วิเคราะห์! อยู่ดีๆ ก็ขี้เกียจทำงาน | บวร ปภัสราทร
เคยบ้างหรือไม่ที่อยู่ดีๆ งานที่เคยทำอย่างกระตือรือร้นเมื่อวันวานกลายเป็นงานที่จืดชืด ขี้เกียจจะทำขึ้นมาเฉยๆ
งานที่เคยทำเสร็จภายในแทบจะทันทีทันใด กลายเป็นงานที่กว่าจะสำเร็จก็ใกล้เส้นตายแทบทุกครั้ง งานที่ไม่เคยรีรอที่จะเริ่มต้นลงมือทำ กลายเป็นผัดวันประกันพรุ่งไปเสียแล้ว
การรู้สึกขี้เกียจทำงานเป็นครั้งคราวนั้นเป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้เสมอ โดยเฉพาะหลังจากที่ตรากตรำทำงานหนักมาต่อเนื่อง จนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทุ่มเทมากๆ นานวันเกินไป พบว่ามีจำนวนมากที่ลงท้ายด้วยอาการขี้เกียจทำงานตามมาเสมอ แต่ไม่ใช่อาการถาวร พักผ่อนเพียงพอก็กลับมาขยันขันแข็งได้ใหม่
ถ้าขี้เกียจหลังจากลุยงานยาก ก็อาจจะมาจากความเครียดสะสมที่เกิดจากการทำงานยากนั้น ยิ่งถ้าเครียดกับงานยากจนกระทั่งกินไม่ได้นอนไม่หลับ สังขารถดถอยลงเพราะความเครียด และอาหารการกินที่ไม่ดีพอ คงขยันลุยงานไม่ไหวแน่ๆ
ถ้ารู้ตัวว่าเครียดจากงานยาก จนไม่มีเรี่ยวแรงทำงานได้อย่างกระตือรือร้น ก็ควรหาทางทุเลาความเครียดจากการงาน ลองพักห่างงานนั้นไปสักระยะ จนรู้สึกว่าดีขึ้นแล้ว อาการขี้เกียจทำงานจะหายไปได้เอง สรุปง่ายๆ ว่าถ้าขี้เกียจมาจากสังขารของเราเองนั้น สักพักหนึ่งก็จะทุเลาลงไปเอง
มีหลายกรณีที่ความขี้เกียจเกิดขึ้นจากความเบื่องานโดยไม่รู้ตัว ทำงานเดิมมานาน ทำงานเดิมด้วยวิธีการเดิมๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปรากฏความผิดพลาด เท่าๆ กับที่ไม่มีอะไรที่โดดเด่น
งานนั้นตอนแรกๆ ก็มีความท้าทายให้ได้ใช้ควาามสามารถใหม่ๆ มาจัดการ แต่นานวันกลายเป็นงานจำเจที่ไม่มีแรงบันดาลใจใดๆ ประกอบกับไม่มีโอกาสขยับตำแหน่งหน้าที่ให้สูงขึ้น งานเดิม ตำแหน่งเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมเป็นแรมปี ใครๆ ก็ขี้เกียจทำงานนั้น
ถ้างานประจำกลายเป็นงานที่จำเจ แต่ยังไม่มีโอกาสจะขยับขยายไปสู่หน้าที่ใหม่ๆ ให้พยายามแปลงงานจำเจให้กลายเป็นงานท้าทาย พยายามทำให้ตำแหน่งเดิม งานเดิม เงินเดือนเดิม แต่ตัวเราเป็นคนใหม่
เช่น พยายามลองดูว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คนพูดถึงกันเยอะๆ นั้น มีเทคโนโลยีใดบ้างที่น่าจะมาเติมเต็มงานดั้งเดิมของเราได้
แม้ว่ารู้แล้วว่าจะทำอย่างไร แต่จริงๆ ก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจจะไปเปลี่ยนแปลง แต่เรากลายเป็นคนใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ถึงวันหนึ่งข้างหน้าก็จะปลดปล่อยศักยภาพนี้ออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ได้
ที่ยากขึ้นมาอีกคือ ขี้เกียจทำงาน เพราะขยันแล้วไม่ได้ดี ทุ่มเทกับงานนั้นมาอย่างเต็มที่ แต่นายใหญ่ไม่เห็นความสำคัญ เงินเดือนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ต่างไปจากคนอื่นที่ทำงานเช้าชามเย็นชาม
หรือมีนายใหญ่คนใหม่ที่ไม่เห็นความสำคัญของงานที่เราทำ ขยันในเรื่องที่ไม่มีใครเห็นความสำคัญนั้น ไม่น่าจะมีประโยชน์ใดๆ กับตนเอง นอกเหนือไปจากการเติมเต็มศักยภาพของตนเองเท่านั้น
หรือมีการปรับเปลี่ยนระบบงานที่เดิมเคยมามอบอำนาจการตัดสินใจมาที่คนทำ ปรับเป็นการรวมการตัดสินใจไว้ที่นายใหญ่แต่เพียงคนเดียว เคยทำงานตามแนวทางที่เห็นว่าดี ต้องปรับมาทำตามแนวทางที่เราไม่เชื่อว่าจะดีเท่ากับแนวทางเดิม แต่ขัดใจนายใหญ่ไม่ได้ ขยันตามหนทางที่เราไม่เชื่อนั้น น้อยคนนักที่จะสามารถขยันได้
ถ้าความขี้เกียจมีต้นเหตุมาจากนายใหญ่ หนทางเดียวที่ทำได้ คือทำใจทำตามหน้าที่ในทุกครั้งที่ขี้เกียจ งานเสร็จบนความขี้เกียจได้เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นบนความขยัน เพียงแต่จะหวังผลงานที่โดดเด่นอะไรไม่ได้
ในสภาพจำยอมเช่นนี้ หนทางที่ดีที่สุดคือขี้เกียจในการงานได้ แต่ต้องไม่ขี้เกียจในการพัฒนาศักยภาพของตนเองให้พร้อม หากมีโอกาสใหม่ๆ มาถึงตนเอง
ขี้เกียจทำงานที่มาจากปัจจัยในองค์กร มักมาจากเรื่องที่มีผลต่อระดับความผูกพันของบุคลากรกับองค์กรนั้น เช่น วัฒนธรรมการทำงานที่จำกัดการเติบโต การสื่อสารทางเดียวระหว่างผู้บริหารกับคนทำงาน บุคลิกภาพและการปฏิบัติตนของผู้บริหาร ภาระงานที่ไม่สมดุลระหว่างงานกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต
เรื่องใดก็ตามที่เกิดขึ้นแล้ว ลดทอนความผูกพันของบุคลากรลงไป เรื่องนั้นมีโอกาสสูงมากที่นำไปสู่ความขี้เกียจทำงานขึ้นมาได้
ถ้าไม่อยากให้บุคลากรอยู่ดีๆ ก็ขี้เกียจทำงาน ให้ดูแลปัจจัยความผูกพันของบุคลากรไว้ให้ดี
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]