เช็กสัญญาณเตือน ‘การทำร้ายจิตใจ’ ภัยร้ายที่คาดไม่ถึง

เช็กสัญญาณเตือน ‘การทำร้ายจิตใจ’ ภัยร้ายที่คาดไม่ถึง

“การทำร้ายจิตใจ” (Emotional Abuse หรือ Psychological Abuse) เกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ เป้าหมายคือต้องการ “ควบคุม” ผู้อื่น และแสดงว่าตนเองมี “อำนาจ” เหนือกว่า เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ควรหนีออกมาให้เร็วที่สุดก่อนที่จะเกิดบาดแผลในจิตใจ

การทำร้ายจิตใจ” (Emotional Abuse หรือ Psychological Abuse) หนึ่งในรูปแบบความรุนแรงที่สังคมอาจมองข้าม ขณะที่ส่วนใหญ่อาจนึกถึง “ความรุนแรงในครอบครัว” เป็นประเด็นใหญ่มากกว่า นั่นเพราะการทำร้ายร่างกายมีบาดแผลที่มองเห็นได้ด้วยตา แต่การทำร้ายจิตใจ ไม่มีบาดแผลให้เห็น แต่ส่งผลอันตรายไม่แพ้กัน แถมยังอาจมากกว่าด้วยซ้ำ เมื่อบาดแผลนั้นฝังลึก และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการทายา 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิด “บาดแผลทางจิตใจ” สามารถเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบทั้งที่โรงเรียน ที่ทำงาน ไม่ใช่เพียงแต่ในครอบครัว

 

  • ทำร้ายจิตใจ ไม่เห็นแผล ไม่ใช่ไม่มี 

การทำร้ายจิตใจ หรือ การล่วงละเมิดทางอารมณ์ เป็นการพยายามควบคุมบุคคลอื่นโดยใช้อารมณ์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้อับอาย กล่าวโทษ หรือบงการผู้อื่น รวมถึงใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม มีการกลั่นแกล้ง แสดงพฤติกรรมไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการล่วงละเมิดอย่างหนึ่ง โดยการทำร้ายทางจิตใจพบบ่อยที่สุดในความสัมพันธ์ของ “คู่รัก” ทั้งช่วงคบหาดูใจกันหรือแต่งงานกันไปแล้ว 

อย่างไรก็ตามพฤติกรรมเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นจากคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน

โดยทั่วไปการทำร้ายจิตใจผู้อื่น เกิดขึ้นเพราะต้องการควบคุมผู้อื่น แสดงว่าตนเองมี “อำนาจ” เหนือกว่า ด้วยการทำให้อีกฝ่ายเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกโดดเดี่ยว และปิดปากพวกเขา ถือเป็นการละเมิดรูปแบบหนึ่งที่ยากที่สุดที่จะรับรู้ได้ เนื่องจากต้องมีการกระทำอย่างต่อเนื่อง ใช้ระยะเวลานาน และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เหยื่อส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง 

ดร. จันทนี ทักไนต์ นักจิตอายุรเวทกล่าวว่า “การทำร้ายจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและตรวจพบได้ยาก อันตรายไม่ต่างจากการล่วงละเมิดรูปแบบอื่น ๆ โดยการทำร้ายจิตใจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการดูถูกเหยียดหยาม การข่มขู่ การโยนความผิด ด้อยค่า ปั่นหัว การชักจูงทางจิตวิทยา ควบคุมพฤติกรรมเหยื่อ ไม่ให้ไปเจอเพื่อนหรือครอบครัว”

ไม่ว่าจะถูกทำร้ายจิตใจด้วยวิธีใด แต่สุดท้ายจะลงเอยด้วยการเกิด “แผลในใจ” ของผู้ถูกกระทำ ทำลายความภาคภูมิใจในตนเอง สงสัยในตนเอง ด้อยค่าตัวเอง สุขภาพจิตเสียจนเกิด ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า โรคความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD)

แม้ภายหลังเหยื่อจะรู้สึกว่ากำลังติดอยู่ในกับดักที่อีกฝ่ายสร้างไว้ และรู้ตัวว่าไม่สามารถทนต่อกับความสัมพันธ์ท็อกซิกแบบนี้ได้อีกต่อไป แต่พวกเขาก็กลัวเกินกว่าที่จะเดินออกมาได้ สุดท้าย “วงจรอุบาทว์” ในความสัมพันธ์นี้ก็เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา

ดร.ทักไนต์ กล่าวอีกว่าการทำร้ายจิตใจไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม “นี่เป็นปัญหาร้ายแรงที่อาจส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของบุคคล และอาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกายได้อีกด้วย เพื่อต้องการแสดงอำนาจและพิสูจน์ว่าเขาทำอะไรก็ได้”

  • สัญญาณของการทำร้ายจิตใจ

เนื่องด้วยการทำร้ายจิตใจ มีกระบวนการใช้เวลานานและต่อเนื่อง ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบนี้ แต่ลองสังเกตสัญญาณอันตรายได้บ้าง และอย่ามองว่าในสถานะที่อยู่เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้แย่ขนาดนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปรกติ และพยายามลดพฤติกรรมของอีกฝ่ายให้กระทบใจน้อยที่สุด ทุกคนสมควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและให้เกียรติกัน โดยสัญญาณของการล่วงละเมิดทางอารมณ์ในความสัมพันธ์มีดังนี้

1. ทำให้อับอายและวิจารณ์ พฤติกรรมเหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การใช้คำดูถูก ด่าทอ พูดเรื่องไม่ดีต่อหน้าบุคคลอื่น นำข้อด้อยมาพูดเสมอ เย้าะเย้ย ถากถาง ซึ่งบางครั้งก็ลงท้ายด้วยว่า “ล้อเล่น” เพื่อให้เหยื่อรู้สึกสบายและไม่คิดมาก 

2. ตัดขาดจากเพื่อนและครอบครัว เป็นแยกตัวเหยื่อออกจากครอบครัว เพื่อนฝูงและคนรอบตัว ไม่ให้พบเจอ พูดคุย ใช้เวลากับคนที่คุ้นเคย โดยมักจะบอกว่าคนเหล่านั้นไม่รักไม่สนใจเหยื่อ มีแต่เขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เห็นคุณค่า ขณะเดียวกันก็ไปบอกคนรอบตัวเหยื่อว่าเหยื่อไม่ต้องการพบเจอพวกเขา

3. ควบคุมชีวิต ผู้ที่ทำร้ายจิตใจคนอื่นจะพยายามควบคุมชีวิตเหยื่อในทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันเช่น บังคับให้ใส่เสื้อผ้าที่เลือก เช็กสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียของเหยื่อตลอดเวลา ไปจนถึงการควบคุมการใช้เงิน และไม่อนุญาตให้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต รวมถึงบงการชีวิต เหยื่อไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจตนเอง ต้องทำตามที่สั่งเท่านั้น

4. ด้อยค่าและป้ายความผิด จนเหยื่อรู้สึกละอายใจกับความบกพร่องของตัวเอง ด้วยการแกล้ง “รับบทเหยื่อ” และโยนความผิดให้กับเหยื่อ ให้เหยื่อเป็นผู้กระทำ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นผู้ถูกกระทำ รวมถึงตอกย้ำความผิดของเหยื่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ เพื่อให้รู้สึกว่าเหยื่อมีแต่ความล้มเหลวในชีวิต และอยู่ “ต่ำ” กว่าเขามาก

5. เพิกเฉย ไม่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จของเหยื่อ ไม่สนับสนุนในสิ่งที่ทำได้ดี ใช้ความเงียบเข้าสู้ ในบางครั้งเมื่อเหยื่อทำอะไรไม่ถูกใจจะใช้ความเงียบเข้าข่ม คาดหวังให้เหยื่อเข้ามาเป็นฝ่ายขอโทษก่อน โดยไม่บอกว่าทำอะไรผิด

6. ข่มขู่และคุกคามด้วยคำพูด ทั้งการพูดไม่ดี ตะโกนใส่ ระเบิดอารมณ์ออกมาแบบคาดเดาไม่ได้ รวมถึงขู่ทำร้ายร่างกายตัวเอง เหยื่อ ผู้อื่น หรือขู่ว่าจะเลิก เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัวและยอมทำตาม อยู่ในโอวาท

7. แก๊สไลท์ติง (Gaslighting) ชักจูงเหยื่อให้สงสัยในตนเอง ตั้งคำถามกับความรู้สึกและประสบการณ์ของตน ว่าพวกเขาดีจริงหรือเปล่า จนรู้สึกว่าทำผิดจริง เพราะเชื่อในคำพูดคนเหล่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วเขาใช้คำพูดเหล่านั้นปลูกฝังความรู้สึกผิดและความไม่เชื่อมั่นในตัวเองแก่เหยื่อ

8. การละเลยทางอารมณ์ ไม่ให้ความสำคัญกับความต้องการของเหยื่อ เอาแต่ความสำคัญของตนเองเป็นหลัก ตลอดจนไม่ซัพพอร์ตเหยื่อเมื่อประสบปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือ ไม่แม้แต่จะสัมผัสร่างกาย ไม่เข้าใกล้หากทำอะไรไม่ถูกใจ

“หากคุณพบสัญญาณใด ๆ เหล่านี้ สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าสถานการณ์นั้นไม่ดีต่อสุขภาพและทำร้ายจิตใจ สิ่งสำคัญคือต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ครอบครัว และผู้เชี่ยวชาญ โปรดจำไว้ว่าทุกคนสมควรได้รับความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความรัก การสนับสนุน และความเคารพ" ดร.ทักไนต์ กล่าวสรุป


ที่มา: HealthlineHindustan TimesVerywell Mind