‘Bare Minimum Mondays’ ทำงานเท่าที่จำเป็น ช่วยทำงานดีขึ้น-เครียดลดลง
หาก “เกลียดวันจันทร์” ลองเทคนิค “Bare Minimum Mondays” เริ่มสัปดาห์ด้วยการทำงานน้อย ๆ แต่มีแรงสู้จนถึงปลายสัปดาห์ แถมงานวิจัยรับประกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เครียดลดลง นอนหลับดี
ยุคหลังโควิดหลายคนยังคงเผชิญกับการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำอยู่ จนหลายคนเกิดอาการ “เกลียดวันจันทร์” (Monday Blues) ไม่อยากตื่นไปทำงานในเช้าวันจันทร์ ซึ่งหลัง ๆ เริ่มลามไปถึงวันอาทิตย์ที่คนใช้ชีวิตแบบขวัญผวา ทั้งที่ควรจะใช้เวลาพักผ่อนอย่างมีความสุข แต่กลับไม่มีความสุข เพราะมัวกังวลถึงความยากลำบากในการทำงานที่จะมาถึงในวันจันทร์ ที่เรียกว่า “Sunday Scaries” วันอาทิตย์สุดสยอง
ความกังวลและความกลัวในการเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ รบกวนการสร้างสมดุลระหว่างงานชีวิตส่วนตัว ดีแต่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า เหนื่อยล้า และหนักใจ จากข้อมูลของ LinkedIn พบว่าเกือบ 75% ของคนอเมริกันมีอาการ Sunday Scaries และรู้ตัวว่าจะต้องเปลี่ยนความวิตกกังวลและความเครียดเหล่านี้ให้ดีขึ้น
เพื่อลดการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน เมริสา โจ เมย์ส นำเสนอแนวคิดการทำงานแบบ “Bare Minimum Mondays” ซึ่งเป็นการทำงานคล้ายกับ Quiet Quitting ที่เป็นการทำงานไปตามหน้าที่ ไม่ทำงานหนักจนกดดันตนเองมากเกินไป ทำงานสบาย ๆ ตามความหมายของ “Bare Minimum” ที่แปลว่า ทำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เลือกทำเฉพาะงานที่จำเป็น เน้นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่มีการประชุม และเน้นการดูแลตนเองให้มากขึ้น
“ฉันเริ่มต้นสิ่งนี้เพราะฉันกดดันตัวเองมากเกินไป ซึ่งทำให้ฉันทำอะไรไม่ได้เลย” เมย์สกล่าว
Bare Minimum Mondays ไม่ใช่แค่การขี้เกียจทำงานไปวัน ๆ แต่นักจิตวิทยาระบุว่า การทำงานรูปแบบนี้ช่วยให้จิตใจของพนักงานดีขึ้นจริง
- ไม่หมดไฟระหว่างสัปดาห์
วันจันทร์เป็นวันแรกของการทำงาน ดังนั้นการเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการทำงานน้อย ๆ ค่อย ๆ ทำ จะช่วยให้เราสามารถจัดสรรเวลาในการทำงานและดูแลตนเองได้ดีขึ้น เหมือนกับเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการนั่งจิบกาแฟด้วยความละเมียดละไม แทนที่จะใช้สมองทำงานยาก ๆ ตั้งแต่เริ่มนั่งโต๊ะ Bare Minimum Mondays จะช่วยให้ลดความวิตกกังวลได้
เมย์สเล่าให้สำนักข่าว Insider ฟังว่า เธอเริ่มต้นวันด้วยการอ่านหนังสือ จดบันทึก หรือทำงานบ้าน โดยไม่แตะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลย และหลีกเลี่ยงการประชุม สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เธอรู้สึกดีกับการเริ่มต้นวันใหม่
เมื่อเข้าสู่ช่วง 10 โมงเช้า เธอจะเริ่มทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่ทำให้เธอรู้สึกสนุกเมื่อได้ใช้ความคิด เช่น การถ่ายทำคอนเทนต์ หรือ คิดคอนเซปท์งานต่าง ๆ หลังจากนั้นราว ๆ 1 ชั่วโมง เธอจะพักไปทานอาหารกลางวัน หรือเดินเล่น แล้วค่อยกลับมาทำงานต่ออีก 2 ชั่วโมง แต่ถ้าหากงานติดพัน เธอจะนั่งทำงานต่ออีก 1 ชั่วโมง
เมย์สกล่าวว่า ระหว่างที่ทำงานนั้น เธอจะใช้สมาธิอย่างเต็มที่ ไม่ว่อกแว่ก ไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น ทำให้เธอสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แถมใช้เวลาน้อยลง แต่ได้เนื้องานเท่ากับทำงาน 8 ชั่วโมงในวันปกติ
การเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยงานเบา ๆ หรือสร้างบรรยากาศดี ๆ สำหรับการดูแลตนเอง จะช่วยใช้เรามั่นใจได้ว่า จะมีแรงกำลังต่อสู้กับงานหนักไปได้ตลอดทั้งสัปดาห์ แทนที่จะโหมงานตั้งแต่วินาทีแรกของการทำงาน แล้วไปหมดแรงตอนกลางสัปดาห์
การศึกษาในปี 2022 ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ชี้ให้เห็นว่า การเดินเล่นในพื้นที่สีเขียวหรือท่ามกลางธรรมชาติในช่วงระหว่างสัปดาห์จะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น และการนอนหลับมีคุณภาพที่ดีมากขึ้น นอกจากนี้ หากเดินเจริญสติภาวนาติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ช่วยเพิ่มอารมณ์ คุณภาพการนอนหลับ และสมาธิจะยิ่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- วันจันทร์กลับมาสดใสอีกครั้ง
หลายคนอาจจะมองว่าการทำงานแบบ Bare Minimum Mondays เป็นการทำงานไม่เต็มที่ ไม่ช่วยให้งานเดินหน้าไปไหน เป็นเพียง “ข้ออ้าง” หยุดทำงานเท่านั้น แต่เทรนด์นี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้คนผู้คนเลิกเกลียดวันจันทร์เท่านั้น ยังช่วยให้ชีวิตกลับมาเข้าร่องเข้ารอย สามารถทำงานและใช้ชีวิตได้มีคุณภาพและสมดุลมากยิ่งขึ้น
เมย์ส ผู้คิดค้นเทรนด์นี้เปิดเผยประสบการณ์ส่วนตัวของเธอกับ The New York Post ว่า หลังจากที่ทำ Bare Minimum Mondays มาสักพัก พร้อมลดความคาดหวังในการทำงานของตนเองลง เธอรู้สึกว่าเธอไม่เกลียดวันจันทร์อีกต่อไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เมย์สเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ด้วยความอ่อนแรงและไม่มีไฟในการทำงาน ด้วยความหงุดหงิดตัวเองที่ไม่มีแรงบันดาลใจ เธอจึงพยายามหางานมาทำให้เยอะเข้าไว้ เพื่อเป็นการชดเชยความรู้สึกผิดในใจ
สอดคล้องกับผลงานวิจัย ในปี 2021 ที่ทำการศึกษาติดตามชั่วโมงการทำงานของชาวสวีเดนตลอดระยะเวลา 10 ปี พบว่า ยิ่งชั่วโมงการทำงานลดลงเท่าไหร่ ความเครียด ความเหนื่อยล้า และอารมณ์เชิงลบลดลงมากเท่านั้น
ส่วนการศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2017 ระบุว่า ผู้ร่วมการทดลองมีระดับความเครียดที่ลดลง และช่วยให้นอนหลับดี มีคุณภาพ หากทำงานลดลง 25% จากปรกติ
ปัจจุบันผู้คนต่างพยายามหาทางให้การทำงานรบกวนชีวิตส่วนตัวน้อยที่สุด เพื่อสร้างสมดุลในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทดลองทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน การทำงานแบบ Quiet Quitting หรือแม้แต่การทำงานทั้งจากที่บ้าน รวมถึง Bare Minimum Mondays ล้วนเป็นการตั้งคำถามว่าระหว่างงานกับสุขภาพอะไรเป็นเรื่องที่สำคัญกว่ากัน