เปิดภาพ ครอบครัว นกเงือก บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
สวยงาม! เปิดภาพ ครอบครัว "นกเงือก" พ่อ แม่ ลูก บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เผยตัวเมียกกไข่นาน 1 เดือน เมื่อลูกนกฟักเป็นตัว นกตัวผู้ต้อง ออกหาอาหารมากถึงวันละ 10 เที่ยว ในระยะทาง 10 กิโลเมตร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา
นายสราวุธ พะลายะสุต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา บันทึกภาพ นกเงือก (นกกก) Buceros bicornis ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ทำการเขตฯ 3 ตัว พ่อ แม่ ลูก เราเลยพามารู้จักนกเงือกกันอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับ "นกกก" จัดเป็นนกเงือกชนิดที่ใหญ่ที่สุด มีความยาวลำตัวประมาณ 120-140 เซนติเมตร สีสันตามร่างกายจะมีสีดำสลับขาว โดยบริเวณใบหน้าเป็นสีดำ คอและท้องสีขาว ปีสีดำมีแถบสีเหลืองขนาดกว้าง ขอบปีกด้านท้ายสีขาว หางสีขาวมีลายอถบสีดำพาด ปากสีเหลือง โหนกแข็งขนาดใหญ่สีออกเหลือง
ฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนธันวาคม-มิถุนายน ทำรังตามโพรง ซึ่งเป็นโพรงที่เกิดตามธรรมชาติหรือโพรงของสัตว์อื่นๆ ที่ทำทิ้งไว้ ระยะเวลาที่ตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงเพื่อฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนกินเวลานาน 2.5 - 3 เดือน ในระยะนี้นกกกตัวผู้จะเอาใจตัวเมียเป็นพิเศษด้วยการบินออกอาหารมาป้อนตัวเมียอยู่สม่ำเสมอ
ขณะที่ตัวเมียเมื่อเข้าไปในโพรงแล้วจะปิดปากโพรงเหลือเพียงช่องพอให้ปากของตัวผู้ส่งอาหารมาได้เท่านั้น
นกกกตัวเมียใช้เวลากกไข่นานประมาณ 1 เดือน อาจวางไข่ได้ 2 ฟอง แต่ลูกนกตัวที่อ่อนแอกว่าอาจตายไปซึ่งเป็นวิถีตามธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่
เมื่อลูกนกฟักเป็นตัว นกตัวผู้ต้องออกหาอาหารมากยิ่งขึ้น อาจมากถึงวันละ 10 เที่ยว ในระยะทางอาจไกลได้ถึง 10 กิโลเมตร ขณะที่นกตัวเมียจะเป็นฝ่ายสอนลูกนกปิดปากโพรงเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสอนที่จะตกทอดต่อไปเรื่อย ๆ จากรุ่นสู่รุ่น
เมื่อลูกนกโตพอที่จะบินเองได้แล้ว เนื้อที่ในโพรงเริ่มคับแคบ นกกกตัวเมียจะเป็นฝ่ายพังโพรงรังบินออกมาก่อน ขณะที่ลูกนกจะฝึกซ้อมบินด้วยการกระพือปีกในโพรงและปิดปากโพรงตามที่แม่นกสอน
เมื่อลูกนกพร้อมที่จะบินเองแล้ว พ่อแม่นกจะรอให้ลูกนกพังโพรงและบินออกมาเองด้วยการล่อด้วยอาหาร และส่งเสียงร้อง เมื่อลูกนกหิวจะกล้าบินออกมาเอง ในระยะแรกพ่อแม่นกจะยังคอยดูแลลูกไปอีกประมาณ 4 สัปดาห์ จนกว่าจะโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระนอง เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เพราะมีปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ประกอบกับระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่มีความเข้มข้น ทั้งนี้เพื่อดูแล ปกป้อง รักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืนสืบต่อไป
ที่มา-ภาพ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช