เหตุ 'กราดยิง' ที่เหยื่อเป็นผู้หญิง อาจไม่ใช่รูปแบบ 'Femicide' เสมอไป

เหตุ 'กราดยิง' ที่เหยื่อเป็นผู้หญิง อาจไม่ใช่รูปแบบ 'Femicide' เสมอไป

การก่อเหตุ “กราดยิง (Active Shooter)” ที่มีเหยื่อเป็นผู้หญิง อาจไม่ใช่ความรุนแรงที่เรียกว่า “Femicide” เสมอไป เพราะมีนิยาม รูปแบบ และลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

จากกรณีเหตุ “กราดยิงพารากอน” หลายคนสงสัยว่าผู้ก่อเหตุเจาะจงเลือกเหยื่อที่เป็น “ผู้หญิง” หรือไม่? เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงยังไม่สามารถฟันธงได้ว่านี่เป็นอาชญากรรมแบบ Femicide หรือความรุนแรงที่เลือกเหยื่อเฉพาะผู้หญิง อีกทั้งการก่อเหตุแบบ Femicide มีนิยามของรูปแบบและลักษณะการก่อเหตุที่แตกต่างไปจากลักษณะของ Active Shooter 

 

  • Active Shooter และ Mass Shooting คืออะไร?

ข้อมูลจาก USAfacts.org ระบุถึงคำว่า “กราดยิง” หรือ Active Shooter หรือ Mass Shooting ตามนิยามจากหน่วยงาน FBI ไว้ว่า Active Shooter คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมในการสังหารหรือพยายามสังหารผู้คนในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น (ตามนิยามดังกล่าวไม่ได้เจาะจงว่าผู้ก่อเหตุเลือกเหยื่อเป็นหญิงหรือชายหรือเด็กหรือผู้ใหญ่) 

เมื่อมีรายงานผู้ก่อเหตุกราดยิง แสดงว่าเหตุการณ์นั้นมีลักษณะที่มือปืนกำลังดำเนินการก่อเหตุต่อเนื่องอยู่สักระยะ ก่อนที่เจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมเหตุได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจใช้เวลานานในการควบคุมเหตุ และสถานการณ์ของเหยื่อที่ถูกกราดยิงไม่ได้จบลงด้วยการเสียชีวิตเสมอไป

ส่วนคำว่า Mass Shooting ก็มีความหมายในทำนองเดียวกัน คือ เป็นเหตุอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนซึ่งให้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย (อาจมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก, อาจมีผู้บาดเจ็บแต่ไม่มีผู้เสียชีวิต, อาจมีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ)

 

  • ความรุนแรงแบบ Femicide ผู้ก่อเหตุเป็นคนในครอบครัว ไม่ใช่คนนอก

ในขณะที่การก่อเหตุในรูปแบบที่เรียกว่า “Femicide” นั้น หมายถึง การทำร้ายร่างกายเหยื่อที่เป็นผู้หญิงจนถึงแก่ความตาย โดยผู้ก่อเหตุมักเป็นผู้ชายในครอบครัวหรือคนรัก ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงในความสัมพันธ์

นอกจากนี้หากมองในบริบททางจิตวิทยา คำว่า Femicide ยังหมายถึง การมีพฤติกรรมตอบสนองต่อความรู้สึกเกลียด ดูถูก ดูแคลน หรือเหยียดหยามเพศหญิง โดยผู้ก่อเหตุมักเป็นเพศชายที่มีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นทรัพย์สินที่สามารถครอบครองได้ เมื่อตนสามารถทำให้ผู้หญิงอยู่ใต้บังคับบัญชาหรือสามารถควบคุมได้ ก็จะรู้สึกภูมิใจ มีเกียรติ

ที่ผ่านมาพบว่ามีอาชญากรรมในรูปแบบ Femicide เกิดขึ้นทั่วโลกและมีจำนวนมากขึ้น จากรายงานการฆาตกรรมผู้หญิงของ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) พบว่า ในปี 2021 มีผู้หญิงและเด็กทั่วโลกมากถึง 81,100 คน ถูกฆ่าโดยเจตนา โดยเด็กและผู้หญิงจำนวน 4.5 หมื่นคน (ประมาณ 56%) เสียชีวิตด้วยฝีมือของคนรัก คนสนิท หรือสมาชิกในครอบครัว โดยเฉลี่ยในทุก 1 ชั่วโมง จะมีเด็กหรือผู้หญิงมากกว่า 5 คน ถูกฆ่าโดยคนใกล้ชิด

ทั้งนี้ แรงจูงใจของ Femicide ต้องมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เชื่อมโยงกับเพศ หากเป็นการฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่าโดยคนเพศเดียวกันจะไม่นับว่าเป็น Femicide 

ยกตัวอย่างกรณี Femicide ที่เกิดกับเหยื่อผู้หญิงในประเทศอินเดีย แม้ว่าผู้หญิงอินเดียยุคใหม่จะมีอำนาจทางการเงิน มีอาชีพก้าวหน้ามั่นคง หรือมีหน้ามีตาทางสังคมมากขึ้น แต่ปัญหาการถูกทำร้ายจากผู้ชายในครอบครัวยังไม่ลดลง แถมยังพบว่ามีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายโดยคนรักหรือคนในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นอีกต่างหาก โดยจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่เปิดเผยกับสำนักข่าว Deutsche Welle (DW) พบว่า ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นจากผู้ชายนั้น เป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความเป็น “ปิตาธิปไตย” ในสังคมนั้นๆ 

 

  • การก่อเหตุความรุนแรงต่างๆ ทั่วโลก มีนิยามแตกต่างกัน ไม่สามารถเหมารวมเป็นแบบเดียวได้

นอกจากนี้ นิยามของการก่อเหตุ "กราดยิง" ยังมีความแตกต่างจาก "การสังหารหมู่" และ "การฆาตกรรมต่อเนื่อง" อีกด้วย แม้ว่าเหตุเหล่านั้นจะมีผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมากเหมือนกัน แต่มีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

การสังหารหมู่ (Mass Murder, Mass Killing) หมายถึง เหตุการณ์อันตรายร้ายแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงอาวุธที่ใช้ นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก (Congressional Research Service (CRS) ระบุว่า การฆาตกรรมหมู่ คือ การก่อเหตุฆาตกรรมซ้ำๆ หลายครั้ง ซึ่งมีเหยื่อผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 4 รายขึ้นไป ภายในเหตุการณ์เดียวกัน และในสถานที่แห่งเดียวกันหรือในแห่งอื่นๆ ด้วย แต่มีพื้นที่ใกล้เคียงกันทางภูมิศาสตร์

การฆาตกรรมต่อเนื่อง (Serial Killer) หมายถึง การก่อเหตุฆาตกรรมผู้อื่นอย่างผิดกฎหมาย โดยมีเหยื่อถูกฆาตกรรมอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป โดยถูกกระทำจากบุคคลคนเดียวกัน การก่อเหตุลักษณะนี้มักเป็นเหตุการณ์ที่แยกจากกัน และ/หรือ เกิดขึ้นในระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดยใช้ระยะเวลาก่อเหตุมากกว่า 1 เดือน

ท้ายที่สุดแล้ว การก่อเหตุกราดยิงไม่ว่าจะมีความจงใจในการเลือกเหยื่อที่เป็นผู้หญิงหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นสำคัญมากกว่านั้นคือ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการในวงกว้าง และยิ่งนับวันก็ยิ่งจะพบการก่อเหตุลักษณะนี้บ่อยขึ้น ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งหาวิธีป้องกันเหตุ รวมถึงวิธีแจ้งเตือนเหตุลักษณะนี้แก่ประชาชนให้รวดเร็วอย่างทันท่วงที ส่วนประชาชนเองก็ควรเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเหล่านี้ให้มากขึ้น

--------------------------------

อ้างอิง : USAfacts.org, The New York TimesUNODC.org, DW, CrimeMuseum.org