ความเจ็บปวดของ ‘รองแชมป์‘ วิจัยชี้ คนได้ 'ที่ 3' มีความสุขกว่า 'ที่ 2'
วิจัยชี้นักกีฬาที่ได้ตำแหน่ง “รองชนะเลิศ” หรือ “เหรียญเงิน” ไม่มีความสุขในช่วงเวลารับเหรียญรางวัลมากที่สุด น้อยกว่าคนที่ได้ “เหรียญทองแดง” เพราะอันดับ 2 คิดว่าตัวแพ้ แต่คนที่ได้ที่ 3 คิดว่าอย่างน้อยก็ยังได้รางวัล
ในทุกการแข่งขันย่อมมี “ผู้ชนะ” เพียงคนเดียว ผู้เข้าแข่งขันทุกคนล้วนทำให้เต็มที่ที่สุด เพื่อให้ได้เป็นที่หนึ่งของการแข่งขัน และไม่มีใครอยากเป็น “นางรอง” หรือครองตำแหน่ง “รองชนะเลิศ” เพราะไม่มีใครจำได้ บางครั้งก็ไม่ได้ถูกประกาศชื่อ ทำได้แค่เพียงยิ้มให้กับคนที่ชนะเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุว่า คนที่ได้อันดับ 2 เป็นผู้ชนะที่มีความสุขน้อยที่สุด
ทีมวิจัยของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน หรือ LSE ทำการทดสอบระดับความสุขของผู้ชนะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ทั้ง 3 อันดับแรก โดยใช้การตรวจสอบการเคลื่อนไหวของใบหน้านักกีฬาขณะที่พวกเขาอยู่ในพิธีรับรางวัล ตั้งช่วงรอรับรางวัล อยู่บนแท่นรับเหรียญไปจนถึงช่วงที่พวกเขากำลังฟังเพลงชาติของประเทศของตน เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของนักกีฬา เพราะสายตาทุกคู่จะจับจ้องมาที่พวกเขา
ผลการศึกษาพบว่า คนที่ได้เหรียญเงินมีความสุขน้อยกว่าคนที่ได้เหรียญทองและเหรียญทองแดง ถ้าเรียงตามลำดับ คือ คนชนะเลิศมีระดับความสุขที่ 6.65 คะแนน ส่วนคนที่ได้เกรียญเงินคะแนนเฉลี่ยเพียง 5.92 คะแนน ขณะที่เจ้าของเหรียญทองแดงมีความสุขอยู่ที่ 6.06 คะแนน
นักกีฬาที่ได้เหรียญทองและเหรียญทองแดงในการแข่งขัน มักจะ “ยิ้มแฉ่ง” (Duchenne Smile) ด้วยการยกมุมปากและแก้ม ตาหยีเล็กลง หรือมีตีนกาขึ้นรอบดวงตา ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนบนใบหน้า ซึ่งนักจิตวิทยาถือว่าเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์เชิงบวกอย่างแท้จริง มากกว่าคนที่ได้เหรียญเงิน
จอร์จิออส คาเวตซอส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่ LSE ระบุว่าการค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ชนะเลิศจะดูมีความสุขมากเพราะมีผลงานโดดเด่นที่สุด ส่วนคนที่ได้เหรียญทองแดงมีความสุขเพราะรู้สึกโชคดีที่ยังได้ขึ้นมารับเหรียญรางวัลบนโพเดียม ต่างจากคนที่ได้เหรียญเงินที่มัวคิดถึงความผิดพลาดของตนเองในการแข่งขัน จนไม่มีความสุขในการรับรางวัล
อย่างไรก็ตาม คาเวตซอสระบุว่า คนที่ได้เหรียญเงินจะมีความสุขมากกว่าคนที่ได้เหรียญทองแดงก็ต่อเมื่อคะแนนอันดับ 1 ทิ้งห่างอันดับอื่น ๆ และคะแนนอันดับ 2 ใกล้เคียงกับอันดับ 3 ในขณะเดียวกันอันดับ 2 จะมีความสุขน้อยที่สุดเมื่อแพ้การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศไปอย่างเฉียดฉิว เห็นได้จากภาพของนักกีฬาพายเรือทีมชาติสหราชอาณาจักรที่พ่ายให้ทีมชาติเดนมาร์กในรอบชิงชนะเลิศการแข่งขันเรือพาย แสดงความท้อแท้และผิดหวังที่ไม่ได้เหรียญทองอย่างเห็นได้ชัด
- ความคิดที่แตกต่างกัน
การศึกษาของ LSE สอดคล้องกับการศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้ เช่นการศึกษาในปี 1995 ที่ตีพิมพ์ในวารสารบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคม ที่พบว่า คนที่ได้อันดับ 3 บางครั้งก็มีความสุขมากกว่าอันดับที่ 2 ด้วยซ้ำ เพราะคนที่ได้เหรียญเงินเอาแต่เปรียบเทียบตัวเองกับคนชนะ แต่คนที่ได้เหรียญทองแดงจะเอาตัวเองไปเทียบกับคนที่ไม่ได้รับเหรียญรางวัล ซึ่งเป็นกระบวนการคิดเรียกว่า Counterfactual Thinking (แนวคิดที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบสิ่งที่ตัวเองคาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงโดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
การเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่แย่กว่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (Downward Counterfactual Thinking) ทำให้เกิดความรู้สึก “เกือบไปแล้ว” ซึ่งเป็นวิธีคิดของคนที่ได้เหรียญทองแดงเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นกับตัวเอง และมีความสุขในชีวิต
ส่วนการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ดีกว่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (Upward Counterfactual Thinking) ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “ไม่น่าเลย” หรือ “เสียดาย” เช่น ถ้ารู้แบบนี้น่าจะ… ซึ่งเป็นแนวคิดของคนที่ได้เหรียญเงิน จนเกิดความรู้สึกแย่ทำให้จิดใจหดหู่ และกลับมาโทษตัวเอง
บ๊อบ ซัตทอน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า “คนได้เหรียญเงินจะมองว่าตัวเองคือคนแพ้คนแรก ในขณะที่เหรียญทองแดงคิดว่าเป็นคนสุดท้ายที่ชนะ”
- ซึมเศร้าจากการเปรียบเทียบ
เราต่างใช้แนวคิดขัดแย้งกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ผ่านการเปรียบเทียบชีวิตของตนเองกับคนอื่น ทั้งแบบตัวต่อตัวและบนโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ความสามารถ รายได้ ไลฟ์สไตล์ และอื่น ๆ ในแง่หนึ่งการเปรียบเทียบก็ทำให้เราสามารถวางเป้าหมายในชีวิต รู้ความต้องการของตัวเอง อยากเป็นอะไร เพื่อวางแผนในการพัฒนาตนเอง
แต่ในขณะเดียวกัน การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะกับสังคมออนไลน์ที่ผ่าน “ฟิลเตอร์” ให้สวยงามเกินจริง อาจบั่นทอนจิตใจ จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและความสงสัยในตนเองได้เพราะคิดว่าตนเองไม่ดีเท่าคนอื่น ๆ ในโซเชียล
การศึกษาของอังคณา ศิริอำพันธ์กุล เมื่อปี 2564 ระบุว่า การใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในสังคมไทยปัจจุบัน โดยค่าเฉลี่ยระยะเวลาใช้สมาร์ทโฟนของผู้ที่มีอาการซึมเศร้า คือ 68 นาทีต่อวัน ขณะที่คนที่ไม่มีอาการซึมเศร้า ใช้สมาร์ทโฟนเฉลี่ยเพียงวันละ 17 นาทีเท่านั้น
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการเปรียบเทียบในชีวิตในปัจจุบันไปได้บ้าง คือการลดใช้โซเชียลมีเดีย จำกัดเวลาใช้ในแต่ละวัน และมีจุดประสงค์ในการโซเชียลมีเดีย ต้องการทำอะไร เช่น โพสต์ คอมเมนต์ แชร์ไม่ใช่แค่ไถหน้าฟีดไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญควรตั้งสติและคิดให้ดีว่าจำเป็นต้องโพสต์สิ่งเหล่านั้นจริง ๆ หรือไม่เพราะเมื่อโพสต์ขึ้นไปอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว มันจะอยู่ตลอดกาล แม้ว่าคุณจะลบไปแล้วก็ตาม
ที่มา: Insider, Thairath, The Atlantic, The Guardian, The Washington Post