‘กรุณา บัวคำศรี’ นักข่าวผู้ทำให้ข่าวต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัว
เปิดตัวตนและแนวคิดการทำงานของ “กรุณา บัวคำศรี” นักข่าวที่ทำให้คนไทยได้รู้ว่า “ข่าวต่างประเทศ” สิ่งที่เกิดขึ้นรอบโลกเป็นเรื่องใกล้ตัว
คนไทยหลายคนมักจะมองว่าข่าวต่างประเทศเป็นเรื่องที่ไกลตัว ไม่คิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นอีกฟากของโลกจะสร้างผลกระทบกับเราได้ ทำให้สถานีข่าวไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องรอบโลก เพราะข่าวประเภทนี้ไม่ได้เรียกเรตติ้ง หันมาทำข่าวในประเทศที่เรียกเรตติ้งได้ดีกว่า
ท่ามกลางสงคราม “ข่าวชาวบ้าน” ที่แต่ละช่องแข่งกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ยังมี “กรุณา บัวคำศรี” ที่ยืนหยัดทำ “ข่าวต่างประเทศ” แบบเจาะลึก ให้ทุกชมได้ติดตามเรื่องรอบโลกอยู่
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษกับ กรุณา บัวคำศรี หรือ “พี่ณา” ของเหล่าแฟนคลับที่ติดตามผลงาน ถึงจุดเริ่มต้นและแนวคิดในการทำข่าวที่แตกต่างจากรายการข่าวอื่น ๆ จนกลายคนแรกที่ผู้ชมคิดถึงเมื่อพูดถึงการรายงานข่าวต่างประเทศ
- จุดเริ่มต้นของการทำข่าวต่างประเทศ
เป็นความชอบส่วนตัว ฝังอยู่ใน DNA มาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นเป็นช่วงเกิดสงครามในกัมพูชา ซึ่งไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องหนีออกจากบ้าน ทำไมมีผู้ลี้ภัย ทำไมมีคนบาดเจ็บ
ตัวเราก็ไม่เข้าใจในตอนนั้น สิ่งที่เราเห็นตอนเด็กคงจะอยู่ในใจของเรามาตลอด
พอมาเป็นนักข่าว เรารู้สึกว่าทำไมไม่ค่อยมีคนทำข่าวต่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเมือง อย่างเช่น สงครามกัมพูชา ไทยก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งด้านการทูต การรับผู้ลี้ภัย เราจึงมีความสนใจอยากที่จะปะติดปะต่ออดีตให้เข้ากับปัจจุบัน สิ่งที่เราเห็นตอนเด็กคืออะไร ทำไมยังมีปัญหาถึงตอนนี้
สื่อของไทยไม่ได้ให้พื้นที่และความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก เพราะคนไทยไม่ได้สนใจข่าวต่างประเทศเท่าเรื่องในบ้านเรา เขาอาจจะยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงว่ามันเกี่ยวอะไรกับเรา จึงตัดสินใจที่จะมาทำตรงนี้
- ทำไมถึงเลือกลงพื้นที่ด้วยตนเอง
ข่าวต่างประเทศดูไม่มีชีวิตหรือจิตวิญญาณเป็นเพราะขาดการลงไปหาตัวตนผู้คนของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่เหมือนกับข่าวในประเทศที่ผู้คนสามารถสัมผัสได้รู้จักถึงสีสันและความน่าสนใจในข่าวเป็นเพราะการที่คนดูได้เห็นและสัมผัสถึงตัวตนของคนในข่าว ขณะที่ข่าวต่างประเทศคนดูนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร
ตราบใดที่เราไม่ได้สัมผัสกับผู้คน ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เราจะไม่มีทางเข้าใจเรื่องนั้นได้อย่างลึกซึ้ง
เพราะฉะนั้นวิธีเดียวที่เราจะได้สัมผัสและรับรู้ถึงความรู้สึกของคนที่อยู่ในเหตุการณ์คือเราต้องลงไปอยู่ในนั้น พอเรามีโอกาสในฐานะนักข่าวและยังมีกำลังที่สามารถเดินทางไปได้ ก็ควรจะไป เพื่อนำเรื่องราว ความรู้สึกและจิตวิญญาณของคนเหล่านั้นมาอยู่ในข่าวเพื่อให้คนได้เข้าใจมากขึ้น
- เลือกประเด็นอย่างไร
พี่สนใจสงครามและความขัดแย้งไม่ใช่เพราะบ้าสงคราม แต่การทำให้คนเข้าใจเรื่องสงครามอย่างจริงจัง เป็นเครื่องมือในการต้านสงคราม เราถ่ายทอดสภาพความทุกข์ยากของคนในพื้นที่ สงครามเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะการทำสงครามทำให้เรามีทรัพยากรในการทุ่มเทกับการแก้ไขสิ่งแวดล้อมน้อยลง และทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรในที่ต่าง ๆ เราในฐานะประชากรโลกต้องให้ความสำคัญกับมัน เพราะมันกระทบกับเราแน่ ๆ
ยังมีปัญหาในภาพใหญ่ที่แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมอีกหลายอย่าง เช่น LGBTQ+ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสภาพ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งที่ชีวิตเหมือนกับเรา ส่วน Food Waste เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา จนเราเห็นหลักฐานว่าเราสูญเสียทรัพยากรไปเยอะมาก ซึ่งหลายครั้งมันไปเกี่ยวพันกับสงคราม เช่น สงครามในซีเรียเกิดจากคนไม่มีจะกิน เกิดภัยแล้งหนัก เขาไม่พอใจรัฐบาล ก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง
- สกู๊ปข่าวตอนไหนที่รู้สึกสะเทือนใจมากที่สุด
พี่เป็น PTSD (โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ) หลังจากทำเรื่องโรฮิงญาที่โดนไล่ยิงมาจนต้องข้ามพรมแดนจากรัฐยะไข่ มาบังกลาเทศ 7-8 แสนคน มันอิมแพคเพราะมันทำให้นึกย้อนไปถึงตอนเด็ก ที่เห็นคนเป็นล้านคนหนีมาอยู่ไทยเพราะสงครามกัมพูชา
จำได้ว่าวันนั้นยืนอยู่ตรงชายแดน เห็นแม่จูงลูก ผู้หญิงบางคนถูกข่มขืนมา บางคนถูกยิง เลือดอาบเต็มตัว นี่มันศตวรรษที่ 21 หรือเปล่า ทำไมยังเกิดขึ้นอยู่ พอมาดูคอมเมนต์ก็ผิดหวังที่ยังมีคนบางกลุ่มไม่มีความเห็นอกเห็นใจ มีแต่ความรุนแรง เกลียดชังมากเกินไป ความจริงคือ ไม่ว่าเขาจะมาจากไหน เขาก็คือมนุษย์เหมือนกับเรา
รูปแบบสงครามอาจจะเปลี่ยนไป เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนผู้เล่น แต่ผลของมันไม่เคยเปลี่ยน คนที่ได้รับผลกระทบคือคนประชาชนทั่วไป ที่ไม่มีอาวุธต่อต้านกับทหารหรือกองทัพ ชาวโรฮิงญาต้องหนีมาเพราะเขาโดนทหารไล่ฆ่า โดนเผาบ้าน คนยูเครนก็ตอบโต้แบบไม่ได้มีอาวุธอะไร
- การทำข่าวยุคก่อน เทียบกับในยุคโซเชียลที่เน้นเร็ว เราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานมากไหม
เปลี่ยนไม่มาก เพราะเรายังคงเชื่อการทำคอนเทนต์แบบยาว มีเวลา มีทุนในการผลิตเพื่อให้คนเข้าใจ ถ้าไม่ใช่แบบนี้เราไม่ทำ ไม่ได้หมายความว่าคลิปสั้นมันไม่ดี มันเรียกความสนใจของคน แต่ว่ามันจะเปล่าประโยชน์ถ้าคุณไม่สามารถหาเรื่องยาว ๆ ในการทำความเข้าใจเรื่องนั้นได้
พี่วางตัวเองเป็นสื่อมวลชนที่ใช้เวลาในการอธิบายข้อมูล ยอดวิวมันอาจจะไม่ได้เป็นล้านเท่ากับคลิปสั้น ๆ แต่แค่มีคนดูก็คุ้มแล้วถึงจะแค่หลักหมื่นหลักพัน อายุขนาดนี้พี่ไม่ได้ทำงานเพื่อต้องการรวย เรามีกำลังพอจะดูแลตัวเอง พี่อยากจะทำในสิ่งที่ไม่มีคนทำ และมีความหมายต่อผู้ชม
พี่ไม่เชื่อว่าสื่อต้องเป็นกลาง มันไม่รู้ว่าต้องกลางของใคร มันต้องถกเถียงกันได้ พี่ยอมรับว่าบางทีก็มีอคติ มันเกิดจากเราเห็นสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า คุณโทษเราไม่ได้ที่จะเห็นใจเหยื่อสงคราม หรือโทษเราไม่ได้ที่ตั้งคำถามกับการกระทำของชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะจีน รัสเซีย หรือสหรัฐ หน้าที่ของสื่อคือ การให้ข้อมูลที่ไม่ได้มาจากการเต้าข่าวขึ้นมา อย่าเอาเรื่องโกหกหลอกลวงแค่นี้พอ
- รับมือกับคอมเมนต์อย่างไร
หลัง ๆ พยายามเลี่ยงไม่อ่าน ถือเป็นความท้าทายจิตใจของเราจนทนได้ขนาดไหน บางทีพี่โดนว่าเป็น “สุนัขรับใช้ตะวันตก” ก็ได้ ไม่เป็นไร (หัวเราะ) เราไม่สามารถไปบอกทุกคนได้ว่าเราเป็นคนยังไง ไม่ได้บอกว่าเราถูกต้อง รอบด้านทั้งหมด แต่นี่คือวิธีการสื่อสารกับคนดูของเรา
ที่ยังเข้าไปอ่านก็เพราะยังมีคอมเมนต์ที่ทำให้เรามีแรงในการทำงานอยู่ เป็นกำลังใจ เราเลยรู้สึกว่ามนุษย์ยังมีความดีงามอยู่ เลยยังไม่ตัดขาดซะทีเดียว
- รู้สึกอย่างไรที่กลายเป็นไวรัลจากน้ำเสียงการอ่านข่าวอันเป็นเอกลักษณ์
ขำตัวเอง และต้องขอบคุณ เสียงพี่เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว แต่เราก็ดีใจในแง่ที่งานที่เราทำ ตัวเราเป็นกระแสหนึ่งในป๊อป คัลเจอร์ กลายเป็นตัวกลางช่วยถ่ายทอดเรื่องราวไปสู่คนวงกว้างมากขึ้น
ตอนนี้มีไลฟ์ผ่านยูทูบด้วย ว่างตอนไหนก็ทำตอนนั้น หน้าที่ของเราคือนำเสนอให้คนรู้ว่าเรื่องที่เราเห็นมันสำคัญอย่างไร เราจำเป็นต้องคอยนำเสนอนอกรอบ ซึ่งจะเป็นกันเองมากขึ้น ไม่เหมือนในหน้าจอ
- โควิดทำให้รูปแบบการทำข่าวต่างประเทศต่างจากเดิมอย่างไร
เปลี่ยนไปเยอะ เมื่อก่อนต้องเดินทางไปทำสารคดีทุกสัปดาห์ แต่พอเดินทางไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบ ทางสถานีให้กลับมาทำข่าวต่างประเทศรายวัน แต่ลงลึกแบบ Making Sense of the News ทำให้ผู้ชมเข้าใจว่าใครทำอะไร แล้วมันสำคัญอย่างไร สร้างผลกระทบอะไรกับเรา จนกลายมาเป็น “รอบโลก Daily” ซึ่งธรรมชาติของมันต่างจากการทำสารคดีโดยสิ้นเชิง
สารคดีมันต้องลงพื้นที่ ทำเสร็จก็เขียนสคริปต์ ลงเสียง ส่งให้ทีมงานตัด ไม่ต้องเจอผู้คนมาก แต่ตอนนี้เราต้องอยู่กับข่าวทุกวัน และเปลี่ยนตลอดเวลา มันก็ท้าทายดี พอช่วงนี้เดินทางได้ พี่ออกไปบ้าง แต่ไม่ถี่เหมือนเดิม ต้องดูแลทีม แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่อย่างสงครามยูเครน เลือกตั้งสหรัฐ ก็ต้องไป
ความเครียดในการทำข่าวกับสารคดีมันมาคนละแบบ อย่างข่าวเราจะเครียดเพราะเราต้องไม่พลาด ต้องถูกต้อง เราต้องคอยวิ่งตามมัน ซึ่งบางทีมันไม่ใช่ตัวเราเสียทีเดียว แต่การลงพื้นที่ มันจะเครียดจากความรู้สึกแทนคนที่เขาอยู่ตรงนั้นทั้ง ๆ ที่เขาไม่ควรอยู่มากกว่า อีกอย่างคือเราจะหาทางเข้าพื้นที่อย่างไร จะปลอดภัยไหม แต่ก็เทียบกับคนที่อยู่ตรงนั้นไม่ได้
- คนดูจะได้อะไรจากงานของกรุณา
เราไม่ได้หวังอะไรเลยนอกจากให้เกิดการพูดคุยถกเถียง ไม่ต้องตัดสินว่าใครถูกผิดนั่นเป็นหน้าที่ของผู้ชม ไม่ใช่ของสื่อ เป็นพื้นที่ให้แสดงความเห็นอกเห็นใจ เพราะพี่ยังเชื่อในเรื่องการมีพื้นที่ให้มนุษย์ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจกันได้
ตอนนี้สนใจเรื่องโลกร้อน โลกกำลังเข้าสู่ยุคที่เราไม่รู้ว่ากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ มันน่ากลัวมาก ที่จริงมันเป็นปัญหาที่เราทุกคนรู้ว่ามันจะต้องส่งผลกระทบต่อเรา แต่เราไม่ค่อยรู้สึกว่ามันเดือดร้อนกับเรา มันไม่ควรเป็นเรื่องที่มานั่งเถียงกันว่ามันจริงหรือไม่จริง มันไม่ใช่เรื่องการแบ่งแยกฝักฝ่าย มันเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
พี่เลยนั่งคิดกับตัวเองว่าทำไมคนถึงไม่รู้สึก กระแทกกับเรื่องพวกนี้ เป็นเพราะเรายังหาคำอธิบายไม่ดีพอหรือเปล่า เราทำการบ้านไม่นักพอ พี่จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อถ่ายทอดให้คนรู้ว่ามันหนักและใหญ่มาก มันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย