‘อีโก้-ต่างวัย-มายด์เซ็ต’ 3 กับดักขัดความเจริญ ต้องทรานส์ฟอร์มด่วน
เปิดเทรนด์ “ทรานส์ฟอร์เมชัน” (Transformation) ยุค 2024 ไม่ได้เน้นแค่การขจัด “อีโก้” และ ปรับมายด์เซ็ตผู้นำองค์กร ที่เป็นประเด็นคลาสสิกในทุกยุคทุกสมัยเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับปัญหา “ช่องว่างระหว่างวัย” เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทในองค์กรมากขึ้น
ในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้น สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่คาดเดาได้ยากจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสงคราม ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน เพื่อให้อยู่รอดให้ได้และเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ด้วยการทำ “Business Transformation”
Business Transformation หรือ การแปลงร่างธุรกิจ เป็นการทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยเป็นมา ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หรือพลิกโฉมเปลี่ยนรูปแบบจนไม่เหมือนเดิมก็ได้เช่นกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มกำไร
แม้แนวคิดการทำทรานส์ฟอร์เมชันจะไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะเมื่อตอนโลกธุรกิจหลายอุตสาหกรรมถูก “ดิจิทัล” เข้ามาดิสรัปต์ นำมาสู่จุดเริ่มต้นของ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” ที่มักถูกโยนเข้าห้องประชุมในแทบทุกองค์กรธุรกิจ
มาในวันนี้ คอนเซปต์ของ “การปรับตัว” จนถึง “แปลงร่าง” ยังคงเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจ แต่ “โจทย์” หรือ สิ่งที่เข้ามาดิสรัปต์ อาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
แล้วเทรนด์การทำ Business Transformation ในปี 2024 คืออะไร?
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “นพเกล้า กิจปานนท์” ที่ปรึกษาบริหาร โค้ชด้านการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ซีอีโอของ The Adler ถึงความสำคัญและประโยชน์ของการทำ Business Transformation ตลอดจนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงองค์กรและพนักงาน เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตที่ยั่งยืน
- ความสำคัญของการทำ Business Transformation
ในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการการแปลงร่างธุรกิจกว่า 20 ปี “นพเกล้า” มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของแวดวงธุรกิจมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางเศรษฐกิจโลกผันผวน มีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีและดิจิทัลพัฒนาขึ้นตลอดเวลา ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของคนทั่วโลก
อีกทั้งในปัจจุบัน พนักงานรุ่นใหม่ที่เป็นชาว “เจน Z” และ เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานมากขึ้น ซึ่งคนรุ่นใหม่มีมุมมองและการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างไปจากวิธีการของคนรุ่นเก่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องหาทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
นพเกล้า อธิบายถึงการทำ Business Transformation ว่า มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลง สร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาแนวคิดของผู้บริหาร นำเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาช่วยในการทำงาน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ รูปแบบการจัดการ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กรและพนักงาน
แต่ก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ นพเกล้าชี้ว่า ด่านสำคัญด่านแรก คือ “ผู้บริหาร” จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดตัวเอง ลด “อีโก้” ให้ได้ก่อน เพราะถ้าหากยังยึดติดกับความคิดของตนเอง ไม่ทำตามแผนการเปลี่ยนแปลง คนอื่น ๆ ในองค์กรก็จะไม่ทำตามแผน และ Business Transformation ก็จะไม่เกิดขึ้น เสียเงิน เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
นพเกล้ากล่าวว่า โดยปรกติแล้ว บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจส่วนใหญ่จะเข้าไปช่วยองค์กรตั้งแต่คิดแผนการเปลี่ยนรูปแบบในด้านต่าง ๆ ที่ต้องการ ซึ่งจะออกมาในรูปแบบการทำกิจกรรมเวิร์คช็อป สร้างกระบวนการคิดให้แก่บุคลากรในบริษัท ให้มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน มีมุมมองที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างผลงานออกมา ตลอดจนมีการติดตามผล ซึ่งผลจากการทำทรานส์ฟอร์เมชันจะแตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ขององค์กร มีทั้งเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของคนในองค์กร พนักงานมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น มีการจัดการข้อมูลที่ดีขึ้น สามารถลดต้นทุนลงได้โดยไม่จำเป็นต้องปลดพนักงานออก และมีกำไรเพิ่มมากขึ้น
- ปัญหาของการทรานส์ฟอร์เมชัน
การทำทรานส์ฟอร์เมชันไม่ใช่เรื่องใหม่ ในแวดวงธุรกิจมีการทำเสมอ แต่อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับในองค์กรที่พึ่งสนใจหรือทำทรานส์ฟอร์เมชันเป็นครั้งแรก โดยนพเกล้าเปิดเผยว่าในตลอดการทำงานที่ผ่านมาพบอุปสรรคหลากหลายประการที่ทำให้การทรานส์ฟอร์เมชันในองค์กรเกิดขึ้นได้ยากลำบาก
สิ่งแรกเลยก็คือ “ความคิด” ของผู้บริหารและพนักงานรุ่นเก่าที่มีไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารมักจะยึดติดกับอีโก้ของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและจะทำให้ทุกอย่างอยู่กับที่ ดังนั้นจำเป็นจะต้องหาวิธีเปลี่ยนความคิดให้ผู้บริหารเห็นว่า ทรานส์ฟอร์เมชันเป็นเรื่องสำคัญ ทำเพื่อให้องค์กรและพนักงานก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่เพื่อตนเอง เมื่อเปลี่ยนวิธีคิดได้แล้วอีโก้จะลดลงไปเอง
ส่วนพนักงานรุ่นเก่ามักจะหมกมุ่นกับความคิดของตนเอง ซึ่งจำเป็นจะต้องให้พวกเขารู้สึกดีกับตนเอง เห็นคุณค่าของตนเองได้ก่อน ไม่มีปัญหาคาใจกับเพื่อนร่วมงานจนกลายเป็นปัญหาการเมืองในที่ทำงาน เมื่อพวกเขาสามารถก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นได้ พวกเขาจะสามารถทำงานให้กับองค์กรได้อย่างเต็มที่ และพร้อมเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อองค์กร
ในที่ทำงานประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายวัย ทำให้เกิด “ช่องว่างระหว่างวัย” (Generation Gap) ขึ้น ดังนั้นก่อนการทรานส์ฟอร์เมชันจึงจำเป็นจะต้องสร้างการรับรู้ให้ทุกคน พร้อมปรับทัศนคติในองค์กรให้ตรงกัน ให้เห็นถึงความหลากหลาย เคารพในความแตกต่างของแต่ละช่วงวัย เพราะไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนเหมือนกันได้ ในวันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป
ขณะเดียวกัน ความแตกต่างระหว่างวัยทำให้คนรุ่นใหม่ถูกมองว่า “ไม่มีความอดทน” ทั้งที่พวกเขาให้ความสำคัญกับ Work Life Balance ไม่ซื้อการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ซึ่งเป็นความเชื่อคนละแบบกับรุ่นเก่า และเป็นการมองคนรุ่นใหม่แค่มุมมองเดียว ทั้งที่คนรุ่นใหม่ทำงานหนักได้ หากมีเครื่องมือทุ่นแรงและความเห็นอกเห็นใจแก่กัน
วัฒนธรรมองค์กรเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แต่ละองค์กรมีวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นวิธีการทำ Business Transformation จึงแตกต่างกันออกไป เช่น บริษัทที่ทุกคนต่างเอาตัวรอด แย่งกันสร้างผลงาน เพราะกลัวจะตกงาน จะต้องใช้รูปแบบการทำโครงการที่ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกคนได้รับการชื่นชม รู้สึกว่าตนเองมีตัวตน มีบทบาทในองค์กร หลังจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มองค์ความรู้ไปให้พวกเขา
- การพัฒนาคนสำคัญที่สุด?
ในระยะหลังเราต่างได้ยินว่าหลาย ๆ บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งก็คือ People Transformation แต่ในมุมมองของนพเกล้า ระบุว่า การพัฒนาคนเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่จำเป็นต้องพัฒนาส่วนอื่นด้วยเช่นกัน เพื่อให้องค์ประกอบด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วยกัน พร้อมใช้เวลาไปอย่างสมดุลกัน
หลายคนมักเข้าใจว่าการพาพนักงานไปเอาท์ติงจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยสานสัมพันธ์ได้ดียิ่งขึ้น หรือช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่ในความที่เป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะส่วนใหญ่แล้วความสำคัญของคนในองค์กรมักจะจบลงไปพร้อมกับการเอาท์ติง นพเกล้าแนะนำว่าควรหากิจกรรมหรือภารกิจที่สร้างความสำคัญให้พนักงานได้ทำร่วมกัน จนเกิดการสื่อสารข้ามระหว่างแผนก อยู่ในจุดที่พนักงานสบายใจจนพูดคุยกันได้ง่าย โดยมีจุดประสงค์หลัก เพื่อทำงานได้สะดวกขึ้นและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม หากพนักงานต้องเผชิญหน้ากับหัวหน้าที่ชอบใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล พูดจาไม่ดี ทำร้ายจิตใจอยู่เสมอ ส่งผลให้รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีกะจิตกะใจทำงาน อยากลาออก นพเกล้าแนะนำว่า ให้เปลี่ยนวิธีคิด ลองตัดอคติและอารมณ์ออกจากคำพูดเหล่านั้น เพื่อหาวัตถุประสงค์ของการพูดนั้น อาจจะเจอข้อคิด คำแนะนำ หรือความหวังดีที่เจือปนอยู่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของคนอื่นได้ แต่เราเลือกที่จะรับฟัง เพื่อสร้างพลังงานดี ๆ ให้กับตนเอง
ทรานส์ฟอร์เมชัน นอกจากจะทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและยั่งยืนแล้ว ยังจะช่วยให้คนในองค์กรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษในการทำงาน ซึ่งส่งผลให้พนักงานไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ กระทบต่อรายได้ของบริษัท การเติบโตของธุรกิจ
หากองค์กรรู้ว่าจุดไหนมีปัญหา และตระหนักว่าจำเป็นต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร สามารถเริ่มทำทรานส์ฟอร์เมชันได้ทันที จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำและทำต่อไปเรื่อย ๆ ให้ครบทุกด้าน
“เริ่มทรานส์ฟอร์เมชันตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่เคยรอใคร” นพเกล้ากล่าวสรุป