ความสุขก็มีราคา! วิจัยพบ ‘เจน Y’ ใช้เงิน ‘ซื้อความสุข’ ราคาแพงกว่าคนวัยอื่น
ผลสำรวจเผย เงินสามารถซื้อความสุขได้ โดยคนกลุ่ม “เจน Y” หรือ “มิลเลนเนียล” ใช้เงินซื้อความสุขทุกวัน แถมแพงกว่าคนวัยอื่น โดยอยากได้เงินเดือนเยอะกว่าวัยอื่นเกินเท่าตัว เพื่อซื้อความสุข
หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้” แต่ผลสำรวจล่าสุดของบริษัททางการเงินในสหรัฐชี้ชัดว่า ความสุขของชาวอเมริกันสามารถซื้อได้ด้วยเงิน ซึ่งคนแต่ละเจเนอเรชันต้องการเงินเพื่อสร้างความสุขในจำนวนที่ต่างกัน โดยชาว “เจน Y” ใช้เงินมากกว่าคนรุ่นอื่น แถม “ใช้เงินซื้อความสุขทุกวัน”
จากการศึกษาของบริษัททางการเงิน Empower ที่สำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมากกว่า 2,000 คน พบว่า ชาวอเมริกันเกือบ 60% เชื่อว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้ และรายได้โดยเฉลี่ยที่จะทำให้พวกเขามีความสุขได้จะต้องมากกว่า 284,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 10 ล้านบาท จึงจะมีความสุขได้ แต่ในปัจจุบันรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 74,580 ดอลลาร์ (2.6 ล้านบาท)
หากแยกดูรายได้ที่แต่ละเจนต้องการจะพบว่า ราคาความสุขของคนแต่ละรุ่นแตกต่างกันออกไป โดยชาว “เจน Y” ผู้ที่เกิดช่วงปี 1981-1996 ต้องการรายได้ต่อปีสูงถึง 525,947 ดอลลาร์ (18.5 ล้านบาท) ถึงจะ “รู้สึกมีความสุข” ซึ่งสูงกว่าคนในเจนอื่นหลายเท่าตัว
สำหรับชาว “เจน X” ที่เกิดระหว่างปี 1965-1980 และ คนรุ่นใหม่อย่างชาว “เจน Z” ซึ่งเกิดในช่วง 1997-2012 ระบุว่ามีเงินปีละประมาณ 130,000 ดอลลาร์ (4.58 ล้าน) ก็เพียงพอแล้ว ส่วนคนรุ่น “เบบี้บูมเมอร์” หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1946-1964 ระบุว่าพวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย ๆ ด้วยเงินเพียง 124,165 ดอลลาร์ต่อปี (4.38 ล้านบาท)
หากมีเงินเพิ่มจะช่วยเพิ่มความสุขได้อีก ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 42% ของชาวอเมริกันระบุว่าถ้ามีเงินเพิ่มขึ้น 25,000 ดอลลาร์ จะเพิ่มความสุขทางการเงินได้เป็นเวลาหกเดือน อีก 33% ระบุว่าเกิดความสุขทางการเงินเพิ่มขึ้นหากมีเงินเพิ่มอีก 15,000 ดอลลาร์ ในขณะที่ 17% สามารถมีความสุขมากขึ้นด้วยเงินเพียง 5,000 ดอลลาร์
- ยิ่งมีเงินมาก ความสุขยิ่งมาก
นอกจากนี้ ชาวเจน Y ยังหวังจะมี “ความมั่งคั่งสุทธิ” (Net Worth) ซึ่งเป็นสินทรัพย์รวมของบุคคลที่ 1.7 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 60 ล้านบาท) แต่ในความเป็นจริงแล้วความมั่งคั่งสุทธิโดยเฉลี่ยของคนวัย 30 ปีอยู่ที่ 275,413 ดอลลาร์เท่านั้น (9.7 ล้านบาท)
Empower อธิบายถึงสาเหตุที่คนรุ่นเจน Y ต้องการความมั่งคั่งสุทธิมากกว่าคนอื่น ๆ เป็นเพราะพวกเขาเติบโตมากับวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ หรือที่รู้จักในนาม “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” เมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่คนยุคต้นของเจนพึ่งเริ่มเข้าทำงาน ส่วนคนท้าย ๆ เจนต่างรับรู้ว่าพ่อแม่ของพวกเขาต้องดิ้นรนทางการเงินมากขนาดไหน พวกเขาจึงหวังที่จะได้เงินก้อนเพื่อไม่ต้องมีเผชิญกับปัญหาเดียวกันกับพ่อแม่
อันที่จริงคนเจน Y เองก็เผชิญกับความล้มเหลวทางการเงินครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นหนี้เงินกู้ทางการศึกษาที่สูงกว่าคนรุ่นก่อน เงินประกันสังคมที่แทบไม่มีจ่าย ไหนจะต้องเก็บเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณ ปัญหานี้ได้ลากยาวมาจนถึงยุคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดความผันผวน จนทำให้ในปัจจุบันมีอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้มีอัตราการจำนองที่สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
เช่นเดียวกับชาวเจน X ผู้ประสบภัยหลักในวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ต้องการความมั่งคั่งสุทธิ 1.2 ล้านดอลลาร์ถึงจะสามารถซื้อความสุขได้ ส่วนเหล่าเบบี้บูมเมอร์พอใจกับความมั่งคั่งที่ 999,945 ดอลลาร์ (ราว 35 ล้านบาท) ขณะที่ชาวเจน Z ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับเงินน้อยที่สุด เพราะพวกเขาต้องการความมั่งคั่งสุทธิที่ 487,711 ดอลลาร์ (17.2 ล้านบาท) ก็สามารถสร้างความสุขให้ตนเองได้แล้ว
นอกจากนี้ รายได้ในอุดมคติระหว่างเพศยังมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง Empower ระบุว่า ผู้ชายจะพึงพอใจระดับสินทรัพย์ของตนเองที่ 1.5 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 53 ล้านบาท) ส่วนผู้หญิงจะพึงพอใจในสินทรัพย์ในมูลค่าที่ 880,950 ดอลลาร์ (31 ล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าผู้ชายเกือบครึ่งหนึ่ง
โดยรวมแล้วความสุขทางการเงินของผู้ตอบแบบสอบถามเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพียงแค่จ่ายบิลตรงเวลาและเคลียร์หนี้ได้ทั้งหมด และไม่มีหนี้สิน
- เจน Y ใช้เงินซื้อความสุขให้ตัวเองทุกวัน
ชาวเจน Y มีความฟุ้งเฟ้อมากกว่าคนเจนอื่น ๆ โดยแสดงออกผ่านทางพฤติกรรมทางการเงินของพวกเขาที่ให้ความสำคัญกับความเพลิดเพลินด้วยการจับจ่ายของฟุ่มเฟือยเล็ก ๆ น้อย ๆ ใน “ทุกวัน” โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาทางการเงิน เช่น กาแฟหรือชานมไข่มุกแก้วละร้อย เครื่องประดับ เสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่ง 62% ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มเจน Y ยอมรับว่าซื้อของจุกจิกทุกวันเพื่อให้มีความสุข
ยิ่งไปกว่านั้น 96% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออะไรก็ตามสามารถเพิ่มความรักตัวเองมากขึ้น ส่วน 88% ระบุว่า ความสุขเกิดขึ้นจากการใช้เงินซื้อประสบการณ์
ขณะที่ราว 45% ชี้ว่าการซื้อบ้านถือเป็นการสร้างความสุขทางการเงินพอ ๆ กับการมีสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน แต่ในความเป็นจริงตอนนี้ชาวเจน Y ส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อบ้านหลังแรกเป็นของตนเองได้ เนื่องด้วยดอกเบี้ยและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
“คนเจน Y เป็นเจ้าของบ้านน้อยกว่าคนรุ่นก่อน ๆ ทั้งที่อสังหาริมทรัพย์เป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งได้มากที่สุด” โฆษกของ Empower กล่าวกับสำนักข่าว Fortune
- เงินเฟ้อทำลายความสุข
Empower รายงานว่า “อัตราเงินเฟ้อ” เป็นการสำคัญที่ทำให้คนอเมริกันไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินของตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากราคาสินค้าทุกประเภทเพิ่มขึ้น 18.2% นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2020
ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) หรือ CPI ของสหรัฐ ในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ผู้บริโภคยังคงได้รับผลกระทบจากสินค้าในชีวิตประจำวันที่แพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟขายอยู่ปอนด์ละ 6.18 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 4.52 ดอลลาร์ในเดือนต.ค. 2020 ส่วนราคาไข่เกรด A หนึ่งโหลก็เพิ่มขึ้น 47% ในช่วงสามปีที่ผ่านมาจาก 1.41 ดอลลาร์ เป็น 2.07 ดอลลาร์
ขณะที่ราคาเนื้อบด เบคอน เนื้อสันนอก และไก่ เพิ่มขึ้นมากกว่า 22% ส่วนสินค้าหลักอื่น ๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 33% เช่น ขนมปังขาวขึ้นราคาเฉลี่ยแพ็คละ 50 เซนต์ เป็น 2 ดอลลาร์ มันฝรั่งทอดและคุกกี้ช็อกโกแลตชิป ราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ดอลลาร์ เช่นกัน
- วิจัยชี้ชัด “เงิน” สัมพันธ์กับ “ความสุข”
เป็นที่ถกเถียงกันมานานว่า “เงินสามารถซื้อความสุข” ได้หรือไม่ ซึ่งหากดูจากรายงานประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก (World Happiness Index) ฉบับปี 2023 พบว่า 10 อันดับประเทศที่มีความสุขมากที่สุดล้วนเป็นประเทศที่ “ร่ำรวย” ทั้งสิ้น ขณะที่กลุ่มประเทศที่ “ยากจน” ทั้งกลับถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุด ล้วนเป็นกลุ่มประเทศในแอฟริกา และตะวันออกกลางที่กำลังเผชิญสงคราม
สอดคล้องกับงานวิจัยของ แดเนียล ดับเบิลยู แซคส์ เบ็ตซี สตีเวนสัน และ จัสติน วูล์ฟเฟอร์ แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่อาศัยในประเทศยากจนจนมีความพึงพอใจในชีวิตลดลง ความอยู่ดีมีสุขเชิงอัตวิสัยลดลง และระดับอารมณ์เชิงบวกลดต่ำลง
นอกจากนี้ งานวิจัยจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าคนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่มีรายได้สูง การศึกษาของแดเนียล คาห์เนแมน และ แองกัส ดีตัน ซึ่งนิยมใช้อ้างอิง พบว่า ความสุขเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเริ่มนิ่งเมื่อมีรายได้อยู่ที่ 75,000 ดอลลาร์
ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2022 ของคาห์เนแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ระบุว่าความสุขอาจเพิ่มขึ้นอีกเมื่อมีรายได้สูงถึง 500,000 ดอลลาร์
ที่มา: CBS News, Fortune, New York Post, The Hill