ทำไมให้ 'ของขวัญ' แล้วรู้สึกดี? วิจัยชี้ สมองหลั่งสารแห่งความสุขและไว้ใจ
ไม่ใช่แค่ผู้รับที่มีความสุข วิจัยเผย การให้ "ของขวัญ" แก่ผู้อื่นทำให้คนเรามีความสุขมากกว่าเป็นผู้รับเสียอีก เพราะสมองถูกกระตุ้นให้เกิดความสุข ความไว้ใจ และความอบอุ่นใจอย่างแท้จริง
เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ 2024 ใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่มักมาคู่กันเสมอก็คือการมอบ “ของขวัญ” ให้แก่กันและกัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความระลึกถึง แสดงถึงน้ำใจไมตรี ความเอื้ออาทรห่วงใย สร้างมิตรภาพ และเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม
หลายคนย่อมมีความรู้สึกดีใจและมีความสุขทุกครั้งที่ได้รับของขวัญในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ แต่รู้หรือไม่? ในทางวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า “ผู้ให้ของขวัญ” จะมีความสุขมากกว่าการเป็น “ผู้รับของขวัญ” เสียอีก ..ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
- การให้ "ของขวัญ" แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ใกล้ชิด จะไปกระตุ้นสมองให้หลั่งสารแห่งความสุข
ดร.เอมิเลียนา ไซมอน-โทมัส นักประสาทวิทยาและจิตวิทยาเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ และเป็นผู้อำนวยการที่ศูนย์วิจัย Greater Good Science Center แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ให้คำตอบเรื่องนี้ไว้ว่า การให้ของขวัญแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมอบให้คนที่เราใกล้ชิด พฤติกรรมนี้จะไปกระตุ้นสมองให้หลั่งสารแห่งความสุขออกมา
เธอบอกอีกว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การใช้จ่ายเงินเพื่อคนอื่นสามารถช่วยเพิ่มความสุขให้แก่ปัจเจกบุคคลได้ นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อเราประพฤติตนอย่างไม่เห็นแก่ตัว ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินเพื่อการกุศล หรือการให้สิ่งของที่คนรับต้องการจริงๆ เช่น การมอบของขวัญให้คนที่คุณใกล้ชิดในวันเทศกาลต่างๆ ซึ่งเป็นของที่พวกเขาอยากได้นั้น มันจะไปกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลทางสังคมและความรู้สึกพึงพอใจและมีความสุข
ยกตัวอย่างการศึกษาชิ้นหนึ่งของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซูริกในสวิตเซอร์แลนด์ ที่ค้นพบว่า ผู้ให้ของขวัญแก่ผู้อื่นมีระดับคลื่นสมองที่สื่อถึงความสุขมากกว่าการเป็นผู้รับของขวัญ โดยนักวิจัยได้ทดสอบโดยการแบ่งผู้เข้าร่วมทดสอบเป็น 2 กลุ่ม โดยทั้งสองกลุ่มจะต้องนำเงิน 100 ดอลลาร์ไปใช้จ่าย โดยกลุ่มที่หนึ่งให้นำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อตัวเอง ส่วนกลุ่มที่สองให้ใช้จ่ายกับคนอื่น โดยให้เวลาการใช้เงินประมาณ 4 สัปดาห์
หลังจากเวลาผ่านไปครบกำหนด ทีมวิจัยให้ผู้เข้าร่วมทดสอบทั้งสองกลุ่มเข้ามาทำการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กเชิงฟังก์ชัน (fMRI) เพื่อวัดคลื่นสมองที่เกี่ยวข้องกับความมีน้ำใจและความสุขระหว่างการแบ่งปันทางสังคม ทั้งนี้ ผลการทดลองพบว่า “กลุ่มผู้ที่ใช้เงินเพื่อผู้อื่น” มีปฏิสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อและยุติธรรมกับผู้คนในสังคมมากกว่าอีกกลุ่ม และมีรายงานด้วยว่า พวกเขามีความสุขในระดับที่สูงขึ้นมากกว่าอีกกลุ่มหลังจากการทดลองสิ้นสุดลง
- ความสุขของ "การเป็นผู้ให้" เกิดจากฮอร์โมนออกซิโตซิน ทำให้รู้สึกทั้งสุขใจ-ไว้วางใจ-ปลอดภัย ไปพร้อมกัน
ดร.เอมิเลียนา อธิบายเพิ่มเติมว่า ระดับความสุขที่ได้จากการเป็นผู้ให้นั้น บ่อยครั้งที่ผู้คนเรียกมันว่า “แสงอันอบอุ่นในใจ” ซึ่งมันเป็นความรู้สึกยินดีและเป็นความสุขที่แท้จริงในการทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อผู้อื่น
มากไปกว่านั้น การให้ของขวัญหรือการให้บางสิ่งแก่ผู้อื่นยังมีความพิเศษอีกอย่าง นั่นคือ มันเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคม ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้จะไปกระตุ้นให้สมองปล่อยฮอร์โมน “ออกซิโตซิน” หรือฮอร์โมนแห่งความรักออกมา ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้สร้างจากต่อมใต้สมอง ทำให้เราเกิดความรู้สึกไว้วางใจ รู้สึกปลอดภัย และเกิดความผูกพันกับผู้อื่นได้พอๆ กับการกอด การสัมผัสมือ หรือการมีเซ็กส์กับคู่รัก เป็นต้น
ความสุขที่เกิดจากฮอร์โมนออกซิโตซินนั้น (รักในแบบมีความไว้วางใจและความผูกพัน) จะมีความยั่งยืนยาวนานมากกว่าความสุขที่เกิดจากการตอบสนองของฮอร์โมนโดปามีนที่มักจะเป็นความสุขแบบช่วงสั้นๆ โดยนักวิจัยค้นพบว่า ขั้นตอนตั้งแต่การเลือกซื้อของขวัญ การห่อของขวัญ และการมอบของขวัญให้ผู้อื่น ล้วนทำให้เกิดความสุขและอบอุ่นใจแบบยั่งยืนทั้งสิ้น
- การให้ "ของขวัญ" ไม่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกเครียดและกังวล และไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของเสมอไป
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งการให้ของขวัญแก่ผู้อื่นก็อาจสร้างความเครียดและความวิตกกังวลสำหรับบางคนได้ ประเด็นนี้ "ดร.สก็อตต์ ริก" รองศาสตราจารย์ด้านการตลาดของมหาวิทยาลัย Ross School of Business ในรัฐมิชิแกน อธิบายไว้ว่า เมื่อผู้ให้บางคนอาจไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อของขวัญราคาแพงได้ จนอาจนำมาซึ่งประสบการณ์ทางอารมณ์ที่เรียกว่า “ความเจ็บปวดจากการจ่ายเงิน”
อีกทั้งมีหลายๆ กรณีที่ผู้ให้ของขวัญเกิดความรู้สึกกังวลว่า ผู้รับจะชอบของขวัญชิ้นนั้นหรือไม่, ของขวัญนั้นจะดูเหมาะสมกับฐานะของผู้รับหรือไม่, เมื่อให้ไปแล้วตนเองจะได้รับของขวัญตอบแทนกลับมาหรือไม่ เป็นต้น จนกลายเป็นความอึดอัดใจแทนที่จะมีความสุขใจ
แต่ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิด กล่าวคือ การให้ของขวัญแก่ผู้อื่นนั้นควรเริ่มต้นจากเจตนาบริสุทธิ์ว่า เราแค่อยากจะให้เขาโดยไม่หวังผลตอบแทน และไม่จำเป็นว่าต้องให้ของขวัญที่เป็นสิ่งของเท่านั้น แต่อาจจะเป็นการพาคนพิเศษ เพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัวออกไปกินอาหารอร่อยๆ หรือทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกันโดยที่ไม่ต้องจ่ายแพงๆ เสมอไป หรือบริจาคสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ที่ต้องการมันจริงๆ หรือเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ฯลฯ ก็ย่อมทำให้ได้รับความสุขใจมากกว่าความกังวลใจ
“ของขวัญที่ดีเกี่ยวข้องกับการเสียสละเงิน หรือเสียสละเวลา หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นของแพง แต่อาจเป็นการสละเวลาเพื่อใช้เวลาร่วมกัน มันแสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจและรู้จักบุคคลนั้นจริงๆ และสามารถทำให้พวกเขาประหลาดใจได้” ดร.สก็อตต์ กล่าว