ผลสำรวจชี้ 'คนไทย' มองเงินซื้อความสุขได้ หากมีรายได้ปีละ 1.3 ล้านบาท
หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้” แต่ผลสำรวจโดยมหาวิทยาลัยสหรัฐชี้ว่า “ความสุข” กับ “รายได้” สัมพันธ์กัน ขณะที่ “คนไทย” มองว่าต้องมีรายได้ปีละ 1.3 ล้านบาท ถึงจะมีความสุขตลอดทั้งปี
ผลสำรวจโดยมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ในรัฐอินดีแอนาของสหรัฐ ร่วมกับ S Money ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับจำนวนเงินสูงสุดต่อปีที่พลเมืองใน 173 ประเทศต้องการเพื่อมีความสุข พบว่า อิหร่าน เป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อหาความสุขมากที่สุดในโลก อยู่ที่ราวปีละ 239,700 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8.62 ล้านบาท รองลงมาเป็น เยเมน (172,140 ดอลลาร์/ปี) ตามมาด้วย ออสเตรเลีย (121,191 ดอลลาร์/ปี)
ด้าน สหรัฐ อยู่ในอันดับ 10 ของโลก มีค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขอยู่ที่ปีละ 105,000 ดอลลาร์ (ราว 3.78 ล้านบาท)
ส่วนประเทศที่มีต้นทุนในการหาความสุขน้อยที่สุดในโลก คือ เซียร์ราลีโอนในแอฟริกา อยู่ที่ปีละ 8,658 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3.11 แสนบาท น้อยที่สุดรองลงมาคือ ซูรินามในอเมริกาใต้ อยู่ที่ปีละ 10,255 ดอลลาร์ และมาดากัสการ์ (11,355 ดอลลาร์/ปี)
- “ไทย” มีค่าความสุข 1.3 ล้านบาท/ปี สูงสุดอันดับ 5 อาเซียน
ส่วน ไทย มีต้นทุนในการหาความสุขอยู่ที่ปีละ 36,745 ดอลลาร์ หรือราว 1.32 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อยู่ที่ 75,320 ดอลลาร์/ปี บรูไน (51,508 ดอลลาร์/ปี) มาเลเซีย (38,749 ดอลลาร์/ปี) และฟิลิปปินส์ (37,862 ดอลลาร์/ปี)
ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น มีค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขอยู่ที่ปีละ 73,994 ดอลลาร์ ตามมาด้วยเกาหลีใต้ (63,966 ดอลลาร์/ปี) จีน (62,461 ดอลลาร์/ปี) และอินเดีย (20,048 ดอลลาร์/ปี)
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวคำนวณต้นทุนความสุขโดยให้คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเพอร์ดูทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับรายได้ เพื่อหาราคาความสุขในทุกประเทศ และบันทึกจุดความอิ่มอกอิ่มใจ (satiation point) สำหรับการประเมินค่าชีวิต (Life Evaluation) ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในแต่ละภูมิภาคของโลก
กล่าวง่าย ๆ คือสำรวจว่า คนในแต่ละประเทศมองว่า ต้องมีรายได้อย่างน้อยกี่ดอลลาร์ต่อปี ชีวิตถึงจะมีความสุขในระดับที่ตัวเองพึงพอใจได้
- “เงิน” ทำให้มีความสุขได้หรือไม่
ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า ความสุขนั้นไม่ได้เกี่ยวกับจำนวนเงินที่ได้มา แต่เกี่ยวกับวิธีการใช้จ่ายที่นำไปสู่ความสุขของแต่ละคน
บรรดานักวิจัยระบุว่า การจ่ายเงินซื้อประสบการณ์ด้านต่าง ๆ และซื้อสินค้าวัตถุน้อยลงจะทำให้มีความสุขมากขึ้น เช่นเดียวกับการใส่ใจกับความสุขของคนอื่นอย่างใกล้ชิด
“เงินซื้อความสุขให้เราไม่ได้ แต่เป็นเครื่องมือที่สามารถทำให้เรารู้สึกมั่นคงและปลอดภัย และรู้สึกว่าควบคุมชีวิตของเราได้” มาร์ค ชูลซ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยการพัฒนาผู้ใหญ่ของฮาร์วาร์ด กล่าว
“สุดท้ายแล้ว ชีวิตนั้นเกี่ยวกับคอนเน็กชันของเรากับคนอื่น ๆ และความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบตัวที่ทำให้เรามีความสุข”