบ็ตซี สตีเวนสัน และ จัสติน วูล์ฟเฟอร์ แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่อาศัยในประเทศยากจนจนมีความพึงพอใจในชีวิตลดลง ความอยู่ดีมีสุขเชิงอัตวิสัยลดลง และระดับอารมณ์เชิงบวกลดต่ำลง
นอกจากนี้ งานวิจัยจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าคนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่มีรายได้สูง การศึกษาของแดเนียล คาห์เนแมน และ แองกัส ดีตัน ซึ่งนิยมใช้อ้างอิง พบว่า ความสุขเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเริ่มนิ่งเมื่อมีรายได้อยู่ที่ 75,000 ดอลลาร์ ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2022 ของคาห์เนแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ระบุว่าความสุขอาจเพิ่มขึ้นอีกเมื่อมีรายได้สูงถึง 500,000 ดอลลาร์
เมื่องานวิจัยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน แล้ววาทกรรมจนแต่มีความสุขมาจากไหน ?
จอห์น จอสต์ นักวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเป็นทฤษฎีให้เหตุผลของระบบ (Theory of System Justification) เพราะมนุษย์ต้องการปกป้องสภาพความเป็นอยู่ ระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง มองว่าตนเองดีที่สุด โยน “ความเป็นอื่น” ออกไป ซึ่งเป็นการสร้างภาพเหมารวม ด้วยการมอบข้อดีข้อเสียให้แก่คนในสังคม โดยให้คนกำหนดให้คนยากจนที่เป็นคนกลุ่มใหญ่มีความสุข มีศีลธรรม ส่วนคนรวยที่มีน้อยในสังคมเป็นคนไม่ดี หาความสุขในชีวิตไม่ได้
แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในระบบเศรษฐกิจ และทำให้เกิดความสมดุล สร้างความยุติธรรมในสังคมว่าไม่มีใครมีทุกอย่างสมบูรณ์แบบ
- ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ
ตามข้อมูลของศูนย์วิจัย Pew Research ระบุว่าในปี 1983 ครอบครัวที่มีรายได้สูงในสหรัฐถือครองความมั่งคั่งของ 60% ของประเทศ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นเป็น 79% ในปี 2016 กลายเป็นว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและปานกลางถือครองความมั่งคั่งโดยรวมลดลง และยังพบว่าความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจในสหรัฐเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
แม้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่มีแนวคิดฝ่ายขวากลับเชื่อว่า ความไม่เท่าเทียมกันในบางเรื่องสามารถยอมรับได้ และมองว่า การลดความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนัก การสำรวจของนิโคลัส อาร์ บัตทริค และ ชิเงฮิโร โออิชิ พบว่า 43% ของผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องปรกติของสังคม ขณะที่มีเพียง 7% ของผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตเท่านั้นที่เห็นด้วยในประเด็นนี้
นักจิตวิทยาหลายคนพบว่าการยอมรับความไม่เท่าเทียมของผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันเป็นผลกระทบทางจิตวิทยาอันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและความเชื่อทางศาสนา ซึ่งแนวคิดพรรครีพับลิกันเชื่อในสมมติฐานโลกยุติธรรม (Just World) คนที่ทำงานหนักจะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าและจะได้รับสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ ขณะเดียวกันความเชื่อทางศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์กลับเชื่อใน “จริยธรรมแห่งการทำงาน” (Work Ethic) ซึ่งเป็นรากฐานของระบบทุนนิยม ที่พูดถึงเรื่องคนจน-คนรวยมากกว่า
ดังนั้นคนที่รับทั้งแนวคิดของรีพับลิกันและโปรเตสแตนต์จะดูถูกสมาชิกในชุมชนที่ยากจน ขาดโอกาส และกล่าวโทษคนเหล่านั้นว่าที่มีสถานะเช่นนี้เพราะ “โชคร้าย” เอง นักทฤษฎีเสนอว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้พวกเขาสามารถเป็นผู้ควบคุมและได้รับความยุติธรรมจากโลกใบนี้ โดยดูเหมือนจะไม่เข้าใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่มีส่วนทำให้เกิดความยากจน
- ความเชื่อส่งผลต่อแนวคิด
การใช้ภาพเหมารวมแบบเหมารวมเกี่ยวกับคนจนและคนรวยในสังคม โดยเฉพาะความเชื่อว่าถึงจะยากจนที่สุดในสังคมแต่ก็ยังมีความสุข ทำให้ผู้คนสามารถหาเหตุผลเข้าข้างตนเองในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันได้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการกลายเป็นเหยื่อ และถูกคนรอบข้างดูถูกจากแนวคิดโลกยุติธรรมและจริยธรรมแห่งการทำงาน
ในการทดลองของอารอน ซี เคย์ และ จอห์น จอสต์ เมื่อปี 2003 ได้ให้ผู้อ่านอ่านบทความของชายคนหนึ่งที่ชื่อว่ามาร์ค ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทั้งรวยแต่ไม่มีความสุข รวยแล้วมีความสุข ยากจนแต่มีความสุข หรือยากจนและไม่มีความสุข ผลการทดลองพบว่า ผู้คนมักจะเข้าข้างและพร้อมแก้ตัวให้แก่มาร์คที่รวยแต่ไม่มีความสุข และ จนแต่มีความสุข มากที่สุด โดยมองว่าเป็นเพราะระบบที่ไม่เป็นธรรมส่งผลให้ผู้คนเผชิญหน้ากับภาวะที่เป็นอยู่
คนที่ยึดถือคติแบบรีพับลิกันไม่ว่าพวกเขาจะได้อ่านว่ามาร์กเป็นคนเช่นใด พวกเขามักจะให้ความเห็นว่า “คนที่ทำงานหนักก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น” และ “มีแต่คนอ่อนแอเท่านั้นแหละที่จะไม่ทำงานหนัก” ทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ยึดมั่นในแนวคิดโลกจริง และเชื่อว่า ทุกคนล้วนได้รับความยุติธรรมทางความมั่งคั่งและการเงินอยู่แล้ว ทำอะไรก็ได้อย่างนั้น
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของจอสต์ พบว่า แนวคิดทางการเมืองส่งผลต่อทัศนคติแบบเหมารวม โดยคนที่มีแนวคิดฝ่ายซ้ายจะหาข้ออ้างให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และโทษว่าเป็นเพราะคนขยันไม่เพียงพอ ต่างจากคนที่มีแนวคิดฝ่ายขวาที่บอกว่าต้องปรับระบบให้เหมาะสมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังโทษคนยากจนมากกว่าจะอธิบายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความยากจน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนฝ่ายขวาถึงเต็มใจจะปกป้องความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ
การเชื่อว่าคนยากจนมีความสุขอาจช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ แต่ความเชื่อเหล่านี้อาจเป็นภาพลวงตาที่ใช้เป็นข้ออ้างสร้างความพึงพอใจให้แก่ตนเอง แต่เป็นอันตรายต่อคนชายขอบ และไม่ใช่วิธีที่ทำให้ความจนหายไป ตราบใดที่เรายังไม่เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ และไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของความยากจน
ที่มา: Borgen, Nation Africa, Psychology Today